พร้อมส่งสัญญาณหั่นเป้าจีดีพีปี 64 : กนง.มีมติเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี ส่งสัญญาณหั่นเป้าจีดีพีปี 64 ลงจากเดิมคาดโต 3.2% หลังโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ กระทบเศรษฐกิจ ประเมินเงินเฟ้อจะกลับมาสู่กรอบเป้าหมายช่วงกลางปี
- จับตาค่าเงินบาทใกล้ชิด พร้อมออกมาตรการเหมาะสมดูแล
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
ทั้งนี้ คณะกรรมการประเมินว่า แม้ว่าในระยะสั้น เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ แต่แรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐ และการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 3.2%
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำ และความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า จึงจำเป็นต้องการแรงสนับสนุนจากด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการจึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน ที่มีขีดจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“คณะกรรมการประเมินว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยต่อการระบาดระลอกใหม่ ของโควิด-19 ไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดระลอกแรก จากการควบคุมการระบาดที่ไม่เข้มงวดเท่าครั้งก่อน นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐที่ออกมาได้เร็วและตรงจุด และการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ แต่ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 3.2%”นายทิตนันทิ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยในระยะสั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19ระลอกใหม่ ขณะที่ในระยะถัดไปขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 แรงสนับสนุนจากภาครัฐที่เพียงพอและต่อเนื่อง และตลาดแรงงานที่เปราะบางมากขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะสั้น
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมากขึ้น จะส่งผลต่อความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพแต่มีความเปราะบางมากขึ้นในบางจุด จากผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและธุรกิจเอสเอ็มอี
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 64 และจะอยู่ใกล้เคียงกับกรอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไประยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูง และต้นทุนการเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่การกระจายตัวของสภาพคล่องยังไม่ทั่วถึง จากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น ตามฐานะการเงินที่เปราะบาง โดยเฉพาะธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า และครัวเรือนที่ถูกกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบดอลลาร์ เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการเห็นว่า ควรให้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosytem)
ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นว่าความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ และการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต การผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง
รวมทั้งพิจารณามาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อเสริมประสิทธิภาพการกระจายสภาพคล่องและเพื่อรองรับเศรษฐกิจช่วงฟื้นฟูในอนาคต ขณะที่มาตรการทางการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจ โดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่ได้ ควบคู่กับดำเนินการนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงจะติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศ ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
นายทิตนันทิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยที่ยังขยายตัวได้ โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ประกาศเพิ่มเติมในไตรมาส 1-2/64 แนวโน้มการส่งออกที่ดีกว่าคาดในเกือบทุกหมวดสินค้า และการเลื่อนการเบิกจ่ายงบประมาณจากเดิมในไตรมาส 4/63 มาเป็นช่วงปี 64
ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วย ผลจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19ที่เข้มงวดและกว้างกว่าที่ประเมินไว้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่น้อยกว่าคาด และรายจ่ายของภาครัฐในปีงบประมาณ 65 มีแนวโน้มน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม
Source: สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
เพิ่มเติม
- ข่าว กนง.
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-----------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you