เงินเฟ้อเดือน ก.ย. 63 ติดลบ 0.70% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน เหตุเจอราคาพลังงานที่ปรับลดลง คาดไตรมาส 4 ยังติดลบต่อเนื่อง นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนกันยายน 2563 เท่ากับ 102.18 ลดลง 0.11% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.2563 ที่ผ่านมา และลดลง 0.70% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2562 โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันของปีนี้ นับตั้งแต่มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อลดลง 0.70% มาจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ลดลงมาก โดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ แม้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถดึงให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ อย่างเนื้อหมู และผักสดสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่วนสินค้าอื่นๆ เคลื่อนไหวปกติ โดยเงินเฟ้อที่ลดลง ยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ สอดคล้องกับเศรษฐกิจ และเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ อุปทาน ซึ่งมีทิศทางดีขึ้น
“รายละเอียดเงินเฟ้อที่ลดลง 0.70% มาจากสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.94% จาการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 15.77% หมวดเคหสถานลด 0.19% หมวดบันเทิง การอ่าน การศึกษาลด 0.21% ขณะที่สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.42% จากการเพิ่มขึ้นของเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ 3.38% ผักสด เพิ่ม 11.21% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 2.25% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.71% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.51% อาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 0.67% ”
ส่วนเงินเฟ้อ 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) ลดลง 0.99% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักสินค้าอาหารสดและพลังงานออก ดัชนีอยู่ที่ 102.96 เพิ่มขึ้น 0.04% เมื่อเทียบเดือนส.ค.2563 และเพิ่มขึ้น 0.25% เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2562 เฉลี่ย 9 เดือน เพิ่มขึ้น 0.32%
ทั้งนี้ เงินเฟ้อของไทย ได้กลับมาติดลบครั้งแรกในเดือนมี.ค.2563 โดยลดลง 0.54% จากนั้นเดือนเม.ย.-ส.ค.2563 ก็ติดลบมาโดยตลอด คือ ลดลง 2.99% , 3.44% , 1.57% , 0.98% และ 0.50% ตามลำดับ ซึ่งตามทฤษฎี เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 3 เดือน จะถือเป็นภาวะเงินฝืด แต่เป็นการฝืดทางเทคนิค ไม่ใช่ฝืดจริง เพราะสินค้ายังมีการเคลื่อนไหวปกติ และหลายรายการเพิ่มขึ้น แต่ตัวที่ฉุดให้เงินเฟ้อลดลง คือ ราคาน้ำมัน ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า แนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่าจะยังคงติดลบ ประเมินไว้ที่ติดลบ 0.34% เพราะราคาพลังงานยังลดลง จากความต้องการใช้ทั่วโลกที่ลดลง เพราะหลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 แต่คาดว่า อัตราติดลบจะน้อยกว่าไตรมาส 2 และ 3 เพราะความต้องการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
ทั้งนี้ มาจากมาตรการส่งเสริมการส่งออก มาตรการจ้างงาน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน รวมถึงราคาอาหารสดบางชนิด เช่น เนื้อสัตว์ และผักสด ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ตามปริมาณผลผลิตและความต้องการของตลาด โดย สนค. ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2563 ไว้ที่ลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% มีค่ากลางอยู่ที่ลบ 1.1%
สำหรับสินค้าที่คำนวณเงินเฟ้อ 422 รายการ พบว่า เดือนก.ย.2563 ราคาสินค้าสูงขึ้นมีจำนวน 128 รายการ เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.2563 และสูงขึ้น 224 รายการ เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2562 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มอาหารสด ขณะที่ราคาลดลงมี 111 รายการ เมื่อเทียบเดือนส.ค.2563 และลดลง 130 รายการเมื่อเทียบเดือนก.ย.2562 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพลังงาน ส่วนราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 183 รายการ เมื่อเทียบเดือนส.ค.2563 และไม่เปลี่ยนแปลง 68 รายการ เมื่อเทียบเดือนก.ย.2562
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
Cr. Bank of Thailand Scholarship Students
--------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you