ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับปรุงวิธีการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ มีผลตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ทำให้สถาบันการเงินต้องคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บน “ฐานของเงินต้นเฉพาะงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ” ตราบเท่าที่สัญญายังมีผลผูกพัน
ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันการเงินผู้ให้บริการหลายแห่งสอบถามเกี่ยวกับการกำหนดวันที่สัญญาจะสิ้นสุดผลผูกพันว่าควรเป็นวันใด เพื่อที่จะสามารถชี้แจงลูกหนี้ได้ชัดเจนและมีความเข้าใจที่ตรงกัน
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา ธปท. โดยฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ฝคง.) ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนในเรื่องนี้ ณ ห้องเทวะวงศ์วโรปการ และผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมีตัวแทนจากภาคประชาชนหลากหลายกลุ่มเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น ทั้งกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล กลุ่มลูกหนี้ SMEs ภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของลูกหนี้ กลุ่มนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน และตัวแทนของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ประธานที่ประชุมได้ชี้แจงว่า ในการกำหนดวันที่สัญญาจะสิ้นสุดผลผูกพันว่าควรเป็นวันใดนั้น เบื้องต้นมีทางเลือก 2 แนวทาง ได้แก่ (1) ใช้วันบอกเลิกสัญญาสัญญาตามหนังสือที่ผู้ให้บริการส่งแจ้งลูกหนี้ หรือ (2) ใช้วันที่ศาลประทับรับฟ้อง ซึ่งที่ประชุมมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ผลการสำรวจได้ข้อสรุปสำคัญคือ ภาคประชาชนเห็นพ้องดอกเบี้ยผิดนัดแบบใหม่ควรมีผลอย่างน้อยจนถึงวันที่ศาลประทับรับฟ้อง
โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สนับสนุนให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานเงินงวดมีผลจนถึงวันที่ศาลประทับรับฟ้อง แต่ที่ดีที่สุดเธอเห็นว่าการคิดดอกเบี้ยผิดนัดแบบใหม่ควรคิดไปจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษา
นางสาวสารีให้ความเห็นว่า การมี “สัญญาที่เป็นธรรมสำคัญที่สุด” เพราะการที่คนผิดนัดชำระหนี้เกิดจากหลายสาเหตุ (1) ปล่อยกู้ให้เขามากเกินไป (2) ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับสูงไป (3) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมากไป ดังประสบการณ์ที่เห็นกรณีคนขับตุ๊กตุ๊ก ต้องเป็นหนี้มากกว่าหนี้จริง เพราะไม่เห็นไม่ได้ดูสัญญา การจ่ายหนี้มากกว่าที่ตกลง งวดแรกก็ผิดนัดชำระหนี้แล้ว เกินศักยภาพที่พวกเขาจะหาเงินได้ สุดท้ายก็เจอเบี้ยปรับสูงมาก และสถานการณ์วิกฤติโควิดในปัจจุบัน อยากเห็นสถาบันการเงินผ่อนปรนลูกหนี้มากกว่านี้ ในมาเลเซียกำหนดให้ลูกหนี้มีสิทธิเป็นการทั่วไปที่เลือกที่จะเลื่อนกำหนดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ย และอัตราเบี้ยปรับควรลดลงมาอีก
นางสาวสมลักษณ์ หุตานุวัตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิสุภา วงศ์เสนา ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจแก่ที่ประชุมว่า “การเปิดเวทีรับฟังความเห็น(Hearing) ครั้งนี้เป็นวิธีดำเนินการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจจากผลพวงของโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้ศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกหนี้ถดถอยลงอย่างน่าวิตก ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้สถาบันการเงินและลูกหนี้อื่นๆ โดยโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินความสำคัญระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้มีบทบาทสำคัญพอๆกัน เพราะลูกหนี้คือผู้จ่ายเงินไปรักษาสภาพคล่องให้สถาบันการเงินหลังจากสถาบันการเงินจ่ายเงินให้เกิดสภาพคล่องในการหารายได้แก่ลูกหนี้ ดังนั้นหากทั้งสองฝ่ายมีจิตสำนึกพื้นฐานที่จะหาทางอยู่ร่วมกันบนเส้นแห่งความพอดีและพอเพียงในภาวะวิกฤติ โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีสังคมเป็นฐานรากก็จะดำเนินต่อไปได้
แต่ด้วยกฎกติกาที่ผ่านมามีทั้งมากเกินไปและน้อยเกินไปทั้งในทางหลักการและข้อปฎิบัติ ทำให้ฝ่ายได้เปรียบงัดเอากติกาในส่วนที่ตนเองได้เปรียบมาจัดการกับอีกฝ่านหนึ่ง ซึ่งมีทุนในการใช้กติกาต่ำกว่าก็ตกเป็นเหยื่อ “หนี้ที่ไม่เป็นธรรม” และเมื่อมาถึงกระบวนการสุดท้ายก็สายเสียแล้ว คือ ศาลที่ยังดำเนินการตามตัวบทกฎหมายฝ่ายที่ใช้กตกาเก่งกว่าก็มักจะชนะ ยึดทรัพย์ ขับไล่ ลงเอยด้วยการเพิ่มคนเพนจรไร้บ้าน เด็กขาดการศึกษา คนแก่คนเฒ่าต้องเร่ร่อนจรจัด หากไม่แก้ไขให้กติกาและการบังคับใช้มีความเป็นธรรมมากขึ้น มีเมตตาต่อกันมากขึ้น สังคมจะไปต่ออย่างผาสุกทั่วกันได้อย่างไร
นางสาวอาจิน จุ้งลก รองประธาน มูลนิธิสุภา วงศ์เสนา เพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ ขอขอบคุณและสนับสนุนแนวคิดตลอดจนเจตนารมณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยในสมัยผู้ว่าการท่านปัจจุบันที่มีความกล้าหาญ และได้ขับเคลื่อนจนนำไปสู่การปรับปรุงวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ ดอกเบี้ยผิดนัดแบบเดิมที่คิดจากฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด ถือเป็นบรรทัดที่ 1 ของการมีหนี้สินล้นพ้นตัว การปรับปรุงในครั้งนี้จึงมีความสำคัญและมีผลกว้างไกลมาก
กว่า 20 ปีนับจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 จนถึงปัจจุบันวิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่ดูแลช่วยเหลือดูแลลูกหนี้หรือผู้บริโภคอย่างจริงจัง แต่ผลกระทบจากวิกฤติโควิดหนักกว่าที่ผ่านๆ มา จึงควรปรับปรุงกฎหมายเพื่อแก้วิกฤติไม่ใช่ใช้กฎหมายในสถานการณ์ปกติ กับทางเลือกทางรอดของคนไทยให้มีความหวังและมีโอกาสที่จะยืนขึ้นใหม่ ที่สำคัญ ทั้งลูกหนี้ เจ้าหนี้ ต้องรู้จักพอเพียงเพื่อทุกฝ่ายจะได้เดินไปด้วยกันท่ามกลางวิกฤติครั้งนี้
นางสาวมณฑานี ตันติสุข หรือพี่โจ อดีตดีเจและพิธีกรชื่อดัง และผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน ให้ความเห็นต่อที่ประชุมไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในที่สุดวันที่พี่โจฝันไว้ก็มาถึง วันที่แบงก์ชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของท่านผู้ว่าฯ ดร.วิรไท สันติประภพ ได้ทำให้ฝันของพี่โจเป็นความจริงคือ การกล้าใช้อำนาจเข้ากำหนดและควบคุมสถาบันการเงินให้เลิกคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ขูดรีดกับประชาชนเสียที กล่าวคือ เลิกคิด “ดอกผิดนัดจากการชำระหนี้ล่าช้าแบบที่คิดจาก ‘ต้นเงินคงค้าง’ โดยเปลี่ยนมาใช้วิธีที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ “คิดดอกเบี้ยผิดนัดจากฐานของค่างวดที่ผิดนัดจริง” จึงขอขอบพระคุณแบงก์ชาติและท่านผู้ว่าการจากหัวใจ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นับเป็นการบุญกุศลมหาศาลที่ทำกับมหาชนจริงๆ เพราะที่ผ่านมาการคิดดอกเบี้ยผิดนัดแบบมหาหฤโหด คือ คิดดอกปรับไปถึงอนาคตจนกว่าจะใช้หนี้หมด ทำให้หลายครอบครัวสิ้นเนื้อประดาตัว”
สำหรับประเด็นที่ว่า ควรจะให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ไปถึงวันใดนั้น ประเด็นสำคัญ คือ สิทธิของเจ้าหนี้ในการที่จะเรียกเงินที่ให้กู้คืน ในสัญญากู้ทุกวันนี้แบงก์จะเขียนไว้เลยว่าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดชำระทั้งหมด ทำให้เขาคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ย้อนหลังได้ตั้งแต่วันแรกที่กู้ซึ่งลูกหนี้ยังไม่ผิดนัดด้วยซ้ำ ส่วนตัวเห็นว่าอำนาจในการประกาศกำหนดว่าจะสามารถใช้วิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดแบบใหม่ไปได้จนถึงเมื่อไหร่ให้เกิดความเป็นธรรม เป็นอำนาจเต็มของแบงก์ชาติ และคิดว่าการคิดดอกเบี้ยผิดนัดแบบใหม่ควรมีผลบังคับใช้ไปถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษา หรืออย่างน้อยก็ถึงวันที่ศาลประทับรับฟ้อง จะช่วยให้ลูกหนี้แบกภาระดอกผิดนัดน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่มาก
ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ นักวิจัยโครงการครูพอเพียง ปลอดหนี้ ชีวีสมดุล สนับสนุนให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระจากฐานเงินงวดจนถึงวันที่ศาลประทับรับฟ้อง และควรใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดความล่าช้าในการแจ้งวันประทับรับฟ้องแก่ผู้ฟ้อง ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาหนี้สินในภาคประชาชนอย่างยั่งยืน สถาบันการเงินจะต้องให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (Responsible lending) อย่างแท้จริง
ตัวอย่างง่ายๆ ที่ทำได้เลย ก็คือ การให้ข้อมูลและให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ลูกหนี้ ณ จุดที่จะให้สินเชื่อ อย่างเช่น ลูกหนี้ควรทราบตั้งแต่เริ่มเป็นหนี้ ว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราเท่าไร หากผิดนัดชำระ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ค่าธรรมเนียม เบี้ยปรับมีค่าอะไรบ้างคำนวณอย่างไร ฯลฯ ซึ่งสถาบันการเงินควรจัดสรรงบที่ใช้ทำการตลาด มาพัฒนาคุณภาพลูกหนี้ เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว
นางสาวอุมาพร แพรประเสริฐ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “หากเปิดโอกาสให้มีสิทธิ์เลือก ลูกหนี้ทุกรายคงเลือกให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดแบบใหม่ไปจนถึงวันที่ศาลประทับรับฟ้อง เพราะจากตัวอย่างเปรียบเทียบที่ ธปท.จัดทำขึ้นจะเห็นว่าการเลือกวันที่ศาลประทับรับฟ้อง จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้ถึง 3 จาก 4 ส่วน เทียบกรณีที่ให้คิดแบบใหม่จนถึงแค่วันที่เจ้าหนี้ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญา ทั้งนี้ ตัวเลขนี้พิจารณาแค่ถึงขั้นตอนก่อนเข้ากระบวนการศาลเท่านั้นความแตกต่างจะยิ่งมากขึ้นในกรณีที่ให้กลับมาคิดแนวเดิมตั้งแต่ยื่นบอกเลิกสัญญา เพราะในคำบรรยายฟ้องสถาบันการเงินจะระบุว่า หลัง 90 วัน ธปท.ให้กลับมาใช้แนวเดิม ซึ่งจะการพิจารณาปรับลดของศาลไม่ต่างจากในอดีต
ส่วนข้อกังวลที่ว่าถ้าใช้วันประทับรับฟ้องจะทำให้เจ้าหนี้ฟ้องเร็วขึ้น ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ยังต้องพิสูจน์ และถึงแม้จะฟ้องเร็วขึ้น ใช่ว่าจะเป็นผลร้ายแก่ลูกหนี้เสมอไป เพราะลูกหนี้ส่วนใหญ่เมื่อจ่ายหนี้ไม่ได้ ก็จะไม่เจรจา โดยไม่ทราบว่าดอกเบี้ยยังเดินทุกวัน จนพอกพูนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การถือวันที่ศาลประทับรับฟ้องเป็นวันยุติของสัญญาน่าจะเป็นผลดีกว่า ลูกหนี้ยังสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยในชั้นศาลได้ ดอกเบี้ยผิดนัดหยุด หนี้ที่ต้องชำระก็จะเป็นหนี้บวกดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับตามคำสั่งศาล
ทั้งนี้ ควรกำหนดเพิ่มเติมว่า ก่อนฟ้องเจ้าหนี้ต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15-30 วัน หรือก่อนทำสัญญาลูกหนี้ควรได้ทราบเงื่อนไขอย่างชัดเจน โดยเจ้าหนี้จัดทำรายละเอียดการคำนวณดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเป็นเอกสารแนบท้ายฟ้องเพื่อให้ลูกหนี้รับรู้ได้ว่าจำนวนที่เรียกเก็บอื่นๆนอกจากเงินต้นคงค้างแล้วมีอะไรบ้าง หรือ ดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินเรียกเก็บคำนวณจากยอดไหน จากช่วงระยะเวลาใด เห็นควรให้สถาบันการเงินมีความชัดเจนในเรื่องนี้
นอกจากนี้ นางสาวอรษา นิติฐิติกร ผู้อำนวยการ สำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน (สกร.) ให้ความเห็นจากมุมส่วนตัวว่า เนื้อหาที่พูดวันนี้ตัวแทนภาคประชาชนพยายามสะท้อนปัญหาและมุมมองที่อยากจะให้แบงก์ไม่ผลักลูกค้าไปเป็น NPL ถ้าแบงก์มองว่าเป็นลูกค้าตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายก็คงจะดี และทำหน้าที่ของแบงก์จริงๆ การให้บริการน่าจะเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด แนะนำลูกค้า ถึงผลดีผลเสียหากผิดนัดชำระหนี้ แม้ถึงเวลานั้น หากแบงค์ยังมีทางออกให้ลูกค้าก็ควรใช้ทางเลือกนั้นก่อนที่จะเลือกทางกฎหมาย
สำหรับความเห็นจากกลุ่มลูกหนี้ นางสาววริษฐา โม่งจันทร์ ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สะท้อนปัญหาของดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ถูกกำหนดไว้สูงเกินสมควรซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกหนี้ กยศ. นับล้านคนต้องผิดนัดชำระหนี้ สำหรับกรณีของตนกู้เงินจาก กยศ. เงินต้น 322,635 บาท แต่เมื่อรวมดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สูงถึง 728,419 บาท การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วย ไม่ใช่จะมุ่งแต่จะกำหนดสูงเพื่อขู่ลูกหนี้ ลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้จงใจที่จะไม่จ่ายหนี้ แต่ดอกเบี้ยผิดนัดที่มากมายที่ไม่ว่าจะจ่ายเท่าไหร่ตัดไม่ถึงเงินต้นสักทีทำให้ลูกหนี้ท้อ
นางสาวกมลพร ขำนิล หมอแก้หนี้ กทม. ได้ให้ความเห็นในฐานะเป็นลูกหนี้มาก่อนว่า ปกติเมื่อสถาบันการเงินส่ง notice บอกเลิกสัญญา ก็จะมีการเจรจากัน บางกรณีที่สำเร็จก็นำไปสู่การปรับโครงสร้างหนี้ ดังนั้น ถ้าให้กลับมาคิดดอกเบี้ยปรับผิดนัดแบบเดิมเมื่อบอกเลิกสัญญา อาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติเกิดการลักลั่น จึงคิดว่าดีที่สุดคือยึดวันที่ศาลประทับรับฟ้องแล้ว เพราะยังพอมีเวลาทำให้เกิดการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้(อาจต้องมีคนกลางเข้าไปคุย) แต่จุดที่ยังเป็นปัญหาต้องมาช่วยกันระดมสมอง คือ คำบรรยายฟ้อง ลูกหนี้ส่วนใหญ่ขาดความรู้ และถ้าเจ้าหนี้ยังเป็นผู้ทำคำบรรยายฟ้องแต่ฝ่ายเดียว ปัญหาก็จะคงมีอยู่
นายธนพิสิฐ โอฬารวสิฐกุล ผู้ประกอบการ SMEs เสื้อผ้าและกาแฟ แบ่งปันความคิดแก่ผู้เข้าร่วมประชุมไว้อย่างน่าสนใจว่า การที่ ธปท.เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมีประโยชน์มาก เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถสะท้อนปัญหาและมุมมอง สำหรับเรื่องดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เห็นด้วยกับการปรับปรุงของ ธปท.ที่ช่วยให้เกิดความเป็นธรรม ส่วนจะให้ใช้ไปได้นานแค่ไหน คิดว่าควรให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการกลับมาคิดดอกเบี้ยผิดนัดแบบเดิมบนฐานใหญ่ภาระลูกหนี้จะเพิ่มขึ้นมากอย่างไม่เป็นธรรม และเป็นต้นเหตุของการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว การประนีประนอมลดหย่อนผ่อนปรน ทำได้น้อยมาก
“ผมเชื่อว่าคนทำธุรกิจไม่มีใครอยากเจ๊ง ทุกคนอยากประสบผลสำเร็จแต่บางครั้งไม่มีโอกาสได้พูดได้แสดงความคิดให้ข้อเสนอแนะ อยากเสนอให้สถาบันการเงินใช้หลักคิด “พ่อปกครองลูก“ ถ้าใช้หลักคิดนี้จะไม่มีการฟ้องร้องแม้แต่คดีเดียว เวลาลูกค้ามีปัญหาควรเข้ามานั่งจับเข่าคุยกันแบบจริงใจและร่วมกันหาทางออก เช่นช่วงวิกฤติโควิด ลูกหนี้มีปัญหาสถาบันการเงินจะช่วยประคองลูกหนี้ให้เดินต่อได้อย่างไร โดยแบงก์ก็ยังได้ดอกเบี้ยแต่แบบพอเพียง และในช่วงโควิดการยืดเวลาการผ่อนชำระเป็นแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ที่ดีที่จะช่วยหาทางออกสำหรับทั้งเจ้าหนี้ลูกหนี้”
และสุดท้ายนายอมรโชติ ซิงค์ ลูกหนี้ SME เห็นว่าช่วงหลังจากโควิด ศาลจะมีงานฟ้องมากขึ้นกว่ายามปกติหลายเท่าตัว ด้วยปริมาณที่มากการพิจารณาอาจล่าช้ากว่าปกติ ดังนั้นถ้าให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่จนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษาน่าจะเป็นผลดีแก่ลูกหนี้ที่สุด
ทั้งนี้ ธปท.จะต้องนำข้อสรุปนี้ไปหารือกับสถาบันการเงินต่อไป
Source: ThaiPublica
------------------------------------------------------------------------------------------------------
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you