"คุณคิดว่าการซื้อโทรศัพท์มือถือราคา 8,000 บาท ถือว่าพอเพียงหรือเปล่าคะ?"
คำถามข้างต้น คือ หนึ่งในชุดคำถามที่ผมเคยถูกสัมภาษณ์จากวารสารฉบับหนึ่ง เพื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชนว่ามีความเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงหรือไม่
ที่แย่คือ มีเงื่อนไขให้ตอบเพียงว่า "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" หลังปี 2540 หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการนำไปเผยแพร่อย่างมากมาย สื่อต่างๆ ก็ตื่นตัว จนคำว่า "พอเพียง" กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง แต่ก็นั่นแหละ แค่กว้างขวาง แต่ตื้นเขิน
"ไม่เห็นเกี่ยวเลยครับ" นั่นคือคำตอบที่ผมตอบ ทีมงานสัมภาษณ์ออกไปวันนั้น ผมจำมันได้แม่น เพราะ สายตาของผู้ขอเวลาสัมภาษณ์ผมในวันนั้น มองกลับมาเหมือนผมตอบคำถามผิด
"ถ้ามีเงินซื้อ อยากใช้ และไม่ลำบากหลังจากซื้อมัน ต่อให้เครื่องละ 20,000 หรือ 30,000 ก็พอเพียงนะผมว่า" (สมัย 20 ปีก่อน เครื่องละ 8,000 นี่ก็ไม่ธรรมดานะ)
ผมถูกประเมินด้วยสายตาว่าเหมือนหมดทางเยียวยา ... ผู้สัมภาษณ์หยุดถามคำถามอื่นๆ ต่อ เวลาที่เธอขอผมไว้เพื่อพูดคุย ถูกตัดจบแค่นั้น
จำได้ว่าวันนั้นไม่ได้รู้สึกโกรธอะไร เพียงแต่รู้สึกเสียดาย ที่แม้กระทั่งคนที่รัก เทิดทูนแนวคิด และอยากจะเผยแพร่ ก็ยังไม่มีเวลาศึกษาจริงๆ จังๆ จนทำให้ชุดคำถามที่ออกแบบมาเพื่อวิจัยว่าคนไทยเข้าใจปรัชญาดังกล่าวหรือไม่ กลายเป็นคำถามที่หลงทาง
ผ่านไปร่วม 20 ปี ทุกวันนี้ก็ยังมีคนไทยบางคนไม่ เข้าใจแนวคิดนี้กันอยู่ดี แถมยังเอาคำว่า "พอเพียง" ไปพูดกัน สนุกปาก เวลาอัตคัดเงินไม่ค่อยพอใช้ หรือชีวิตกระเบียดกระเสียร ว่า "ช่วงนี้ต้องพอเพียงหน่อย" ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย
"พอเพียง" กลายเป็นใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมไม่ได้ ต้องใส่ของราคาไม่แพง
"พอเพียง" กลายเป็นฟุ่มเฟือยไม่ได้ ทั้งที่พระองค์ ท่านเองก็เคยตรัสว่า "ฟุ่ยเฟือยได้ แต่ต้องไม่เดือดร้อน"
พูดถึง "พอเพียง" ทีไร เอาอีกแล้ว รูปข้าวในนา ควายอยู่กลางทุ่ง ภาพชีวิตในต่างจังหวัด ภาพทุ่งนาลอยมาเต็มไปหมด ... ประหนึ่งว่าการใช้ชีวิตรูปแบบอื่น ที่ไม่ใช่เกษตรกรรม จะพอเพียงไม่ได้ ...
และที่หนักก็คือ ไปเข้าใจว่า "พอเพียง" แล้วจะ "ร่ำรวย" ไม่ได้ "กู้ยืมเงิน" ไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่อีกนั่นแหละ!
"ความพอเพียง" ที่ผมเข้าใจ มันน่าจะมีลักษณะที่เป็น "ปัจเจก" ของแต่ละบุคคล เริ่มต้นด้วยการรู้จักและรู้เท่าทันตัวเอง รู้ว่าความสุข ความพอดีของตัวเราเองอยู่ตรงไหน ซึ่งก็น่าจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แม้จะมีกรอบคิดเดียวกัน นั่นคือ .
"พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน" ... แต่ด้วยความเป็นปัจเจกของแต่ละบุคคล คนเรานั้นแตกต่างกัน แม้จะยึดหลึกหรือแก่นเดียวกัน ก็อาจให้ภาพที่สะท้อนออกมาทางสายตาแตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงไม่มีสิทธิที่จะไปว่าหรือตัดสินการดำรงชีวิต ไลฟ์สไตล์ การบริหารกิจการหรือการบริหารเงินของใครว่าพอเพียงหรือไม่ อย่างไร ด้วยมาตรวัดหรือไม้บรรทัดอันเดียวกัน
แต่ละตัวบุคคลต้องพิจารณา และดำรงความ "พอเพียง" ตามแก่นแห่งความสุข ที่มองเห็นและเข้าใจได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องตามใคร เพราะเราแต่ละคนมีสุขความพอดีในชีวิตที่แตกต่างกัน
ถ้าได้ในสิ่งที่ต้องการแล้วพอ ก็ถือว่าพอเพียง ถ้ามี เป้าหมายที่ใฝ่ฝัน อยากไปให้ถึง ก็ต้องพยายามเพิ่ม พยายามอีก เพื่อให้พอเพียงในระดับของตัวเอง การทะยานอยากได้อยากมี และมุ่งเติมเต็มด้วยความมุ่งมั่นพยายาม และหาทางได้มาด้วยความสุจริต ก็จึงถือได้ว่าเป็นความพอเพียง ในแบบของเขาได้ด้วยเช่นกัน
แค่ "สุข" เรา "พอดี" เรา ไม่เบียดเบียน "เขา" และ "ตัวเราเอง" มีสติในทุกย่างก้าวของชีวิต และมีคุณธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว มีชีวิตที่ "เย็น" ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจตลอดเวลา รู้สึก "เต็ม" รู้สึก "พอ" ในใจ อยู่ในทุกจังหวะชีวิต แต่ไม่ใช่จำเป็นต้องพอ เพราะขาด เพราะไม่มี เพียงเท่านี้ก็น่าจะเรียกว่า "พอเพียง" ได้เหมือนกัน
สุดท้าย "ความพอเพียง" สำหรับผม จึงเหมือนระดับความสุขในจิตใจของแต่ละคน ที่ต้องกำหนดขนาด ระดับ และปริมาณกันเอาเอง ว่าแค่ไหน คือ "สุข" "เย็น" และ "พอดี"
และแค่ "พอเพียง" เชื่อเหลือเกินว่า ทั้งชีวิตของคุณจะ "เพียงพอ" อย่างแน่นอน ถ้าเข้าใจมันอย่างแท้จริง
โดย จักรพงษ์ เมษพันธุ์
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Trader Warrior Camp แคมป์นักฝันชิงเงินรางวัล 1 ล้าน แคมป์ที่จะสร้างคุณให้เป็นสุดยอดเทรดเดอร์
รายละเอียดเพิ่มเติม https://goo.gl/forms/6PVGHzrey3WkQWr72