"สมาคมตราสารหนี้" มั่นใจผู้ออกหุ้นกู้ สามารถชำระหนี้ที่ ครบกำหนดไถ่ถอนในช่วงที่เหลือของปีนี้ 4.42 แสนล้านได้ เผยภาคธุรกิจเตรียมแผนทั้งออกชุดใหม่ ขอสินเชื่อแบงก์ และใช้ กองทุนบีเอสเอฟ พร้อมคงเป้ายอดออกหุ้นกู้ ปีนี้ 8.5-9 แสนล้าน ด้าน "ทริสเรทติ้ง" ลั่น บจ
ที่ออกหุ้นกู้บริหารสภาพคล่องดี ฐานะการเงินแข็งแกร่ง
นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้เอกชน) ที่จะครบกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 ธ.ค.2563 มีมูลค่ารวม 4.42 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งระดับ อินเวสเมนท์เกรด 92% และอีก 8% เป็น ไฮยิลด์บอนด์ โดยเชื่อว่าผู้ออกหุ้นกู้จะสามารถชำระคืนหนี้ดังกล่าวได้ เนื่องจาก มีแหล่งเงินทุนที่สามารถนำมาชำระคืนหนี้ได้ หากบริษัทไม่สามารถออกหุ้นกู้ได้ครบตามจำนวน ทั้งการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และการขอวงเงินจากกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF)
ในส่วนหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตระดับ อินเวสเมนท์เกรด ส่วนตัวประเมินว่าหากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ไม่กลับมาระบาดรอบ 2 เชื่อว่าจะมีผู้มาขอ วงเงินจาก BSF น้อย เพราะสถานการณ์ โควิด-19 เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น และเงื่อนไข ของ BSF เข้มงวด ซึ่งผู้ออกจะต้องหาแหล่งเงินทุนอื่นมาก่อน จึงจะมาขอวงเงินจาก BSF ได้
สำหรับไฮยิลด์บอนด์ที่จะครบกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 ธ.ค.2563 มีจำนวน 3.6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 8% ของหุ้นกู้ ที่จะครบกำหนดในปีนี้ ทางสมาคมตราสารหนี้ ไทย ได้ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (สมาคมโบรกเกอร์) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ติดตามการสอบถามใกล้ชิด กับบริษัท และผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ ออกหุ้นกู้ เรื่องแนวทางการชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด
โดยไฮยิลด์บอนด์ที่ครบกำหนดปีนี้นั้น สัดส่วน 15% เป็นเสนอขายแก่นักลงทุน เฉพาะเจาะจงไม่เกิน 10 ราย ทำให้เจรจาหนี้กันได้ และอีก 40% เป็นหุ้นกู้มีที่มี หลักประกัน เป็นที่ดิน สินค้า และบางบริษัท ได้มีการระดมเงินทุนเตรียมไว้แล้วตั้งแต่ต้นปีเพื่อเตรียมเงินมาชำระคืนหุ้นกู้ โดยปัจจุบันได้ติดตามไปได้มากกว่า 2 ใน 3 ของ หุ้นกู้ที่ครบกำหนดปีนี้แล้ว ซึ่งยังพอมีเวลาติดตามในส่วนที่เหลือ เพราะทางสมาคมตราสารหนี้ จะเลือกติดตามหุ้นกู้ที่ใกล้ ครบกำหนดก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ และเพื่อ ไม่ทำให้นักลงทุนกังวลในเรื่องดังกล่าว
"หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้อีก 4.42 แสนล้านบาทนั้น เชื่อว่าผู้ออกหุ้นกู้ จะทำ ทุกช่องทางเพื่อชำระคืนหนี้ได้ทั้งการออกใหม่ หรือหากออกได้น้อยไม่ครบจำนวน ยังสามารถ ไปขอสินเชื่อแบงก์ได้ และยังสามารถ มาขอวงเงินกับ BSF ได้อีก"
นายธาดา กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน มีหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้จำนวน 1 บริษัท มูลค่า 390 ล้านบาท ขณะที่ในปี2562 มีหุ้นกู้ ผิดนัดชำระ 2 บริษัท มูลค่า 1.93 พันล้านบาท ส่วนปี 2561 ไม่มีหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งปี 2560 มีจำนวน 7 บริษัท มูลค่า 1.45 หมื่นล้านบาท และปี 2559 มีจำนวน 1 บริษัท มูลค่า 350 ล้านบาท
สำหรับปีนี้ ยังคงเป้ายอดการออกหุ้นกู้ ของบริษัทเอกชนอยู่ที่ 8.5-9 แสนล้านบาท เนื่องจากเชื่อว่าบริษัทต้องการระดมทุน เพื่อนำเงินไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ หรือ เพิ่มสภาพคล่องมากขึ้น หลังจากที่โควิด-19 ระบาดอาจทำให้เงินสดที่เตรียมไว้ลดลง ทั้งเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ออกใหม่ และ เสนอขายหุ้นกู้เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ ครบกำหนด
ด้านนายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด กล่าวว่า บริษัทจดทะเบียนของไทยที่ออกหุ้นกู้นั้น มีความสามารถในการบริหารสภาพคล่อง ได้ดี และมีแหล่งเงินทุนทั้งสินเชื่อจาก ธนาคารพาณิชย์ เงินสดสำรองไว้ ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจและชำระหนี้คืนได้บนสมมติฐานที่โควิด-19 สามารถที่จะ ควบคุมได้ภายในครึ่งปีแรก ซึ่งในเดือนมิ.ย. สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลมีการ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทำให้ธุรกิจเริ่มกลับมา ดำเนินได้ตามปกติ ทำให้เศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวดีขึ้นได้ใน 12-18 เดือนข้างหน้า
นอกจากนี้ ธุรกิจที่ออกหุ้นกู้จำนวนมากนั้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ จากโควิด-19 ระบาดระดับปานกลาง และระดับน้อย เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โรงไฟฟ้า นอนแบงก์ อาหารและเครื่องดื่ม ทำให้มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง
Source: กรุงเทพธุรกิจ
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you