เมื่อโควิดขวิดเศรษฐกิจพัง คลัง-แบงก์ชาติ มีไว้ทำอะไร

เมื่อประมาณกลางเดือนที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจและการเงินของสหราชอาณาจักรใกล้จะตกเหวเพราะพิษไวรัสระบาด ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางจำนวนมากกำลังจะปลดคนงานหลักล้านคน เพราะกระแสเงินสด (cash flow) แห้งเหือด

นักลงทุนเทขายทุกอย่างที่ขวางหน้า ตลาดหุ้นต้องหยุดพักการซื้อขายเป็นระยะ สถานการณ์ลุกลามส่อเค้าจะร้ายแรงและกระทันหันหนักกว่าเหตุการณ์วิกฤตการเงินเมื่อปี 2008

การตัดสินใจอย่างรวดเร็วทันใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แบงก์ชาติอังกฤษ (Bank of England) จัดประชุมฉุกเฉินและลงมติประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำสุดในประวัติศาสตร์ที่ 0.1% และเพียงหนึ่งวันหลังจากนั้นรัฐมนตรีคลังคนใหม่ ริชชี สุหนัก ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็ประกาศแพ็กเกจพยุงเศรษฐกิจก้อนใหญ่เป็นประวัติการณ์จำนวน 350,000 ล้านปอนด์ ทำให้ช่วยผ่อนคลายความกังวลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ภาคบริการในอุตสาหกรรม hospitality industry ที่ขาดสภาพคล่องไม่มีเงินหมุนมาจ่ายเงินเดือนพนักงานและเตรียมปลดคนงานรวมนับล้านคน ซึ่งหากพวกเขาแพแตกออกมาเตะฝุ่น ก็จะเป็นการซ้ำเติมความตื่นตระหนกในสภาวะการรับมือวิกฤตไวรัส ที่กำลังระบาดเป็นไฟลามทุ่ง ไม่ละเว้นกระทั่งสมาชิกราชวงศ์ รัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี

การเปิดศึกเชิงรุกแบบทันอกทันใจของสองหน่วยงานเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยพลิกสถานการณ์ที่กำลังจะตกเหว ให้อยู่ในภาวะทรงตัวเพื่อซื้อเวลาหายใจให้ผู้ประกอบการและแรงงานกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในกลไกเศรษฐกิจทุนนิยมของประเทศ

พอมองเห็นได้ว่านั่นเป็นยุทธศาสตร์ที่จัดเตรียมไว้รองรับมาตรการ lock down ที่นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสันประกาศในไม่กี่วันต่อมา การควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชนและแรงงานจะทำให้ผู้คนจำนวนมากขาดรายได้เมื่อไม่สามารถออกจากบ้านไปทำงานหาเลี้ยงชีพได้ มีธุรกิจจำนวนมากต้องปิดประตูไม่รับลูกค้าตามคำสั่งของรัฐบาล ส่งผลให้กระแสเงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในภาคบริการ การขนส่งและค้าปลีกเหือดหายไปทันที

ในแพ็กเก็จดังกล่าว รัฐบาลขอร้องไม่ให้นายจ้างปลดคนงานออก โดยจะช่วยสนับสนุนจัดเงินมาอุดหนุนเงินเดือนของพนักงาน 80% โดยมีเพดานไม่เกินคนละ 2,500 ปอนด์ต่อเดือน ในช่วงที่ต้องหยุดการค้าขายตามคำสั่ง lock down โดยจะจัดให้ในเบื้องต้นเป็นเวลาสามเดือนและจะพิจารณาต่อเวลาให้อีกถ้ายังมีความจำเป็น

ปัจจุบันนี้ทั่วประเทศมีจำนวนคนในตลาดแรงงานทั้งสิ้น 33 ล้านคน และในจำนวนนี้มีอยู่ประมาณ 10 ล้านคนที่ทำงานแบบ freelance และ self-employed ไม่มีนายจ้างดูแลเรื่องค่าแรงและสวัสดิการ กระทรวงการคลังก็จะจัดมาตรการช่วยเหลือในลักษณะคล้ายๆ กัน โดยตรวจสอบจากประวัติการเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลนำมาประเมินเพื่อชดเชยการขาดรายได้ในช่วงหยุดงานชั่วคราว รัฐมนตรีการคลังประเมินว่ามาตรการเหล่านี้จะโอบอุ้มคนงานได้ประมาณ 95% ของคนงานในตลาดแรงงานทั้งประเทศ

มาตรการส่วนนี้นักเศรษฐศาสตร์คำนวณแล้วว่ากระทรวงการคลังจะต้องจัดงบประมาณเพิ่ม 78,000 ล้านปอนด์เพื่อหล่อเลี้ยงไม่ให้นายจ้างปลดคนงานออก หากไม่มีมาตรการนี้จะมีคนตกงานเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคนทันที

นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังสั่งเลื่อนการจ่ายเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ออกไป เพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางมีเงินสดหล่อเลี้ยงต่อลมหายใจไประยะหนึ่ง และหากผู้ประกอบการรายใดมีปัญหาขาดสภาพคล่องก็มีการเตรียมการจัดให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเพื่อพยุงให้ธุรกิจเลี้ยงตัวต่อไปได้ในช่วงสามเดือนข้างหน้า และอาจจะต่อให้ไปถึงสิ้นปีหากจำเป็นจริงๆ ส่วนผู้ประกอบการที่เดือดร้อนมากๆ ก็สามารถขอเลื่อนการจ่ายภาษีบำรุงท้องที่ภาคธุรกิจ (business rate) ได้ไปอีกหกเดือน

แม้กระนั้นก็เป็นที่คาดหมายว่าจะต้องมีคนที่เดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจชะงักงันเพิ่มมากขึ้นแล้วต้องบากหน้าไปเบิกเงินสวัสดิการคนว่างงาน กระทรวงการคลังจึงจัดเงินเพิ่มให้กับผู้ที่เบิกสวัสดิการ universal credit / tax credits อีกคนละ 1 พันปอนด์ต่อปี ซึ่งทั่วประเทศมีผู้ที่ขอเบิกสวัสดิการอยู่ประมาณ 4 ล้านครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลจะต้องจัดหาเงินมาเพิ่มงบประมาณอีก 7 พันล้านปอนด์

สำหรับผู้ที่จำนองบ้านกับธนาคาร กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติได้หารือกับธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายขอให้ผ่อนผันจัด mortgage payment holidays เป็นเวลาสามเดือนสำหรับลูกค้าที่เดือดร้อนหนักจากภาวะขาดรายได้ฉับพลัน ส่วนผู้ที่ไม่มีบ้านของตนเองและต้องเช่าบ้านอยู่ไม่ว่าจะเป็นบ้านเช่าเอกชน หรือบ้านเช่าการเคหะ รัฐบาลจะจัดเงินส่วนหนึ่งเพื่ออุดหนุน 30% ของค่าเช่าบ้านในช่วงสามเดือนเดือนนี้เช่นกัน และประกาศใช้มาตรการห้ามเจ้าของบ้านไล่ผู้เช่าออกจากบ้านหากไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า

นับว่าเป็นการผันเงินผ่านช่องทางต่างๆ หล่อเลี้ยงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยหลีกเลี่ยงการโปรยเงินลงมาจากเฮลิคอปเตอร์แบบโครงการประชานิยม หาคะแนนเสียงแบบนักการเมืองบางประเทศ

การกำหนดแพ็กเกจขนาดยักษ์แบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาแบบท็อปดาวน์ แต่เป็นผลมาจากการหารืออย่างกว้างขวางกับตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน สมาคมนายจ้าง สมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษ (Confederation of British Industries-CBI) และตัวแทนของลูกจ้างคือสมาพันธ์สหภาพแรงงานแห่งชาติ (Trade Union Congress-TUC) เพื่อหาจุดลงตัวในมาตรการต่างๆ ประคองสภาพเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตในระยะสั้นและปานกลางไปก่อน ซึ่งหมายความว่าพ้นจากนี้ไป มีคำถามว่ากระทรวงคลังจะต้องไปหาเงินจากไหนมาถมหลุมดำขนาดใหญ่นี้

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยอมรับว่าภาวะวิกฤตขนาดนี้เปรียบเสมือนประเทศเข้าสู่สงคราม มีความจำเป็นที่จะต้องละเว้นการใช้มาตรฐานการคลัง (fiscal rules) หลายอย่างที่พรรคคอนเซอร์เวทีฟเคยประกาศเป็นหลักในการบริหารการคลังมาตั้งแต่ยุครัฐบาลมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เช่น การควบคุมการใช้จ่ายภาคสาธารณะ ลดภาวะหนี้สินสาธารณะและควบคุมการขาดดุลงบประมาณ ในส่วนแบงก์ชาติอังกฤษซึ่งเคยแข็งขืนการใช้มาตรการ QE มาแต่ไหนแต่ไร ตอนนี้ก็มีท่าทียอมรับว่าสถานการณ์บีบบังคับ เตรียมพิมพ์แบงก์ 2 แสนล้านปอนด์ไว้เป็นกองทุนรับซื้อพันธบัตรคืน เพื่ออัดฉีดเงินสดเข้าระบบเศรษฐกิจ

ในขณะที่เขียนบทความนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงคลังและแบงก์ชาติ ได้เปิดการหารืออย่างเร่งด่วนกับผู้บริหารของธุรกิจขนาดยักษ์หลายแห่งร่วมทั้งธุรกิจสายการบิน เพื่อป้องกันมิให้เกิดโดมิโนทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าบรรดาสายการบิน ธุรกิจให้บริการที่เรียกว่า hospitality industry ที่เป็นแหล่งจ้างงานและนำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาลในแต่ละปี คงต้องปิดตัวลงบางส่วน ทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก

หลังจากสหราชอาณาจักรประกาศแพ็กเกจยักษ์นี้ได้ไม่กี่วัน สหภาพยุโรปก็เริ่มขยับจัดแพ็กเกจคล้ายๆ กันออกมา มีการตกลงกันภายในผ่อนปรนให้อิตาลียืดหยุ่น fiscal rules รับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ จากนั้นก็มีข่าวว่าสหรัฐจัดงบกว่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์รับมือกับภาวะถดถอย หลังจากข่าวว่ามีคนยื่นขอสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้น 3.3 ล้านคน ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ นับว่าเป็นงบก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อันรวมไปถึงการอัดฉีดเงินโดยตรงเข้าบัญชีธนาคารประชาชนที่ประสบภัยไวรัส

ขณะนี้ยังไม่มีผู้นำของโลกคนไหนออกมาประเมินได้ว่าวิกฤตไวรัสคราวนี้จะยาวนานแค่ไหน (ยกเว้นประธานาธิบดีทรัมป์ที่บอกว่าเพียงไม่กี่สัปดาห์) แต่วิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบแบบทันทีทันควันแทบหายใจไม่ทันคราวนี้ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการประสานงานกันในระดับโลก แต่ละประเทศยังมัวแต่ทำงานโต้ไวรัสกันแบบตัวใครตัวมัน ทั้งในทางการแพทย์และทางเศรษฐกิจ แม้ว่าผู้นำจีนจะแสดงท่าทีขอประสานงานกับผู้นำสหรัฐเพื่อทำงานร่วมกัน แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังเล่นการเมืองเอาความดีใส่ตัว โยนบาปไปว่าเป็นไวรัสจีน

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนให้ความเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี และจะมีความรุนแรงมากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งและแฮมเบอร์เกอร์รวมกัน

มาตรการของแต่ละประเทศที่หวังจะเอาตัวรอดแบบ ข้าเก่งคนเดียว จะไม่มีทางสำเร็จ ถึงคราวที่ผู้นำทั้งหลายจะต้องยอมลดอัตตา หันมาร่วมมือกันรับมือกันในระดับ coordinated global response เท่านั้น ที่จะนำพาโลกให้หลุดพ้นจากอภิมหาหายนะครั้งนี้

โดย Somchai Suwanban

Source: 101World

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 

Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"