การเจรจาหาทางยุติ "สงครามการค้า" ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ยังไม่มีท่าทีว่าจะบรรลุข้อตกลงกันได้ หลังจากเมื่อ 1 ส.ค. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนชุดใหม่ มูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตรา 10%
เริ่มมีผลบังคับ 1 ก.ย.นี้และต่อไปอาจเพิ่มเป็น 25%
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้าจีนแล้วกว่า 250,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในอัตรา 25% ส่วนจีนก็ตอบโต้ ขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯมูลค่า 110,000 ล้านดอลลาร์เช่นกัน นั่นหมายความว่าสินค้าที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลกนี้ค้าขายกันมูลค่าราว 660,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ถูกตั้งกำแพงภาษีเกือบทั้งหมดแล้ว!
แต่เมื่อ 13 ส.ค. หลังประกาศขึ้นภาษีจีนชุดล่าสุดได้แค่ 12 วัน สหรัฐฯก็ประกาศเลื่อนการบังคับใช้การขึ้นภาษีสินค้าชุดนี้ "บางรายการ" ออกไปจากเดิม 1 ก.ย. เป็น 15 ธ.ค. รวมทั้งสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์แล็ปท็อปเครื่องเล่นวิดีโอเกม รองเท้า เสื้อผ้า โดยทรัมป์ระบุว่าเลื่อนการขึ้นภาษีสินค้าจีนบางส่วนเพื่อไม่ให้ชาวอเมริกันต้องจับจ่ายซื้อข้าวของแพงขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาส
นั่นแสดงให้เห็นว่าการขึ้นภาษีสินค้าจีนทำให้สหรัฐฯ "เจ็บ" ไปด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอาจเจ็บมากกว่าจีนด้วยซ้ำ!แม้ทรัมป์จะคุยเขื่องว่า การขึ้นภาษีสินค้าจีน ทำให้สหรัฐฯเก็บภาษีเข้ากระทรวงการคลังได้หลายพันล้านดอลลาร์ในช่วง 10 เดือนหลัง ทรัมป์ถึงกับตั้งฉายาตัวเองว่า "Tariff Man"!
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การขึ้นภาษีสินค้าจากจีนนั้น รัฐบาลจีนและบริษัทในจีนไม่ได้เป็นผู้จ่ายภาษีนี้โดยตรง แต่บริษัทนำเข้าที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ต่างหากที่ต้องเป็นผู้จ่ายภาษีให้สำนักงานศุลกากรและปกป้องพรมแดนของสหรัฐฯ (ซีบีพี) ภายใน 10 วัน เมื่อสินค้าเข้าสู่สหรัฐฯ
และที่สำคัญกว่านั้น บริษัทผู้นำเข้าสินค้าทั้งหลายมักโยนค่าใช้จ่ายด้านภาษีที่เพิ่มขึ้นไปให้ลูกค้า ผู้บริโภคและโรงงานผู้ผลิตสินค้าภายในสหรัฐฯ เป็นผู้รับผิดชอบ ด้วยการ "ขึ้นราคาสินค้า" ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น ซึ่ง "ผู้บริโภค" นั่นเองที่รับภาระหนักที่สุดไม่ใช่รัฐบาลจีน บริษัทจีน หรือบริษัทผู้นำเข้าของสหรัฐฯ แต่อย่างใด
จึงไม่แปลกที่หลังจากทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีน บริษัทค้าปลีกต่างๆ ของสหรัฐฯ ต่างรุมโจมตีว่าการทำเช่นนี้ก็คือการขึ้นภาษีต่อธุรกิจและผู้บริโภคในสหรัฐฯ ครั้งใหม่นั่นเอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานและเพิ่มค่าใช้จ่ายในครัวเรือนชาวอเมริกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
นักวิเคราะห์ชี้ว่าแม้บริษัทในจีนจะได้รับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีของทรัมป์ไม่น้อย รวมทั้งอาจมีหลายบริษัทย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปประเทศอื่นๆ ทำให้มีคนตกงาน หรือมีกำไรลดลงแต่ผลกระทบต่อบริษัทและผู้บริโภคในสหรัฐฯนั้นรุนแรงกว่าในจีนมากโดยเฉพาะบริษัทนำเข้าซึ่งต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่เป็นการใหญ่รวมทั้งตั้งเป้ากำไรน้อยลงลดค่าใช้จ่ายของบริษัทด้วยการลดเงินเดือนหรือลดพนักงาน ระงับการขึ้นค่าจ้างเงินเดือนที่วางแผนไว้ ซึ่งนั่นจะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯโดยรวมไม่น้อย
นอกจากจีน ทรัมป์ยังเปิดศึกการค้ากับประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ รวมทั้ง "สหภาพยุโรป" (อียู) ที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯขึ้นภาษีเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมจากอียูตั้งแต่ปีที่แล้วและขู่จะขึ้นภาษีสินค้าอื่นๆ รวมทั้งไวน์ฝรั่งเศส และ วิสกี้จากอียู โดยขีดเส้นตายให้อียูบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงภาครถยนต์ให้ได้ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่ 17 พ.ค.ปีนี้ สหรัฐฯยังต้องการเจรจาเรื่องภาคเกษตรกรรมกับอียูด้วย
ทรัมป์ยังบีบให้เม็กซิโกและแคนาดาลงนามในข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ ที่เรียกว่า "ข้อตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา" (ยูเอสเอ็มซีเอ) เพื่อใช้แทน "ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ" (นาฟตา) อันเก่าแก่อายุ 25 ปี ซึ่งทรัมป์ชี้ว่าไม่เป็นธรรมทำให้สหรัฐฯ เสียเปรียบโดยข้อตกลง "ยูเอสเอ็มซีเอ" นี้ รัฐสภาเม็กซิโกให้สัตยาบันรับรองแล้วตั้งแต่เดือน มิ.ย. แต่ยังติดค้างอยู่ในสภาคองเกรสสหรัฐฯ และรัฐสภาแคนาดา
ส่วน "อินเดีย" ก็เป็นอีกประเทศที่ถูกทรัมป์เล่นงาน เริ่มด้วยการขึ้นภาษีเหล็กกล้าและอะลูมิเนียม จากนั้นก็ถอดอินเดียออกจากบัญชีกลุ่มประเทศที่มี "จีเอสพี" ซึ่งส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ โดยไม่ต้องเสียภาษีตั้งแต่ต้นปีนี้ส่งผลให้อินเดียตอบโต้ ขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ แล้ว 28 รายการ รวมทั้งเมล็ดอัลมอนด์และแอปเปิ้ล
จะเห็นได้ว่า ทรัมป์เปิดศึกการค้ากับหลายประเทศโดยไม่เลือกหน้าว่าเป็นมิตรหรือศัตรู ตามนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" แม้ตัวเองจะได้รับผลกระทบ แต่มั่นใจว่าจะ "เจ็บน้อยกว่า"!
คอลัมน์ 7วันรอบโลก: บวร โทศรีแก้ว
Source: ไทยรัฐ
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you