แบงก์ชาติเผย 10 ฟินเทคขอเข้าแซนด์บ็อกซ์ทดสอบระบบ “พีทูพีเลนดิ้งแพลตฟอร์ม” ฝั่งแบงก์ยังไม่ขอ ธอส.สนใจทำแพลตฟอร์ม เผยมีคนนำเงินมาให้ปล่อยกู้ ลั่นระบบ “รับชำระหนี้-บังคับจำนอง” พร้อม ฝั่งสศค. คาดลูกแบงก์น่าจะสนใจธุรกิจนี้
ด้าน “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ยังไม่สน ขอลุย “ดิจิทัลเลนดิ้ง” ก่อน
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะที่มีผู้ประกอบการฟินเทคประมาณ 10 บริษัท สนใจทำธุรกิจระบบ หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (P2P lending platform) เข้ามาหารือกับ ธปท. เพื่อจะขอสมัครเข้าทดสอบระบบในสนามทดสอบ (regulatory sandbox) หลังจากก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจดังกล่าวไป โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 30 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา
“ตอนนี้มีฟินเทคได้เข้าคุยประมาณ 10 ราย ซึ่งตอนนี้เขาก็กลับไปเตรียมตัว เพราะกฎ ข้อบังคับเพิ่งออกมาได้ไม่นาน โดยจะต้องผ่านการทดสอบในแซนด์บอกซ์ก่อน จึงจะยื่นขอใบอนุญาตการประกอบธุรกิจจากกระทรวงการคลังได้ โดยหากกระทรวงการคลังออกใบอนุญาตให้ ก็สามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ตอนนี้ยังศึกษาข้อมูลกันอยู่” นางสาวสิริธิดากล่าว
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.สนใจจะทำธุรกิจ P2P lending platform ในระยะข้างหน้า เพราะจะช่วยลดต้นทุนการระดมเงิน จากปัจจุบันที่ต้องระดมเงินฝาก แต่หากทำ P2P lending platform จะเป็นการนำเงินคนอื่นมาปล่อยกู้โดยมี ธอส. เป็นแพลตฟอร์มตัวกลาง เนื่องจาก ธอส.มีระบบรับชำระหนี้รายเดือน และระบบบังคับจำนอง ซึ่งป้องกันปัญหาเรื่องการเรียกเก็บเงินและกรณีผิดนัดชำระหนี้
“เราเอาเงินของคนหนึ่งมาปล่อยกู้ให้อีกคนหนึ่ง โดย ธอส.เป็นแพลตฟอร์มตรงกลางได้ เพราะเรามีระบบเก็บเงินรายเดือน ระบบบังคับจำนอง ส่วนการวิเคราะห์สินเชื่อก็ปกติ แบงก์วิเคราะห์ให้ แล้วก็ประเมินหลักประกัน รับชำระหนี้เงินกู้ และติดตามหนี้” นายฉัตรชัยกล่าว
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การทำธุรกิจ P2P lending platform ขณะนี้ยังมีหลายประเด็นต้องพิจารณา โดยเฉพาะการเรียกเก็บหนี้ ซึ่งหากแพลตฟอร์มการชำระเงินและติดตามหนี้ที่ไม่ใช่แบงก์ก็อาจจะมีปัญหาได้ ดังนั้นช่วงนี้คงต้องรอให้มีผู้ทำหน้าที่แพลตฟอร์มขึ้นมาก่อน โดยเชื่อว่ากลุ่มบริษัทลูกของแบงก์น่าจะสนใจทำธุรกิจนี้กัน
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กรุงศรีฯยังไม่สนใจเข้าไปทำธุรกิจ P2P lending platform เนื่องจากปัจจุบันธนาคารยังแข่งขันบนแพลตฟอร์มแบบเดิมได้อยู่ และกำลังวางระบบภายใน เพื่อให้สอดรับกับการให้บริการปล่อยสินเชื่อผ่านระบบออนไลน์ (digital lending) และระบบการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะช่วยทำให้การบริการสินเชื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังเป็นการลดต้นทุนลงอีกด้วย
นอกจากนี้ การที่ ธปท.ได้อนุญาตให้ใช้ระบบการประเมินเครดิตของผู้กู้ โดยการใช้ข้อมูลรูปแบบใหม่ประกอบการพิจารณา (information-based lending) จะทำให้ธนาคารสามารถทำการวิเคราะห์ลูกค้าก่อนการปล่อยสินเชื่อได้ดีขึ้น และอาจจะทำให้การตัดหนี้สูญลดลงในอนาคตด้วย จึงไม่จำเป็นที่จะต้องปล่อยสินเชื่อผ่าน P2P lending platform
“การเข้าร่วม P2P lending platform ยังต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ที่จะต้องทำกระบวนการการปล่อยสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดี เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามที่กำหนดไว้ อีกทั้งในส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากผู้กู้จะต้องมีประสิทธิภาพมากกว่าปัจจุบัน” นายฐากรกล่าว
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-335056
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you