ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ประเด็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดประเด็นหนึ่ง คือนโยบายประชานิยมที่ผู้แทนพรรคต่างๆสัญญาไว้กับประชาชน จะทำให้ไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแบบที่เวเนซุเอลากำลังประสบอยู่หรือไม่
"คอลัมน์บางขุนพรหมชวนคิด" วันนี้จึงอยากชวนท่านผู้อ่านมาถกกันว่าเป็นความจริงมากน้อยเพียงใด เกิดอะไรขึ้นกับเวเนซุเอลา? : เวเนซุเอลากำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (hyperinflation) กล่าวคือ ราคาสินค้าโดยทั่วไปพุ่งสูงขึ้นถึง 929,000% ต่อปี หรือเปรียบง่ายๆได้ว่าข้าว 1 จานที่เคยซื้อ 30 บาท เมื่อสิ้นปี 60 กลับต้องซื้อจานละเกือบ 3 แสนบาทตอนสิ้นปี 61 นำมาสู่ภาวะขาดแคลนอาหารน้ำสะอาดและยารักษาโรค ส่งผลให้เกิดอาชญากรรมสูงขึ้นมากรวมทั้งประชาชนอพยพออกนอกประเทศ
นอกจากนี้เศรษฐกิจเวเนซุเอลายังหดตัวลงถึง 50% ในช่วงเวลาเพียง 5 ปี ขณะที่ระดับเงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอลงเหลือเพียง 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ สิ้นปี 61 นี่ยังไม่นับรวมปัญหาไฟฟ้าดับเกือบทั้งประเทศที่ทำให้เวเนซุเอลาอยู่ใน "ความมืดมิด" แทบไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์
อะไรทำให้เวเนซุเอลามาถึงจุดนี้?: ภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงของเวเนซุเอลาเกิดขึ้นจากปัญหาทางการคลังที่สะสมมาเป็นเวลานาน ส่วนหนึ่งเกิดจากผลการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจผนวกกับการดำเนินนโยบายประชานิยมโดยสิ้นปี 61 มีสัดส่วนหนี้สาธารณะ 159% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับสูงมาก 150% ต่อจีดีพีตรงกันข้ามกับรายได้หลักของประเทศคือ "น้ำมัน" ลดลงมากในช่วงที่ผ่านมา
นำมาสู่ปัญหาที่รัฐบาลไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้และแทนที่รัฐบาลเวเนซุเอลาจะแก้ปัญหาโดยการรัดเข็มขัดทางการคลังกลับสั่งการให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินเพื่อแลกเป็นเงินตราต่างประเทศไปใช้คืนหนี้ และทำอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง จนไม่มีใครต้องการถือเงินโบลิวาร์ ส่งผลให้แทบไม่มีค่าในที่สุด
แล้วไทยจะเป็นเหมือนเวเนซุเอลาหรือไม่? : น่าจะเป็นไปได้ยากด้วยเหตุผลสำคัญคือ ฐานะการเงินการคลังของไทยมีเสถียรภาพสะท้อนจากสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ 42% ต่อจีดีพี ต่ำกว่าเกณฑ์สากลที่ 60% และมองไปข้างหน้าพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ฉบับใหม่จะช่วยเป็นเกราะป้องกันให้รัฐบาลชุดใดก็ตามที่เข้ามาบริหารประเทศต้องมีวินัยในการจัดหารายได้ ทำงบประมาณและบริหารหนี้สาธารณะอย่างรอบคอบคุ้มค่า
เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยมั่นคงมาก สะท้อนจากเงินสำรองของไทยสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก ทำหน้าที่เป็นกันชนอย่างดี หากมีเหตุที่ทำให้เงินทุนไหลออกในปริมาณมากอย่างฉับพลัน ขณะที่การพึ่งพาเงินกู้ต่างประเทศต่ำมาก สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 35.3% ต่อจีดีพี เทียบกับค่ากลางของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ 37.8% รวมทั้งไทยเกินดุลบัญชีสะพัดอย่างต่อเนื่อง
การจัดพิมพ์และออกใช้ธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีทุนสำรองเงินตราหนุนหลังตามกฎหมาย กล่าวคือ ปัญหาเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาขยายผลร้ายแรงมาถึงวันนี้เพราะธนาคารกลางเวเนซุเอลายังคงต้องพิมพ์เงินเพิ่มตามคำสั่งรัฐบาล และสูญเสียความอิสระในการดำเนินนโยบายแต่ในทางกลับกันธปท. ซึ่งดำรงความเป็นอิสระและดำเนินตามพันธกิจสำคัญคือ "การรักษาเสถียรภาพของเงินตรา”
อย่างไรก็ตาม เมื่อไทยแตกต่างจากเวเนซุเอลา งั้นนโยบายประชานิยมก็ทำได้เรื่อยๆอย่างนั้นหรือ? : นโยบายประชานิยมที่ดีนั้นควรอยู่ภายใต้หลักของการรักษาวินัยทางการเงินการคลังที่รัดกุม และต้องสร้างประโยชน์ในระยะยาว เช่น การส่งเสริมโอกาสให้เกิดความเท่าเทียมในระบบเศรษฐกิจการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่แต่ยกระดับโครงสร้างอื่นๆด้วย อาทิ การศึกษา สังคม และสาธารณสุข อันจะช่วยป้องกันไม่ให้ประเทศไทยต้องประสบปัญหาทางการคลังเหมือนเวเนซุเอลา
การที่สังคมถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียของนโยบายประชานิยมที่พรรคต่างๆ กล่าวถึงตอนหาเสียงเป็นสิ่งที่ดีทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ และเกิดความเข้าใจในความเห็นของกันและกันอย่างไรก็ตาม การถกเถียงนั้นควรอยู่บนหลักของเหตุผล ตรรกะ และข้อมูลจริง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคมครับ!
คอลัมน์ บางขุนพรหมชวนคิด โดย สุพริศร์ สุวรรณิก เศรษฐกรอาวุโส ธปท.
Source: ไทยรัฐ
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
#forex #ลงทุน #pepperstone #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you