สถาบัน ISEAS ของสิงคโปร์ เปิดเผยรายงานชื่อ State of Southeast Asia: 2019 ที่สำรวจความเห็นของคนในวงการต่างๆในอาเซียนกว่า 1 พันคน ในเรื่องสถานการณ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่จีนเริ่มมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากสุดในภูมิภาคนี้
และคาดว่าจะช่วงชิงการเป็นประเทศผู้นำทางการเมืองในภูมิภาค ขณะที่สหรัฐอเมริกาแสดงท่าทีเฉยเมย และไม่สนใจมากขึ้น ต่อภูมิภาคนี้
จากการสำรวจความเห็น มีคนจำนวนไม่มากในอาเซียน ที่มองจีนว่าเป็นมหาอำนาจ ที่มีความเป็นธรรม และเอื้ออาทร ส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ ที่ว่าจีนจะทำในสิ่งถูกต้อง เพื่อสันติภาพโลก ความมั่นคง และความรุ่งเรือง จำนวน 3 ใน 4 ของคนที่ถูกสำรวจ มองว่า จีนจะขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น เพราะสหรัฐฯมีท่าทีไม่สนใจใยดี และถอนตัวออกจากภูมิภาคนี้
ดร. ตัน เซียว มุน (Tang Siew Mun) หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษา ของ ISEAS กล่าวว่า ผลการสำรวจความเห็นแสดงให้เห็นถึง ภาวะที่อาเซียนกำลังเผชิญปัญหาที่ยากลำบาก ในอันที่จะสร้างความสัมพันธ์กับ 2 มหาอำนาจ โดยที่อาเซียนเองก็ไม่ได้มีความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ “ความเชื่อมั่นที่ติดลบของอาเซียนต่อจีน มาจากการถูกแรงกดดันที่จะต้องสร้างสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่กำลังมีอิทธิพลมากขึ้น และมีท่าทีชัดเจนมากขึ้น ในสิ่งที่ตัวเองความต้องการ”
ตัน เซียว มุนกล่าวว่า จีนไม่ได้เป็นอย่างที่ประกาศไว้ว่า “ทุกฝ่ายได้ประโยชน์” (win-win) แม้จีนจะทำให้การค้าแบบทวิภาคกับประเทศสมาชิกอาเซียนเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ก็ไม่สนใจกับการได้เปรียบดุลการค้าโดยรวมกับอาเซียน ที่พุ่งขึ้นเกือบ 70 พันล้านดอลลาร์ การดำเนินการของจีนในทะเลจีนใต้ ก็สร้างความวิตกแก่ภูมิภาคนี้ว่า จีนอาจใช้อำนาจทางการเมืองและทางทหารมากขึ้น โดยประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องมองจีนอย่างเป็นธรรม เมื่อเทียบกับมหาอำนาจเก่า ที่มีบทบาทระดับโลกมายาวนาน
ลมหายใจของมังกร
จากการสำรวจความเห็นของสถาบัน ISEAS หลายคนแสดงความวิตกเรื่องที่ ภูมิภาคนี้จะกลายเป็นสนามแข่งขันระหว่างสหรัฐฯกับจีน เพราะสิ่งนี้จะเป็นเหตุให้การเมืองของภูมิภาค เกิดความขัดแย้ง และแบ่งขั้วเป็นฝักเป็นฝ่ายขึ้นมา รายงานการสำรวจจึงเสนอว่า “ประเทศสมาชิกอาเซียนจำเป็นที่จะต้องระดมทักษะการจัดการปัญหา เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นเบี้ยในเกมอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ”
รายงานของ ISEAS ได้สอบถามว่า มีความเห็นอย่างไรต่อคำถาม 3 ข้อ คือ (1) ฐานะและอิทธิพลของสหรัฐฯที่เป็นมหาอำนาจโลก เมื่อเทียบกับหนึ่งปีที่ผ่านมา (2) บทบาทของรัฐบาลทรัมป์ต่อภูมิภาคนี้ และ (3) ความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และการเป็นประเทศ ที่สร้างความมั่นคงของภูมิภาค จากผลของการสอบถาม ความเห็นทั่วไป มีทัศนะในด้านลบ
ต่อคำถามในเรื่องที่จีนจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจ และผลกระทบที่จะมีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 45.4% ของผู้ที่ตอบคำถามเห็นว่า “จีนจะเป็นประเทศมหาอำนาจ ที่ต้องการแก้ไขแบบแผนที่เป็นอยู่ (revisionist power) โดยประสงค์ที่จะเปลี่ยนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เป็นเขตอิทธิพล” ความเห็นดังกล่าวมาจากฟิลิปปินส์ 66.4% เวียดนาม 60.7% สิงคโปร์ 57% กัมพูชา 50% ไทย 45.1% และอินโดนีเซีย 37.7%
ส่วนความเห็นที่มีลำดับรองลงไป 35.3% คิดว่า “เมื่อสหรัฐฯถอนตัวออกไป จีนจะเป็นทางเลือกการเป็นผู้นำให้กับภูมิภาค” ทัศนะดังกล่าวมีสูงในบรูไน คือ 61.4% รองลงไปคือ มาเลเซีย 44.8% และเมียนมาร์ 32.1%
ความเห็นต่อ “การริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative – BRI)โครงการที่เป็นธงนำของจีน การสำรวจได้ทัศนะที่ปรากฎออกมาไม่ชัดเชน คือ มีทั้งทัศนะที่มองด้านดีและด้านเสีย 47% เห็นว่าโครงการ BRI “จะทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียน มีวงโคจรเข้าใกล้จีนมากขึ้น” ความวิตกเรื่องสมาชิกอาเซียนกลายเป็นวงโคจรของจีน มีสูงในสิงคโปร์ คือ 60.2% เวียดนาม 58.7% บรูไน 52.3% มาเลเซีย 51.8% ไทย 51.3% อินโดนีเซีย 44.4% และฟิลิปปินส์ 38.7%
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความเห็น 35% ยอมรับว่า เงินกู้จากจีนเป็นแหล่งที่สนองเงินลงทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นของประเทศในภูมิภาคนี้ ความเห็นอีก 30.7% มองว่าเรื่องการขาดความโปร่งใส และคิดว่าเป็นเรื่องเร็วเกินไป ที่จะวิเคราะห์ผลกระทบของ BRI เนื่องจากข้อมูลยังไม่เพียงพอ
ความเห็นของผู้ตอบการสอบถาม จากประเทศที่มีโครงการ BRI หรือกำลังเจรจาในเรื่องนี้ ถึงบทเรียนสำหรับประเทศตัวเองจากโครงการ BRI ในอดีต เช่น กรณีท่าเรือ Hambantota ในศรีลังกา และโครงการรถไฟ East Coast Rail Link ของมาเลเซีย คำตอบส่วนใหญ่ คือ 70% เห็นว่า รัฐบาลประเทศตัวเอง ควรระมัดระวังในการเจรจาโครงการ BRI เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสภาพหนี้สินที่มีปัญหากับจีน
ผู้ตอบการสอบถามของ ISEAS จำนวน 73.3% เห็นว่า จีนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจต่ออาเซียนมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับความสัมพันธ์ทางการค้าที่เป็นอยู่ นับจากปี 2009 จีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุดของอาเซียน และปี 2017 มีมูลค่าการค้าเกิน 500 พันล้านดอลลาร์ ส่วนที่มองว่าสหรัฐฯมีอิทธิพลมากสุด 7.9% ญี่ปุ่น 6.2% สหภาพยุโรป 1.7% และรัสเซีย 0.1% แต่ที่ผลการสำรวจสร้างที่ความประหลาดใจมากสุดคือ ความเห็น 10.7% มองว่าอาเซียนเองมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของภูมิภาคนี้
การเผชิญหน้า จีนกับสหรัฐฯ
เนื่องจากจีนมีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูฐานะของตัวเองในเวทีโลก และภูมิภาคเอเชียอาคเนย์จะเป็นพื้นที่ทดสอบในเรื่องนี้ของจีน ขณะเดียวกัน สหรัฐฯก็ไม่ยินดีที่จะละทิ้งฐานะมหาอำนาจนำ โดยไม่ต่อสู้ในเรื่องนี้ กับคำถามที่ว่า จีนกับสหรัฐฯจะเผชิญหน้ากันในภูมิภาคนี้หรือไม่ 68.4% ของผู้ตอบคำถาม คิดว่าจะเกิดสถานการณ์ดังกล่าว เพราะ 2 ประเทศนี้ ต่างก็มองอีกฝ่ายหนึ่งว่า เป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์
ในทัศนะที่ต่างไปอีกขั้วหนึ่ง ผู้ตอบคำถาม 22.5% เห็นว่า จีนกับสหรัฐฯจะสามารถแก้ปัญหาที่แตกต่างกันได้ โดยสามารถตกลงกันได้ ในเรื่องความสัมพันธ์ที่จะดำเนินไปอย่างประสบความสำเร็จ และสองฝ่ายพึงพอใจ แต่ 62% ก็มีความวิตกกังวล ที่อาเซียน “จะกลายเป็นพื้นที่การแข่งขันของมหาอำนาจสำคัญ” และการเมืองของภูมิภาคจะเกิดการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย
ความเห็นที่มีต่อยุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิก” ของสหรัฐฯ ที่จะตอบโต้การได้เปรียบของจีนในภูมิภาคนี้ ผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ 61.3% คิดว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวไม่ชัดเจน ต้องการรายละเอียดมากขึ้น ความเห็น 25.4% มองว่า แนวคิดนี้ต้องการปิดล้อมจีน และ 17.3% เห็นว่า เป็นแนวคิดที่จะทำให้ฐานะของอาเซียน ที่เกี่ยงข้องกับภูมิภาคนี้ อ่อนแอลงไป
ยุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิก” ได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เดือนเมษายน 2017 ญี่ปุ่นเผยแพร่ยุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง” (Free and Open Indo-Pacific) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่น ที่ต้องการให้เกิดสันติภาพ เดือนพฤศจิกายน 2017 ออสเตรเลียก็ประกาศแนวทางนโยบายต่างประเทศ ที่หัวใจสำคัญคือการปกป้อง “ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่เปิดกว้าง ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และเจริญรุ่งเรือง”
บทความของ John Lee เรื่อง ASEAN Must Choose: America or China? พิมพ์ใน nationalinterest.org เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมนี้ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ดังกล่าว ปัจจุบันเรียกว่า “วิสัยทัศน์อินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง” หรือ FOIP แต่อาเซียนยังลังเลที่จะให้การสนับสนุน เพราะเป็นแนวคิดที่ขยายภูมิยุทธศาสตร์ให้กว้างออกไป ซึ่งจะทำให้ฐานะการเป็นศูนย์กลางทางการทูตของอาเซียนลดลง การริเริ่มที่ไม่ได้มาจากอาเซียน ก็แสดงให้เห็นว่า แนวคิดนี้ได้ก้าวข้ามอาเซียนไป
อาเซียนไว้วางใจใครมากสุด
รายงานสำรวจความเห็นของ ISEAS ตั้งคำถามว่า บรรดาประเทศมหาอำนาจต่างๆ เช่น จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ มีความเชื่อมั่นในประเทศไหนว่า จะทำเรื่องที่ถูกต้อง ในการรักษาสันติภาพโลก ความมั่นคง ความรุ่งเรือง และธรรมาภิบาล 51.% มีความเชื่อมั่นน้อยหรือไม่มีเลย ที่จีนจะมีบทบาทดังกล่าว ผู้ตอบคำถามที่มีทัศนะด้านลบต่อจีนมากสุด มาจากเวียดนาม 73.4% ฟิลิปปินส์ 66.6% อินโดนีเซีย 60.9% และกัมพูชา 58.3% แม้จะเป็นประเทศที่ถูกเรียกว่าเอนเอียงไปทางจีน
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผู้คนในอาเซียน มีทัศนะที่นิยมชมชอบมากที่สุด 65.9% ของผู้ที่ถูกสอบถาม กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นจะทำสิ่งที่ถูกต้องในเรื่องกิจการของโลก ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศสำคัญๆ ที่ได้รับความเชื่อมั่นมากสุด โดยมาจากกัมพูชา 87.5% ฟิลิปปินส์ 82.7% และเมียนมาร์ 71.9%
ทัศนะของคนในอาเซียนต่อสหรัฐฯ เป็นแบบสิ้นหวัง 50.6% ไม่มีความเชื่อมั่นต่อสหรัฐฯ ที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องในกิจการของโลก การถอนตัวจากข้อตกลงปารีสเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การวิจารณ์โจมตีการค้าเสรี และท่าทีที่รังเกียจต่อระบบพหุภาคี คงจะมีส่วนทำให้เกิดทัศนะด้านลบต่อสหรัฐฯ ทัศนะมองสหรัฐฯในด้านลบ มาจากบรูไน 64.4% มาเลเซีย 63.9% และไทย 60.5% แต่ในฟิลิปปินส์และเวียดนาม จำนวน 45.4% และ 45.2% ยังเชื่อมั่นต่อสหรัฐฯ
รายงานของ ISEAS สรุปอันดับความไว้วางใจ ของคนในอาเซียนต่อมหาประเทศ ไว้ดังนี้ ญี่ปุ่น 65.9% สหภาพยุโรป 41.3% สหรัฐฯ 27.3% อินเดีย 21.7% และจีน 19.6% ส่วนความไม่ไว้วางใจต่อมหาประเทศ มีลำดับดังนี้ จีน 51.5% สหรัฐฯ 50.6% อินเดีย 45.6% สหภาพยุโรป 35.2% และญี่ปุ่น 17%
โดย ปรีดี บุญซื่อ
Source: ThaiPublica
https://thaipublica.org/2019/01/pridi127/
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
สนับสนุนข่าวโดย ICMarkets
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/