ไอทีหลั่งเลือด เขย่าตลาดหุ้นโลก

นับตั้งแต่เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2018 นี้ ความปั่นป่วนและความไม่แน่นอนทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก ได้ดาหน้าเข้ามาเขย่าตลาดหุ้นติดต่อกันหลายระลอก และในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกเคลื่อนไหวอ่อนแรง โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐ

ซึ่งดัชนีดาวโจนส์ ร่วงหนักถึง 551.80 จุด หรือ 2.21% ปิดที่ 24,465.64 จุด เมื่อวันอังคาร เช่นเดียวกับดัชนีแนสแด็ก และดัชนี เอส แอนด์ พี 500 ปิดตลาดลดลง 1.7% และ 1.82% ตามลำดับ

สำหรับตัวการใหญ่ฉุดตลาดหุ้นทั่วโลก มาจากแรงเทขาย "หุ้นกลุ่มเทคโนโนโลยี" อันหนักหน่วง นำโดย 5 ยักษ์ไอที คือ เฟซบุ๊ก แอปเปิ้ล แอมะซอน เน็ตฟลิกซ์ และกูเกิล ภายใต้ชื่อเล่นว่า FAANG

ความรุนแรงจากแรงเทขาย เห็นได้อย่างชัดเจนในตลาดหุ้นแนสแด็ก ที่มีสัดส่วนหุ้นเทคโนโลยีกว่า 70% ร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน และปรับลง 14.6% จากช่วงปิดทำนิวไฮเมื่อปลายเดือน ส.ค.

ส่วนหุ้นกลุ่ม FAANG เองนั้น เผชิญภาวะหลั่งเลือดหนักหน่วง โดยมูลค่าตลาดรวมกันหายไปถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 32 ล้านล้านบาท) นับตั้งแต่พุ่งแตะระดับนิวไฮเมื่อ 52 สัปดาห์ก่อน

แม้ในแง่หนึ่ง การร่วงหนักของหุ้นกลุ่มไอทีเป็นโอกาสดีที่จะได้ช้อนซื้อหุ้นที่เติบโตแข็งแกร่ง โดยทั้งแอมะซอนและแอปเปิ้ลนั้น มีมูลค่าตลาดพุ่งทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์ไปช่วงก่อนหน้านี้ แต่อีกแง่หนึ่งนั้น การหลั่งเลือดของหุ้นเทคโนโลยีก็เป็นตัวสะท้อนความน่ากังวลยิ่งขึ้นของทิศทางเศรษฐกิจโลก

ก่อนหน้านี้ หุ้นไอทีทะยานขึ้นแข็งแกร่งจากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังสดใส แต่นับตั้งแต่ช่วงหลังปี 2017 สัญญาณความผันผวนก็เริ่มปรากฏขึ้น หลังหลายฝ่ายมองว่า เศรษฐกิจโลกเติบโตถึงจุดพีกไปแล้ว และกำลังเข้าสู่ช่วงชะลอตัวลงในวงกว้างในปี 2019 ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจจากนโยบายหั่นภาษีของรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ เริ่มแผ่วลง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลชัดเจนต่อเศรษฐกิจยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ศึกการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังส่งผลกระทบด้านลบโดยตรงต่อการค้าทั่วโลก ซึ่งยิ่งเพิ่มแรงฉุดเศรษฐกิจโลกลงไปอีก โดยภาคเทคโนโลยีถือเป็นอีกแนวรบหลักระหว่างสองชาติมหาอำนาจ และแนวรบที่ว่าดูจะขยายออกไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เรื่องปัญหาบีบเอกชนถ่ายโอนเทคโนโลยี การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไปจนถึงเรื่องเซมิคอนดักเตอร์

สถานการณ์ดังกล่าวจึงส่งผลให้เกิดความผันผวนขึ้นในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เพราะเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพอร์ต หันไปลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มีแนวโน้มเสี่ยงน้อยกว่าแทน

"สินทรัพย์มูลค่าสูงมากมีแนวโน้มอ่อนไหวมากที่สุด จากความวิตกเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาค" คูนชอว์ นักกลยุทธ์จากธนาคาร ยูบีพี กล่าว

นอกจากความกังวลเศรษฐกิจโตชะลอลง บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนแล้ว ยังทำให้บรรดาผู้บริโภคเริ่มลดการจับจ่ายใช้สอยลง ซึ่งก็มีผลต่อแนวโน้มผลประกอบการของบรรดาบริษัทไอที โดยเฉพาะกลุ่ม FAANG ที่ขายสินค้าและบริการเน้นด้านไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคโดยเฉพาะ

"แอปเปิ้ล" ถือได้ว่าเผชิญแรงกดดันหนักหน่วง และเป็นบริษทล่าสุดที่คาดว่าจะจำหน่ายสินค้าได้น้อยลง โดยเมื่อไม่นานนี้ มีรายงานระบุว่า บริษัทได้สั่งให้ซัพพลายเออร์ลดจำนวนการผลิตไอโฟนรุ่นใหม่ 3 รุ่น ได้แก่ เท็นเอส แม็กซ์ เท็นเอส และเท็นอาร์ เนื่องจากคาดว่ายอดขายจะไม่ถึงเป้า หลังต้องเผชิญการแข่งขันที่ดุเดือดจากสมาร์ทโฟนสัญชาติจีน ซึ่งมีราคาที่ถูกกว่า

ก่อนหน้านี้ รอยเตอร์สรายงานว่า เมื่อปลายเดือน ต.ค. แอปเปิ้ลได้วางแผนลดการผลิตไอโฟน เท็นอาร์ลงสูงสุด 1 ใน 3 จากราว 70 ล้านเครื่อง

ข่าวดังกล่าวส่งผลหุ้นแอปเปิ้ลร่วงลง 4.9% เมื่อวันอังคาร และขณะนี้ปรับลงมา 24% นับตั้งแต่พุ่งแตะนิวไฮเมื่อเดือน ต.ค. ส่งผลให้มูลค่าตลาดของแอปเปิ้ลหายไปถึง 2.65 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 8.7 ล้านล้านบาท) มากกว่ามูลค่าของบริษัทรายใหญ่ในภาคส่วนอื่น เช่น ไฟเซอร์ เชฟรอน หรือ พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล

สำหรับ "แอมะซอน" แม้หุ้นร่วงลงมา 27% จากระดับสูงสุดในปี 2018 เมื่อเดือน ก.ย. แต่ก็ยังนับว่าปรับตัวขึ้นมา 28% ในปีนี้

อย่างไรก็ดี หุ้นแอมะซอนปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดเผยคาดการณ์ไตรมาส 4 เมื่อเดือน ต.ค. โดยแอมะซอนคาดการณ์ว่า รายได้ไตรมาส 4 จะอยู่ที่ราว 6.6-7.2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 2.1-2.3 ล้านล้านบาท) ต่ำกว่าคาดการณ์นักวิเคราะห์ที่ 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 2.4 ล้านล้านบาท)

ทั้งนี้ คาดการณ์รายได้ไตรมาส 4 ที่อ่อนแรงนับว่าน่าเป็นห่วง เพราะไตรมาสสุดท้ายของปี ถือเป็นช่วงกอบโกยเงินเข้ากระเป๋าได้มากที่สุดสำหรับธุรกิจค้าปลีก เพราะเต็มไปด้วยเทศกาลจับจ่ายใช้สอย ทั้งแบล็กฟรายเดย์และวันขอบคุณพระเจ้าเดือนนี้

ขณะที่ "เฟซบุ๊ก" นั้น หุ้นร่วง 3% เมื่อวันจันทร์ แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2017 ซึ่งร่วงต่อเนื่องหลังวอลสตรีท เจอร์นัล รายงานว่า มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊ก ระบุว่า เชอริล แซนด์เบิร์ก ผู้กุมบังเหียนเบอร์ 2 ของบริษัท ต้องรับผิดชอบกรณีข้อมูลผู้ใช้กว่า 87 ล้านราย รั่วไหลไปยัง เคมบริดจ์ อนาลิติกา บริษัทวิจัยในอังกฤษ ซึ่งนำข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบ

กรณีของเฟซบุ๊กค่อนข้างแตกต่างจากแอปเปิ้ลและแอมะซอนอยู่สักหน่อย เนื่องจากเป็นเรื่องความหละหลวมในการปกป้องข้อมูล จนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของบริษัท

ด้าน "อัลฟาเบท" บริษัทแม่ของ กูเกิล ก็เผชิญปัญหาคล้ายๆ กัน โดยมีรายงานว่าเกิดกรณีข้อมูลผู้ใช้ กูเกิลพลัส 5 แสนรายรั่วไหล นับตั้งแต่เดือน มี.ค.ปีนี้

นอกจากกรณีดังกล่าวกูเกิลยังเผชิญข่าวอื้อฉาวเรื่องอดีตผู้บริหารล่วงละเมิดทางเพศพนักงาน และมีรายงานว่า บริษัทจ่ายเงิน 90 ล้านดอลลาร์ ให้ผู้บริหารคนนั้นลาออก ทำให้พนักงานกูเกิลทั่วโลกร่วมใจประท้วงเดินออกจากออฟฟิศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ข่าวดังกล่าวทำให้หุ้นอัลฟาเบท ร่วงลง 3.6% เมื่อวันจันทร์ ปิดที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. และเคลื่อนไหวเข้าสู่ตลาดหมีเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี

ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก ทิศทางอ่อนแรงของหุ้นเทคโนโลยีคาดว่าจะยังไม่สิ้นสุดลงในเวลาอันสั้น และอาจเป็นอีกแรงกดดันหลักระลอกต่อไปต่อตลาดหุ้นทั่วโลกในปีหน้านี้

โดย นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

Source: Posttoday

เพิ่มเติม
- U.S. Stocks Just Erased All Their 2018 Gains. Here’s Why.
คลิก

- Tech's 'FAANG' stocks have lost more than $1 trillion and counting from highs amid tech rout
คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

สนับสนุนข่าวโดย ICMarkets
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"