"แบงก์พาณิชย์" ส่อเผชิญศึกหนักจากมาตรฐานบัญชีใหม่ หลังแบกภาระ "หนี้เอสเอ็ม" ร่วม 3.8 แสนล้าน ส่งผลภาระตั้งสำรองปีหน้าเพิ่มต่อเนื่อง เผยหลายแบงก์เริ่มตุนเงินกองทุน แต่หลายแห่งยังไม่เพียงพอ "บัณฑูร" ยอมรับเกณฑ์ใหม่ทำปล่อยกู้ลำบากขึ้น
แต่เชื่อดีต่อระบบป้องแบงก์พังจากการปล่อยกู้เกินตัว
นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทหารไทย(ทีเอ็มอี) กล่าวว่า จากการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) เชื่อว่า จะมีผลกระทบต่อภาคธนาคารปี 2562 มากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่ามาตรฐานบัญชีใหม่จะเลื่อนบังคับใช้หรือไม่ แต่แบงก์พาณิชย์ก็ต้องเตรียม พร้อมโดยทยอยตั้งสำรองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ แบงก์ที่มีสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (เอสเอ็ม) ที่อาจต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นสำหรับสินเชื่อที่เริ่มมีความเสี่ยงสูง แม้จะยังไม่เป็นเอ็นพีแอล
โดยเกณฑ์ใหม่ กำหนดให้ต้องตั้งสำรองให้ครอบคลุมระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อ เช่นสินเชื่อบ้าน อดีตแบงก์ตั้งสำรองเพียง 12 เดือน แต่อนาคตหากกลุ่มนี้เริ่มผิดนัดชำระหนี้ และแบงก์มองว่ามีโอกาสเกิดหนี้เสียอีกกลุ่มนี้จะต้องตั้งสำรองจนครบจำนวนการผ่อน เช่น 15 ปี ที่คาดว่าจะผ่อนหมดเป็นต้น ทั้งนี้หากดูเอสเอ็มของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 3 พบว่าอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 3.86 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลที่อยู่ที่ราว 4.5 แสนล้านบาท ดังนั้น หนี้เอสเอ็มเหล่านี้จะสร้างภาระ การตั้งสำรองให้แบงก์ค่อนข้างมาก ในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมา หลายธนาคารมีการตั้งสำรองเผื่อ ความเสี่ยง จากเกณฑ์ใหม่ให้เห็นบ้างแล้ว ทำให้ปัจจุบันบางสถาบันการเงินมีเงิน กองทุน (Loan loss reserve) หรือ เงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ของแต่ละแบงก์อยู่ในระดับสูง บางแบงก์สูงถึง 160% แล้วในปัจจุบัน
ทั้งนี้หากดูหนี้เอสเอ็มของ 5 แบงก์ใหญ่ เช่น กสิกรไทย กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ พบว่าแบงก์ที่มีเอสเอ็ม มากที่สุด คือ กรุงไทย อยู่ที่ 7.3 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ กรุงศรีฯ อยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท และไทยพาณิชย์ 5 หมื่นล้านบาท กสิกร 3.8 หมื่นล้านบาท และ กรุงเทพ 3.7 หมื่นล้านบาท
ขณะที่หากดูเงินกองทุน พบว่า สิ้นไตรมาส 3 สูงที่สุดคือธนาคารกรุงเทพ ที่ 180% เพิ่มขึ้นหากเทียบกับสิ้นปีก่อนที่อยู่เพียง160% ถัดมาธนาคารกรุงศรี 161% เพิ่มขึ้นจาก 147% ,ธนาคารกสิกรไทย 156% จาก148% ,ธนาคารไทยพาณิชย์ 145% จาก137% และธนาคารกรุงไทย 123% จาก120% ดังนั้นเป็นไปได้ว่า แบงก์ไหนที่ยังมีเงินกองทุนที่ยังอยู่ระดับต่ำไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงตามเกณฑ์ ก็อาจต้องสำรองเพิ่มขึ้นมากในระยะข้างหน้านี้
ด้านนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวยอมรับว่า ภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ที่จะบังคับใช้ในระยะ ข้างหน้า จะมีผลทำให้ภาระของธนาคาร เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาระการตั้งสำรอง ที่อาจต้องเพิ่มขึ้น เพื่อให้ครอบคลุม ความเสี่ยงจากสินเชื่อที่มีโอกาสจะเสียในอนาคต ดังนั้นภายใต้เกณฑ์นี้ ก็อาจ ทำให้แบงก์ต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ดังนั้นแนวโน้มในระยะข้างหน้า ก็อาจเห็นแบงก์มีการตั้งสำรองสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามต้องดูคุณภาพพอร์ต สินเชื่อด้วย ว่าคุณภาพเป็นอย่างไร และ การตั้งสำรองปัจจุบันเพียงพอ และ ครอบคลุมความเสี่ยงแล้วหรือไม่ แต่ เชื่อว่าเกณฑ์นี้ก็เป็นเกณฑ์ที่ดี เพราะจะช่วยป้องกันระบบแบงก์พังจากการปล่อยกู้ เกินตัวได้
"ภาระสำรองของแบงก์ก็อาจเพิ่มขึ้น อุปสรรคเหล่านี้มีอยู่แล้ว แบงก์ก็ต้องทำ แบงก์ก็ต้องระวังขึ้น เมื่อมีเกณฑ์นี้เข้ามา ไม่ให้ปล่อยกู้เกินตัว ทำเกินตัว ให้มีทุนที่พอเพียง ซึ่งกฎที่ออกมาก็เพราะที่ผ่านมา ระบบแบงก์พังเป็นครั้งคราว ดังนั้นคนที่ควบคุมก็บอกว่า พังทีมันก็ยุ่งทั้งระบบ งั้นก็ต้องมีเกณฑ์พวกนี้มากำกับไม่ให้แบงก์ทำเกินตัว แต่เกณฑ์นี้ก็ทำให้แบงก์ปล่อยกู้ลำบากขึ้น หนี้เสียก็ต้องสำรองมากขึ้น เช่น เอสเอ็มอีที่มีความเสี่ยงกว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆ ไม่งั้นคนปล่อยกู้คงไม่คิดดอกเบี้ยเพิ่มในกลุ่มนี้ เพราะกลุ่มนี้เสี่ยงสูงกว่า ต้องสำรองมากกว่า แต่การสำรองก็ต้องดูจังหวะว่าเราควบคุมความเสี่ยงได้แค่ไหน ถึงจะชี้วัดได้ว่าจะต้องสำรองเพิ่มขึ้นขนาดไหนในปีหน้า ไม่ได้ปล่อยเอสเอ็มอี แล้วจะเสียเสมอไป แต่ต้องดูลักษณะพอร์ตโดยรวมด้วย" นายบัณฑูร กล่าว
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารยังต่ำกว่าคู่เทียบ โดยอยู่เพียง 123% ในปัจจุบัน หากเทียบกับคู่เทียบที่เกิน 130-150% ดังนั้นในระยะถัดไปธนาคารก็ต้องเพิ่มเงินกองทุนส่วนนี้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เทียบกับ คู่เทียบให้ได้ และเพื่อรองรับเกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่ แต่ภายในไตรมาส4นี้จะเห็นเงินกองทุนของธนาคารขึ้นไปแตะ 130% หรือไม่ อาจไม่ได้เร็วขนาดนั้น แต่จะทยอยตั้งเพื่อให้เกิดความเหมาะสม
"เราพร้อมตั้งสำรอง แต่ก็ต้องดูโมเดลมาตรฐานบัญชีใหม่ที่ธปท.ออกมาด้วย กระบวนการเราพร้อมอยู่แล้ว แต่การที่มีหนี้เสียเยอะ หนี้เอสเอ็มเยอะเหล่านี้ก็ยอมรับว่าเป็นภาระต่อการตั้งสำรองให้เพิ่มขึ้น เหล่านี้ คือประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา ซึ่งวันนี้เราก็ทยอยตั้งสำรองแล้ว ไม่ใช่ตั้งตูมเดียว แต่วันนี้ยังไม่เยอะมาก ก็ต้องทยอยตั้ง ต่อเนื่องในปีหน้า" นายผยงกล่าว
Source: กรุงเทพธุรกิจ
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/