การปรับขึ้นอันดับเครดิตประเทศไทยของสถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำของโลกอย่าง เอสแอนด์พี โกลบอล เรตติงส์ (เอสแอนด์พี), บริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส, บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จะยังไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะหน่วยงานจัดอันดับเหล่านี้กำลังจับตามอง
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างช้าในเดือน พ.ค. 2562
สำหรับการจัดอันดับเครดิตของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยภาพรวมก็จะเกาะไปกับอันดับเครดิตของประเทศ และภาวะเศรษฐกิจ เพราะจะส่งผล กระทบต่อผลประกอบการโดยตรงว่า จะดีหรือไม่ดีอย่างไร
ในปี 2560 สถาบันจัดอันดับเครดิตทั้งหมดได้ให้มุมมองเชิงลบ (Negative) ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีประเด็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ทำให้การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น รวมทั้งการลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เป็นแรงกดดันกำไร
แต่ในปีนี้ หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 11 แห่ง ประกาศผลกำไรงวด 9 เดือนของ ปี 2561 โดยมีกำไรสุทธิรวม 1.61 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.02% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.45 แสนล้านบาท
ขณะที่กำไรในงวดไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิรวม 5.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.12% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4.74 หมื่นล้านบาท
การเพิ่มขึ้นของกำไรเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีรายได้จาก ค่าธรรมเนียมลดลงจากการเปิดให้โอนเงินฟรีค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกรรมที่ทำผ่านออนไลน์ แต่การที่สินเชื่อขยายตัวมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจก็ทำให้กำไรดีขึ้น โดยไตรมาส 3 ธนาคาร มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น หรือ 2.62% และมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ระดับ 3.43%
ดังนั้น มุมมองของสถาบันจัดอันดับเครดิตน่าจะมองธนาคารพาณิชย์ของไทยน่าจะดีขึ้น
พาสันติ์ สิงหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสถาบันการเงิน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วงเดือน พ.ย.นี้เป็นช่วงเวลาที่ฟิทช์จะประเมินการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิตเรตติ้ง) บริษัทจดทะเบียน ประจำปี 2562 โดยแนวโน้มกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย มีแนวโน้มคงมุมมองอันดับเครดิตที่ระดับ มีเสถียรภาพ (Stable) ต่อเนื่องจากปี 2561
ก่อนหน้านี้ ฟิทช์ได้ให้มุมมอง เชิงลบ แต่การปล่อยสินเชื่อเติบโตโดยได้อานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องที่ระดับ 4% แนวโน้มคุณภาพสินเชื่อปรับดีขึ้น หลังเอ็นพีแอลผ่าน จุดสูงสุดไปแล้ว ทำให้ภาระการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลง และต้นทุนการปล่อยสินเชื่อ (เครดิตคอสต์) ดีขึ้น
ส่วนปัจจัยความเสี่ยงต้นทุนจากการกำกับดูแล ทั้งมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (IFRS9) และเกณฑ์บาเซิล 3 นั้น มองว่า ไม่มีผลกระทบกับภาพรวมผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีการดำรงเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง และเตรียมพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง
"แม้ว่าแบงก์มีค่าใช้จ่ายลงทุน ด้านเทคโนโลยีมาก เพื่อรองรับการปรับไปสู่บริการดิจิทัล แต่เราพบว่าแบงก์สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี ประกอบกับค่าใช้จ่ายตั้งสำรองลดลงจากคุณภาพสินเชื่อดีขึ้น ส่งผลให้
ต้นทุนต่อรายได้ (Cost to Income) ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังมีฐานะแข็งแกร่งจากเงินกองทุน เพิ่มขึ้น ภายใต้ความสามารถสร้างรายได้ที่อยู่ในเกณฑ์ดี" พาสันติ์ กล่าว
ในมุมของ เอสแอนด์พี โกลบอล เรตติงส์ สถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำ มองว่า ในปีนี้พัฒนาการของ ภาคธนาคารพาณิชย์ไทยสะท้อนว่า เริ่มเข้าสู่ทิศทางด้านบวก ถือเป็นสัญญาณสิ้นสุดวงจรขาลงแล้ว เป็นผลพวงจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว สินเชื่อน่าจะขยายตัวที่ 7%
อย่างไรก็ดี หากดูข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าระยะยาวการเติบโตของสินเชื่อมีแนวโน้มลดลง จากอดีตเคยเติบโตด้วยตัวเลขสองหลักก็จะเติบโตต่ำในตัวเลขหลักเดียว ส่วนหนึ่งเพราะผู้ประกอบการหันไปออกตราสารหนี้ เป็นทางเลือกแทนกู้เงินธนาคารพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ มีรายได้ด้านดอกเบี้ยจากการปล่อย สินเชื่อ 60-70% ของรายได้ทั้งหมด ดังนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อผลประกอบการได้สำหรับการเลื่อนบังคับใช้มาตรฐาน
การรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้อง กับเครื่องมือทางการเงิน (IFRS9) จากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นวันที่ 1 ม.ค. 2565 ก็จะไม่มีผลต่อ ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากธนาคารทุกแห่งได้เพิ่มการสำรองหนี้ตามนิยามใหม่และเพิ่มเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ไปเรื่อยๆ มาหลายปี จนเกือบทุกธนาคารเป็นไปตามมาตรฐานบัญชีใหม่แล้ว
นอกจากนี้ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกเกณฑ์กำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย และอีกหลายนโยบายที่ ธปท.จะดำเนินการ ก็ล้วนแต่จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่ง
ดังนั้น ในปีนี้อาจจะยังไม่เห็นบริษัทจัดอันดับเครดิตรายไหนเลื่อนชั้นเครดิตสถาบันการเงินไทย แต่ในปีหน้าหากเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี ธนาคารพาณิชย์ปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ และยังรักษาอัตราการขยายตัวของกำไร ควบคุมหนี้เสียให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปได้ ก็มีโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์ไทยจะถูกทบทวนอันดับเครดิตดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการระดมทุน ในอนาคต
โดย ชลลดา อิงศรีสว่าง
Source: Posttoday
Cr.Sayan Rujiramora
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/