อย่าประมาทวิกฤตตลาดเกิดใหม่

แรงกระทบของการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น ตุรกี และอาร์เจนตินา ต่อตลาดการเงินโลก นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ล่าสุด สัปดาห์ที่แล้ว ตลาดหุ้น ค่าเงิน และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของเศรษฐกิจ

ประเทศตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกได้รับผลกระทบทั่วหน้า คือ หุ้นตก ค่าเงินอ่อนลง และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับสูงขึ้น ทั้งในเอเชีย ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

ที่สำคัญ การปรับลดดังกล่าวมีต่อเนื่องในขนาดที่เกินปกติ ชี้ว่า ภาวะสั่นคลอนของตลาดการเงินโลกขณะนี้ น่าเป็นห่วง และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเสี่ยงสูงที่อาจเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่อีกครั้ง นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

เฉพาะภูมิภาคเอเชีย ทุกประเทศขณะนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความอ่อนแอดังกล่าว ราคาหุ้นปรับลดลงต่อเนื่องในทุกตลาด ขณะที่ค่าเงินของประเทศในเอเชียก็โน้มอ่อนค่าลงเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นจีน ฮ่องกง อินเดีย ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ที่หนักมาก คือ อินโดนีเซีย ที่ราคาหุ้นปรับลดลงมาก และค่าเงินรูเปียห์ก็อ่อนค่าลงกว่าเก้าเปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ต้นปี จนอยู่ระดับใกล้เคียงกับตอนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียเมื่อ 20 ปีก่อน

นอกเอเชีย ผลกระทบก็มีความรุนแรงไม่ต่างกัน แอฟริกาใต้เจอภาวะอ่อนค่าของเงินและหุ้นตกจนเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ในตะวันออกกลาง สถานการณ์ลามไปสู่ประเทศที่มีฐานะการเงินเข้มแข็งอย่างซาอุดิอาระเบีย

ขณะที่ประเทศที่มีปัญหาหนักอย่างตุรกีและอาร์เจนตินา อาการของเศรษฐกิจก็ยิ่งแย่ลงมากขึ้น ตุรกีมีอาการเลือดไหลไม่หยุดจากเงินทุนไหลออก หุ้นตก และค่าเงินที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ขณะที่อาร์เจนตินาเร่งขอเบิกเงินช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟที่ได้ตกลงไว้ เพราะเจออาการในลักษณะเดียวกัน ทั้งหมดสร้างความไม่มั่นใจต่อนักลงทุนทั่วโลกเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ จนส่งผลกระทบไปทั่ว

ต้นตอสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความเป็นหนี้ในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 ความอ่อนแอของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรม เช่น สหรัฐและยุโรป ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศตลาดเกิดใหม่มากเพื่อหาผลตอบแทน ทั้งในรูปการลงทุนในหุ้นและการปล่อยกู้เป็นเงินตราต่างประเทศ

ผลคือ ความเป็นหนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวจาก 21 ล้านล้านดอลล่าร์ ปี 2007 เป็น 63 ล้านล้านดอลล่าร์ในปี 2017 หนี้เหล่านี้ ทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่สามารถใช้จ่ายได้อย่างเกินตัวและเติบโตมากในช่วงที่ผ่านมา จนเกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง

แต่หนี้เหล่านี้ต้องชำระคืน จ่ายดอกเบี้ย และความสามารถในการชำระหนี้ก็มาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจเพื่อให้มีรายได้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องไม่สูง และค่าเงินของประเทศที่เป็นหนี้ที่ไม่ควรอ่อนค่ามาก เพื่อไม่สร้างปัญหาต่อการชำระหนี้ ปัจจุบันความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่ถูกกระทบ ทั้งจากอัตราดอกเบี้ยเงินดอลล่าร์ที่ปรับสูงขึ้นจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ จากค่าเงินดอลล่าร์ที่แข็งค่าจากเงินทุนต่างประเทศที่ไหลกลับสหรัฐ และจากเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่เองที่อ่อนแรงลงเพราะปัญหาเงินทุนไหลออก

ทั้งหมดกระทบความสามารถในการชำระหนี้ นอกจากนี้ก็มีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่กระทบการขยายตัวของการค้าโลก กระทบการส่งออกของประเทศตลาดเกิดใหม่ และความสามารถในการหารายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ เหล่านี้ได้ประดังเข้ามาทำให้ในประเทศที่มีหนี้มาก เช่น ตุรกีและอาร์เจนตินา ภาคธุรกิจเริ่มประสบปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งได้ลามไปสู่ประเทศที่มีหนี้มากอื่นๆ เช่น อินโดนีเซียและแอฟริกาใต้ และขณะนี้ก็ลามไปกระทบประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆอย่างที่กำลังเกิดขึ้น

คำถามคือ แล้วจากนี้ไปสถานการณ์จะเป็นอย่างไร เท่าที่วิเคราะห์ คิดว่ามี 3 สถานการณ์ที่คงเกิดขึ้นแน่นอนและควรต้องเตรียมตั้งรับ

1.) สถานการณ์คงจะเลวร้ายลงจากนี้ไป เพราะในประเทศที่มีอาการหนัก เช่น ตุรกีและอาร์เจนตินา รวมถึงแอฟริกาใต้ ถึงขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าทางการจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อาการเลือดไหลคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และจะกระทบประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆต่อไปจากการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุน เงื่อนเวลาของการขาดความเชื่อมั่นนี้อาจกินเวลาเป็นเดือน ซึ่งจะทำให้ตลาดการเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ รวมถึงไทยจะผันผวนมาก สถานการณ์จะดีขึ้นหรือกลับมามีเสถียรภาพก็ต่อเมื่อการแก้ไขปัญหาในทั้งสามประเทศนี้มีทางออกให้นักลงทุนสบายใจ เช่น ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ไอเอ็มเอฟ หรือ สหภาพยุโรป (ในกรณีของตุรกี) เพื่อแก้ปัญหา

2.) ความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่จะมีมากขึ้นจากนี้ไป จะกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจากนี้ถึงต้นปีหน้าจะอ่อนลงกว่าที่ประเมินไว้เดิม กระทบมาถึงเศรษฐกิจเอเชีย รวมถึงไทย การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากนี้ไปจะชะลอ เป็นผลทั้งจากปัญหาในประเทศตลาดเกิดใหม่ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว ทั้งหมดจะกลับมากระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ นำมาสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง

3.) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศอื่น(contagion) ผ่านกลไกตลาดการเงินโลกจะรุนแรงมากกว่าที่เคย แต่ก็จะจบเร็วและหายเร็วเป็นรอบๆ ส่วนหนึ่งเพราะปริมาณเงินทุนไหลเข้าประเทศตลาดเกิดใหม่ช่วงสิบปีที่ผ่านมามีมาก ทำให้การไหลออกของเงินทุนจะเกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง ทั้งจากการขายทิ้งหุ้นในประเทศที่มีปัญหาหรือขายทำกำไรในประเทศที่ไม่มีปัญหา เพื่อลดการขาดทุนในประเทศที่มีปัญหา ที่สำคัญ ความไม่แน่นอนจะทำให้พฤติกรรมลงทุนของนักลงทุนสถาบันจะโน้มเป็นแบบพฤติกรรมกลุ่ม (herd instinct) คือ ลงทุนตามๆกัน เพราะไม่มีใครรู้ว่าควรต้องทำอะไร และก็ไม่มีใครอยากเป็นคนสุดท้ายที่จะขาย ภาวะดังกล่าวทำให้ตลาดการเงินจะผันผวนมากและไร้ทิศทาง

ประเทศไทยเองก็คงหลีกหนีความผันผวนนี้ไม่ได้ ตลาดของเราคงปรับลดลงตามสถานการณ์ตลาดโลก และความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจก็จะมีมากขึ้น ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันที่ผันผวน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในประเทศที่กำลังเร่งตัว และจากเงินบาทที่จะเริ่มอ่อนค่าตามการแข็งค่าของเงินดอลล่าร์ ทำให้การดำเนินทำนโยบายเศรษฐกิจต้องเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ไม่ใช่การเติบโต

โดย ดร.บัณฑิต นิจถาวร
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต"

Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645486 

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

บทความสนับสนุนโดย FXPro
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"