ส่งออกไทยเสี่ยง อินโดฯ-อินเดีย ค่าเงินดิ่ง ชิงความได้เปรียบ ตัดราคาแข่งขันโค้งสุดท้าย กระทบสินค้าเกษตร ข้าว ยางพารา น้ำตาล อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ จี้แบงก์ชาติดูแลค่าบาท กูรูแนะเอกชนปรับตัวก่อนส่วนต่างกำไรลด
แม้ค่าเงินบาทของไทยในปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ จากความกังวลปัญหาสงครามการค้าที่ส่งผลให้ค่าเงินของหลายประเทศอ่อนค่าลงอย่างหนัก โดยเฉพาะค่าเงินรูเปียของอินโดนีเซีย ที่ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2541
เช่นเดียวกับค่าเงินรูปีของอินเดียที่ร่วงลงอย่างหนักต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่เริ่มมีความกังวลจากบรรดาผู้ส่งออกว่าการที่เงินบาทของไทยอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลของประเทศต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยลดลงโดยเฉพาะสินค้าเกษตร และสินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ
การเคลื่อนไหวสกุลเงินภูมิภาคเอเชียตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 4 กันยายน 2561 มีเพียงเงินเยน ญี่ปุ่น เท่านั้นที่แข็งค่าสูงสุด 1.5% ขณะเงินสกุลอื่นอ่อนค่าลง โดยเงินบาทอ่อนค่า 0.5% ริงกิต มาเลเซีย 2.2% ดอลลาร์สิงคโปร์ 2.8% ดอลลาร์ไต้หวัน 3.1% วอน เกาหลีใต้ 4.0% หยวน 4.8% เปโซฟิลิปปินส์ 6.7% รูเปีย 9.0% และที่อ่อนค่ามากที่สุดคือ รูปี 10.7%
วอนแบงก์ชาติดูแลค่าบาท
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า สมาชิกของสรท.มีความกังวลต่อค่าเงินของหลายประเทศที่อ่อนค่าลงมาก เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ได้เปรียบสินค้าไทยในการนำเสนอราคาต่อลูกค้าที่ต่ำลง เพราะอินเดีย อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งขันส่งออกไทยหลายสินค้าในตลาดโลก เช่น อินเดีย ในสินค้าข้าว น้ำตาล อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น และอินโดนีเซียในสินค้าผลไม้เมืองร้อนเช่นสับปะรด รวมถึงสินค้ายางพารา และอาหารทะเลแปรรูป เป็นต้น ค่าเงินของทั้ง 2 ประเทศที่อ่อนค่าลง
"การแข็งค่าของเงินบาทจะกระทบมากต่อการแข่งขันในกลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกของไทย เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพาราที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก และมีต้นทุนการผลิตเป็นเงินบาท พอบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ราคาสินค้าเกษตรไทยก็จะสูงขึ้น จากเดิมสินค้าเกษตรในประเทศหลายรายการของไทยราคาก็อ่อนตัวอยู่แล้ว ดังนั้นขอให้ทางแบงก์ชาติช่วยดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพในทิศทางที่อ่อนค่าหรือให้สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาคจะเป็นประโยชน์กับการส่งออกของประเทศ จากปีที่แล้วเงินบาทเฉลี่ย 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯแต่เวลานี้แข็งค่าระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯผู้ส่งออกหลายรายผลประกอบการติดลบ จากรายรับรูปเงินบาทลดลง"
หวั่นอินเดียตัดราคาข้าว
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า อินเดียเป็นคู่แข่งสำคัญของการส่งออกข้าวไทย จากเงินรูปีที่อ่อนค่าลง ผู้ส่งออกข้าวรู้สึกกังวลจะกระทบต่อการแข่งขันส่งออกข้าวไทยกับอินเดีย (ปี 2560 อินเดียส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ปริมาณ 12.04 ล้านตัน ไทยอันดับ 2 ปริมาณ 11.67 ล้านตัน และ 7 เดือนแรกปีนี้อินเดียส่งออกแล้ว 7.34 ล้านตัน ไทย 6.16 ล้านตัน) เพราะราคาข้าวอินเดียอาจจะถูกลงอีก จากเวลานี้ราคาข้าวขาว 5% ของไทยและอินเดียใกล้เคียงกันที่ 390-395 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน
"แม้ข้าวไทยจะแข่งขันดุเดือดกับข้าวอินเดียและเวียดนาม แต่ปีนี้ยังเชื่อว่าไทยจะยังสามารถส่งออกข้าวได้ในระดับ 11 ล้านตัน แต่คงน้อยกว่าอินเดียที่เขามีผลผลิตและมีข้าวส่งออกมากกว่าไทย และเวลานี้ก็ได้เปรียบไทยเรื่องค่าเงิน ซึ่งจากค่าเงินบาทช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาแกว่งตัวมาก จากระดับ 33 บาท มาเหลือระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้น 2% ถ้าสมมุติราคาข้าวไทย 400 ดอลลาร์ต่อตันก็จะสูงขึ้นอีก 8 ดอลลาร์ต่อตัน อยากให้แบงก์ชาติช่วยดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ต่ำกว่า 33 บาทต่อดอลลาร์ เพราะถ้าแข็งค่ามากกว่านี้ส่งออกไทยจะแข่งขันลำบาก"
แนะผู้ส่งออกเพิ่มขีดแข่งขัน
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สกุลเงินของหลายประเทศที่อ่อนค่าจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน เช่น ฟิลิปปินส์ส่งออกสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์อาจจะลดราคาแข่งกับไทย ส่วนอินโดนีเซียนั้นประเภทสินค้าส่งออกถ่านหิน, น้ำมันปาล์ม ไม่เหมือนกับไทย แต่อาจจะมีอิเล็กทรอนิกส์หรือส่งออกรถยนต์ไปอาเซียนอาจจะได้รับผลกระทบ ดังนั้นผู้ส่งออกไทยควรพัฒนาศักยภาพเพิ่มความสามารถในการแข่งขันควบคู่กับการเน้นทำตลาดในประเทศและเพื่อนบ้าน"การอ่อนค่าของสกุลเงินช่วยให้ผู้ส่งออกมีกำไรมากขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยระยะสั้น ถ้าจะช่วยทั้งประเทศต้องเก็บภาษีกับกลุ่มผู้ส่งออกเช่น อาร์เจนตินา โดยในแง่ของผู้กำหนดนโยบายควรปล่อยตามกลไกตลาดและช่วยสร้างกำลังซื้อในประเทศเป็นหลัก"
นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สกุลเงินของประเทศต่างๆ ที่อ่อนค่ากว่าสกุลเงินบาทนั้นอาจมีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนที่อาจจะมีความกังวลกับสกุลเงินของประเทศในตลาดเกิดใหม่ แต่กรณีการอ่อนค่าของแต่ละสกุลเงินนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละประเทศ เช่น บางประเทศสกุลเงินอ่อนค่ามาจากปัจจัยดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ อัตราเงินเฟ้อสูงประกอบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำและมีภาระหนี้ต่างประเทศสูง ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านั้นมีความเปราะบางและมีผลต่อจิตวิทยาให้สกุลเงินอ่อนค่าลง
ปิโตรเคมี-น้ำตาล-แอร์เสี่ยง
สำหรับเมืองไทย นอกจากไม่มีปัจจัยดังกล่าวแล้ว เงินบาทไม่สะท้อนการอ่อนค่ามากนัก ซึ่งอาจจะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาได้บ้าง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประเภทรถยนต์ ปิโตรเคมี น้ำตาล แอร์
Source: ฐานเศรษฐกิจ
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
บทความสนับสนุนโดย FXPro
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman