4 ครั้งใน 3 เดือน  ธนาคารกลางของอินโดนีเซียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ซึ่งนับเป็นการประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากบรรดานักลงทุนต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤติการเงินของตุรกี และมีมุมมองว่าอินโดนีเซียมีปัญหาจุดอ่อนทำนองเดียวกัน

คือ ปัญหาเศรษฐกิจร้อนแรงเกิน ทำให้ขาดดุลทั้งบัญชีเดินสะพัด (-3% ของ GDP) และขาดดุลการคลังรัฐบาลใช้เงินลงทุนสร้างสาธารณูปโภคแต่เก็บภาษีไม่เข้าเป้า ในขณะที่ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศลดลงอย่างรวดเร็วกว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ จากต้นปี

แรงกดดัน จากการไหลออกของฟันด์โฟลว์ (ซึ่งถือเป็นการโจมตีค่าเงินแบบหนึ่ง) บีบคั้นให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียจำต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 5.25% ถือเป็นหนึ่งในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ปรับขึ้นมากกว่า 1.25% จากเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันการอ่อนค่าของสกุลเงินรูเปีย ก่อนถูกเฮดจ์ฟันด์โจมตี ต่อจากอาร์เจนตินาและตุรกี

คำถามที่ยังไร้คำตอบชัดเจนมีว่า ถ้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้ แต่ยังไม่สามารถสกัดกั้นการไหลออกของฟันด์โฟลว์ได้ จะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกหรือไม่ ทำนองเดียวกับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่เดือนเดียวขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 ครั้งกว่าจะบรรเทาลงชั่วคราว

สถานการณ์ของอินโดนีเซียยามนี้แตกต่างแบบพลิกฝ่ามือจากเมื่อ 3 ปีก่อนที่บรรดากองทุนและนักกลยุทธ์สถาบันวาณิชธนกิจระดับโลกมองว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีแนวโน้มดีที่สุด ในกลุ่มอาเซียน ถึงแม้เศรษฐกิจและค่าเงินของอินโดนีเซียจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการลดขนาดมาตรการ QE ของเฟดในปี 2557

เศรษฐกิจขยายตัวสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยได้ปีละ 5% แม้ในปีวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ประกอบกับคาดการณ์การเติบโตราวปีละ 6-7% ใน 5 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นความน่าสนใจของอินโดนีเซียได้เป็นอย่างดี และนอกเหนือจากอัตราการเติบโตที่สูงแล้ว เสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รายงานด้านความสามารถในการแข่งขันนั้นอินโดนีเซียมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 25 ในปี 2012 จากปี 2007 ที่อยู่ที่อันดับ 89 ซึ่งปัจจุบันเรียกว่านำหน้าบราซิล อินเดีย และหลายประเทศในอาเซียนอย่างมาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ไปแล้ว

ศักยภาพการเติบโตของอินโดนีเซียยังยืนยันได้ด้วยประมาณการของสำนักวิจัยต่าง ๆ ที่คาดว่าภายในปี ค.ศ. 2030 อินโดนีเซียจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก จากอันดับ 16 ในปัจจุบัน โดยจะเป็นรองแค่เพียงจีน สหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น บราซิล และรัสเซีย และอาจจะแซงหน้าทั้งเยอรมนีและอังกฤษ

การที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตด้วยอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่การผลิตเพื่อส่งออกหรือการส่งออกผลิตผลจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์อันเป็นภาพลักษณ์เก่าอย่างที่มักเข้าใจกัน ถือเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่แห่งอนาคตทีเดียว

ความพยายามขับเคลื่อนให้โครงสร้างเศรษฐกิจลดการพึ่งพารายได้จากการขายทรัพยากรอันอุดม มาสู่โครงสร้างที่พึ่งพาการเติบโตของการบริโภคในประเทศ ถูกรองรับด้วยข้อเท็จจริงที่อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรมากที่สุดในอาเซียนคือราว 240 ล้านคน และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ 50% ของจำนวนนี้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งหมายถึงทั้งกำลังแรงงานและชนชั้นผู้บริโภค โดยสัดส่วนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นจาก 25% ในปี ค.ศ. 1999 เป็นประมาณ 43% ในปี 2009

การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนดังกล่าวไม่ได้กระจุกตัวในเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ค่อนข้างกระจายตัวไปยังทุกเมืองสำคัญทั่วประเทศไม่ใช่เฉพาะจาการ์ตา และแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจำนวนชนชั้นกลางในอินโดนีเซีย จะเพิ่มกว่าเท่าตัวจากประมาณ 45 ล้านคนในปัจจุบันเป็นราว 93 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งหมายถึงศักยภาพการบริโภคที่มหาศาล

การบริโภคในประเทศจึงเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจมากกว่าการส่งออก และมูลค่า GDP เกิดจากภาคบริการมากกว่าภาคการผลิตอีกด้วย

สัดส่วนการส่งออกต่อ GDP ของอินโดนีเซียอยู่ที่ราว 26% คิดเป็นเพียงแค่ครึ่งเดียวของมาเลเซีย ณ ปี ค.ศ. 1989 ซึ่งเป็นช่วงที่รายได้เฉลี่ยของคนมาเลเซียเท่ากับคนอินโดนีเซียในปัจจุบัน ในขณะที่สัดส่วนมูลค่าผลผลิตในสาขาทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ก็ลดลงเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2000 ทั้ง ๆ ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยภาคเหมืองแร่และน้ำมันและแก๊สมีสัดส่วนเพียง 11% ของ GDP ในปัจจุบัน ในขณะที่ภาคบริการ (ในที่นี้รวมภาคก่อสร้าง ไฟฟ้า ประปาและแก๊ส) กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นแทน มีสัดส่วนราว 50% ของ GDP

ศักยภาพการเติบโตในสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงภาคบริการของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะภาคบริการทางการเงินและการค้าปลีกทั้งหลาย น่าตื่นตาตื่นใจ และดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก

การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นสูงและยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เริ่มจากภาคเหมืองแร่ (mining) แล้วเริ่มขยายตัวไปสู่ภาคการขนส่งและติดต่อสื่อสาร จนถึงภาคการค้าส่งค้าปลีก โดยปัจจัยผลักดันได้แก่ วัฏจักรของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่ขั้นของการฟื้นตัว ในขณะที่เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกยังดูไม่ค่อยดีนัก รวมไปถึงจีนที่ได้รับผลกระทบจากค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นรวดเร็ว ทำให้อินโดนีเชียได้รับอานิสงส์จากค่าจ้างแรงงานที่ยังค่อนข้างต่ำอยู่ ซึ่งปัจจุบันต่ำกว่าไทยประมาณ 2 เท่า

ความโดดเด่นข้างต้น ถูกหักล้างด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าความไม่พร้อมของสาธารณูปโภค ทั้งถนนระบบราง ท่าเรือ สนามบิน ประปา ไฟฟ้า และด้านการเงิน ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการพัฒนา

ความไม่พร้อมทางด้านสาธารณูปโภค สะท้อนจากดัชนีความสามารถในการแข่งขันปี 2012-2013 (Global Competitiveness Index) ซึ่งอินโดนีเซียได้รับการจัดอันดับให้อยู่ลำดับที่ 50 จาก 144 ประเทศ ลดลงจากอันดับที่ 46 สวนทางกับอัตราการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก

ปัญหาหลักที่พูดถึงกันมากก็คือ นับแต่ปี ค.ศ. 1997 เป็นต้นมา อินโดนีเซียไม่ค่อยได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจังมากนัก โดยมีสัดส่วนลดลงเหลือเพียงราว 4% ของ GDP เท่านั้นเมื่อเทียบกับเกือบ 8% ของ GDP ของยุคก่อนหน้า

รัฐบาลอินโดนีเชียปัจจุบัน ซึ่งไร้คราบไคลของการคอร์รัปชันแบบเดิมอันลือเลื่อง ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจัง โดยประมาณการว่าจะมีการใช้จ่ายราว 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการพัฒนาสาธารณูปโภค ทำให้ต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศอีกมาก เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่องปีละ 6-7% ตามเป้าหมายที่วางไว้

ลำพังการพึ่งพาเงินลงทุนทางตรง หรือ FDI ที่แม้หลายปีนี้ จะเติบโตสูงมาก แต่เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนต่อ GDP แล้วอยู่ที่ราว 2% เท่านั้น ยังถือว่าต่ำกว่าประเทศที่เรียกว่าประสบความสำเร็จในด้านการดึงดูด FDI พอสมควร ไม่เพียงพอรองรับแผน ทำให้รัฐต้องเป็นหัวหอกขับเคลื่อน ผลลัพธ์ตามมาคือขาดดุลงบประมาณ และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งปีนี้ถูกซ้ำเติมด้วยเงินเฟ้อเข้าไปอีก

ดาวรุ่งอาเซียนที่มาแรงเกิน จึงเกิดอาการสำลัก "หัวทิ่มบ่อ" อย่างเลี่ยงไม่พ้น แต่ก็เป็นปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ใช่วิกฤติ

คอลัมน์ พลวัตปี2018: โดย วิษณุ โชลิตกุล

Source: ข่าวหุ้น

เพิ่มเติม
- Indonesia Raises Rates Again as Turkey’s Troubles Pressure Emerging Markets
คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

บทความสนับสนุนโดย FXPro
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"