Macro Economics : US Analysis

ถ้าจะกล่าวว่า ช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาที่ระบบเศรษฐกิจของทั้งโลกมีความปั่นป่วนยุ่งเหยิงมากที่สุด ก็คงไม่ใช่คำพูดที่กล่าวเกินจริงไปนัก โดยจะเห็นได้จากในช่วงเวลานี้ เป็นเวลาที่เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนบนนโยบายทางการเงิน การคลัง

ที่แตกต่างจากในช่วงเวลาเดิมๆ ที่ผ่านมา รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจโลกยุ่งเหยิงและคาดเดาได้ลำบากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง เราลองมาดูปัจจัยสำคัญแต่ละปัจจัยกัน ว่าหากเราต้องการคาดเดาเศรษฐกิจข้างหน้า เราควรจะหยิบปัจจัยอะไรขึ้นมาคิดวิเคราะห์บ้าง

.

1 นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ : Quantitative Tightening (QT)
.

หากพูดง่ายๆ เป็นภาษาชาวบ้าน สำหรับนโยบาย QT สามารถแปลความหมายได้ว่า นโยบายดูดเงินออกจากระบบ ที่จริง ธนาคารกลางสหรัฐดำเนินนโยบายนี้มาประมาณหนึ่งปีครึ่งแล้ว นับตั้งแต่เริ่มดึงอัตราดอกเบี้ยขึ้น จนกระทั่งปัจจุบันซึ่งธนาคารกลางจะไม่ซื้อพันธบัตรใหม่อีกต่อไป แต่จะปล่อยให้พันธบัตรเก่านั้นหมดอายุไปเรื่อยๆ โดยไม่ซื้อเพิ่ม
.

เรื่องนี้ส่งผลกระทบอะไรต่อตลาดบ้าง?? เนื่องจากระบบการเงินบนโลกนี้ใช้ดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก ดอลล่าร์ก็เปรียบเสมือนน้ำที่ไหลไปในระบบ มีสภาพคล่องสูงเพราะทุกประเทศในโลกนี้ล้วนแล้วแต่ใช้ดอลล่าร์ และมีดอลล่าร์เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ดังนั้น การลดลงของดอลล่าร์ในระบบจึงมีผลกระทบต่อตลาดโดยรวม บางคนเรียกสถานการณ์นี้ว่า ‘Dollar Shortage’ ซึ่งมีผลทำให้เกิดการเทขายทรัพย์สินอื่น เพื่อนำเงินกลับมาซื้อพันธบัตรออกใหม่แทนที่พันธบัตรเก่าที่หมดอายุไปแล้ว และไม่มีธนาคารกลางสหรัฐเป็นผู้ช่วยซื้ออีกต่อไป เป็นเหตุให้เงินทุนจำนวนมากไหลออกจากทองคำ รวมไปถึงหุ้นและพันธบัตรในตลาดเกิดใหม่ จนเกิดเหตุการณ์วิกฤติค่าเงินในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอเมริกาใต้ เช่นประเทศอาเจนติน่า เป็นต้น
.

เงินที่ไหลออกจากประเทศทั่วโลกเพื่อเข้าสู่ประเทศอเมริกา ทำให้มีมุมมองที่ดีเกี่ยวกับประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่หุ้นตก ค่าเงินอ่อน และกลุ่มประเทศทางฝั่งยุโรปที่มีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะความมั่นคงของธนาคารยุโรปเช่น Deutshe Bank ที่สร้างความไม่มั่นใจให้กับนักลงทุนทั่วโลก ทั้งหมดนี้ยิ่งส่งให้เงินทั่วโลกไหลกลับสหรัฐอเมริกา ผลักให้สินทรัพย์ในสหรัฐอเมริกามีราคาสูงขึ้น รวมไปถึงตลาดหุ้นสหรัฐด้วย
.

2 นโยบายการกีดกันทางการค้า
.

ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ นโยบายอันโด่งดังที่ไม่มีใครไม่พูดถึงในขณะนี้ คือ นโยบายการกีดกันทางการค้า โดยมีเป้าหมายหลักคือประเทศจีน.
.

ไม่ว่าทางสหรัฐจะใช้ข้ออ้างอะไรในการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้ากับประเทศจีน แต่เราจะเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่สหรัฐอเมริกาต้องการจากประเทศจีน คือการหยุดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบาย Made in China 2025 ซึ่งโฟกัสไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค 10 อุตสาหกรรม โดยมีงบประมาณสนับสนุนถึง 10,000 ล้านหยวน แต่จากการเจรจาที่ผ่านๆ มา เห็นได้ชัดว่าจีนจะยังคงเดินหน้าตามนโยบาย Made in China 2025 ต่อไปโดยไม่ฟังเสียงอเมริกา นอกจากนั้น จากท่าทีของประเทศจีน เห็นได้ชัดว่าประเทศจีนไม่กลัวที่จะปะทะกับสหรัฐในเรื่องของการค้าบนเวทีโลก แม้ประเทศจีนจะบอกเสมอว่า การทำสงครามทางการค้านั้นจะส่งผลกระทบในเชิงลบกับทั้งสองฝ่าย แต่ประเทศจีนก็ไม่กลัวที่จะทำสงครามทางการค้ากับประเทศสหรัฐอเมริกาเช่นกัน
.

ผลจากการทำสงครามทางการค้าในขณะนี้ ทำให้เงินไหลออกจากตลาดหุ้นจีน ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว บริษัทที่ไม่แข็งแรงมีปัญหาเรื่องภาระหนี้สิน และธนาคารกลางจีนออกมาประกาศเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจจีนด้วยวิธี QE สไตล์จีน
.

ในขณะเดียวกันกับที่เศรษฐกิจภายในของจีนกำลังปั่นป่วน ทางการจีนก็เดินหน้าสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน ซึ่งถูกสหรัฐอเมริกาบอยคอตต์อยู่ ประเทศรัสเซีย ที่ล่าสุดก็ประกาศเทขายพันธบัตรสหรัฐครั้งใหญ่ รวมไปถึงประเทศในฝั่งยุโรปและอาฟริกา และผลักดันโครงการ One Belt One Road ผ่านธนาคาร AIIB
.

ผลจากการกีดกันทางการค้านี้ ทำให้บริษัทจีนได้รับผลกระทบก็จริง แต่บริษัทอเมริกันก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบ Supply Chain ที่มีการเชื่อมโยงระหว่างสหรัฐและจีน ในขณะที่บริษัทจากสหรัฐอาจจะรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นบนอัตราภาษีใหม่ไม่ได้ และยอดขายของโรงงานจากประเทศจีนลดน้อยลง แต่บริษัทจากสหรัฐก็จำเป็นต้องหา Supply Chain ใหม่จากที่อื่นๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้า แน่นอนว่าการสร้างโรงงานด้วยตัวเองอาจเป็นหนึ่งทางเลือก แต่การสร้างโรงงานใหม่นั้นต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก และใช้ระยะเวลาอีก 2-3 ปี ทีเดียว
.

แต่ไม่ว่าบริษัทเอกชนจะแก้ไขปัญหานี้ด้วยทางเลือกไหนก็ตาม ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะราคาสูงขึ้นแน่นอน เป็นผลให้แนวโน้มตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาสูงขึ้นตามไปด้วย
.

3 การเติบโตของบริษัทเทคโนโลยี
.

มาถึงตอนนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของบริษัทเทคโนโลยีได้ เพราะในขณะที่บริษัทที่ดำเนินการบริหารแบบเก่าๆ นั้น มีตัวเลขการเติบโตที่ลดลง แต่บริษัทเทคโนโลยีทั้งหลาย เช่น Apple / Alphabet / Netflix และ Amazon กลับมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งการเติบโตของบริษัทเหล่านี้ ช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังคงยืนอยู่ต่อได้ และได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเรื่องนวัตกรรมอีกด้วย
.

เพราะสภาพประชากรศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป คนหนุ่มสาวที่อยู่ในตลาดแรงงานมีจำนวนน้อยลง ในขณะที่ผู้เกษียณอายุและผู้ที่อยู่นอกตลาดแรงงานมีจำนวนมาก ทำให้ตัวเลข GDP มีแนวโน้มจะลดน้อยลง ด้วยสภาพการณ์แบบนี้ที่เกิดขึ้นพร้อมเพรียงกันทั่วโลก ทำให้ประเทศที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการพัฒนาเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน หรือญี่ปุ่น ล้วนแล้วแต่ต้องการแรงงานมีคุณภาพ ในสายงานด้านเทคโนโลยีที่ขาดแคลน ประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็เป็นประเทศหนึ่งที่นำเข้าประชากรเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากในบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ พนักงานจำนวนไม่น้อยมีเชื้อสายมาจากเอเชีย แต่เข้ามาทำงานในสหรัฐอเมริกาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งการนำเข้าประชากรที่มีรายได้สูงเหล่านี้เข้ามาในประเทศ เป็นการช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการไหลเวียนของเงิน ทำให้ตัวเลข GDP สามารถเติบโตได้มากขึ้น
.

นอกจากการนำเข้าประชากรแล้ว บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ยังเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาบริษัทเทคขนาดเล็ก หรือที่เราเรียกกันว่าบริษัท Startup ซึ่งในปัจจุบันนี้ บริษัท Startup นั้นมีจำนวนเยอะมาก และทั้งหมดนั้นใช้วิธีการหาเงินลงทุนโดยการระดมทุนด้วยตนเองเป็นหลัก ผ่านบริษัท Capital Venture ข้อดีของการเติบโตของบริษัท Startup ที่มีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมคือ เมื่อบริษัทเล็กเติบโตจนสามารถมีรายได้และกำไรเกิดขึ้น เท่ากับว่าจะมีการสร้างงานเพิ่มขึ้น คนกลุ่มใหม่มีรายได้ที่มากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจหมุนไปข้างหน้าได้ดีขึ้น
.

เพราะเหตุนี้ การเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ การเติบโตของบริษัท Capital Venture และการเติบโตของบริษัท Startup เหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำธุรกิจและการลงทุน เป็นเครื่องจักรอีกตัวหนึ่งที่สามารถสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐได้
.

4 GDP VS Inflation
.

ตัวเลขที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจสหรัฐ คือตัวเลข GDP และ อัตราเงินเฟ้อ
.

จริงอยู่ที่อุตสาหกรรมใหม่ การนำเข้าประชากร และการไหลกลับของเงินดอลล่าร์ จะเป็นปัจจัยที่ผลักดัน GDP ของสหรัฐให้ไปข้างหน้า แต่ตัวเลขที่เคียงคู่กันมาก็คือ อัตราเงินเฟ้อ ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐต้องการเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ แต่ความเสี่ยงของการพยายามดันอัตราเงินเฟ้อคือ หากควบคุมตัวเลขนี้ไม่ได้ เศรษฐกิจสหรัฐที่น่าจะฟื้นตัว อาจจะทำให้เศรษฐกิจทั้งระบบมีปัญหาใหญ่ได้
.

อัตราเงินเฟ้อนั้น สำหรับสหรัฐตอนนี้มีหลายปัจจัยที่เอื้อต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นการไหลกลับของดอลล่าร์ ที่จะเข้าไปซื้อทรัพย์สินต่างๆ ในสหรัฐและผลักให้ราคาทรัพย์สินสูงขึ้น ยิ่งประเทศภายนอกสหรัฐต้องเผชิญกับปัญหาการไหลออกของเงินทุน และการอ่อนค่าของค่าเงินมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ดอลล่าร์นั้นหนีกลับประเทศมาซื้อสินทรัพย์ในประเทศมากขึ้นเท่านั้น
.

ยังมีมาตรการกีดกันทางการค้า ที่คนอเมริกันต้องรับภาระจากภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น และสินค้าส่วนใหญ่ที่คนอเมริกันใช้ทุกวันนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศจีนแทบทั้งสิ้น การมาของนโยบายกีดกันทางการค้าจะทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานเหล่านี้ราคาสูงขึ้น กระทบคนอเมริกันทั้งระดับกลางและระดับล่าง
.

อย่างไรก็ดี ตราบใดหากตัวเลขเงินเฟ้อยังอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมกับตัวเลข GDP ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงเงินในกระเป๋าของคนในประเทศ เศรษฐกิจสหรัฐจะยังสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มพุ่งสูงขึ้นโดยที่ตัวเลข GDP เติบโตตามไม่ทัน เมื่อนั้นปัญหาจะเริ่มเกิด เพราะมันสะท้อนถึงรายได้ที่โตไม่ทันรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตอย่างมั่นคงหรือไม่ ตัวชี้วัดที่ดูง่ายที่สุดคือ ตัวเลข GDP เทียบกับอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง

.

Mei

#Dinotech #USEconomy #MacroEconomics

Cr.DinoTech5.0

บทความสนับสนุนโดย FXPro
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"