21 เรื่องน่ารู้ 21 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง

ย้อนรอย วันนี้ (2 ก.ค.) หรือเมื่อ 21 ปีที่แล้ว มีข่าวใหญ่ที่สั่นสะเทือนบันทึกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศ ลอยตัวค่าเงินบาท ในสมัยนั้นมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี

ทนง พิทยะ เป็น รมว.คลัง และ เริงชัย มะระกานนท์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ

ประเทศไทยได้เปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากการผูกค่าเงินสกุลเงินในตะกร้าเงิน หรือที่เรียกว่า Pegged Exchange Rate มาเป็นระบบลอยตัวภายใต้การจัดการ (Managed Float)

หลังจากที่ถูกโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนักจากกองทุนเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) โดยเราจะได้ยินชื่อของ จอร์จ โซรอส จนทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศหมดหน้าตัก

ภายหลังจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หรือสมัยนั้นเรียกว่าลดค่าเงิน ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง จากเดิมที่ฟิตไว้ที่ 25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ได้ขยับขึ้นเป็น 40-50 บาท/ดอลลาร์ ทำให้สถาบันการเงินและภาคธุรกิจต้องประสบกับปัญหาหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ นำไปสู่การปิด 58 ไฟแนนซ์ และปิดธนาคารพาณิชย์ ต้องล้มละลายและฉุดให้เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง จึงทำให้รัฐบาลไทยต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

สัญญาณหนึ่งก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยนั้นอยู่ท่ามกลางภาวะฟองสบู่ การเปิดเสรีการเงิน กู้เงินจากต่างประเทศจนมีหนี้สินล้นพ้นตัว สถาบันการเงินเกิดวิกฤต ขาดธรรมาภิบาล มีการปล่อยกู้ให้กับพรรคพวก ไม่มีหลักทรัพย์ ปล่อยกู้เพื่อเก็งกำไร

จนในที่สุดไทยต้องเผชิญทั้งปัญหาวิกฤตค่าเงินบาทลุกลามจนเกิดวิกฤตสถาบันการเงิน หรือที่เรียกว่า "Twin Crisis" ซึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเงินภูมิภาคเอเชียปี 2540 จนได้รับการเรียกขานวิกฤตรอบนี้ว่า "ต้มยำกุ้ง"เมื่อลูกหนี้มีปัญหาจ่ายหนี้ไม่ได้ ก็ทำให้เป็น "เอ็นพีแอล" ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ การปรับโครงสร้างหนี้ ตัดหนี้สูญ (Haircut) และการแยกหนี้เสียออกจากหนี้ดี โดยมีการจัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ต่างๆ (เอเอ็มซี) รวมทั้งมีองค์กรตางๆ เกิดขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่เกิดปัญหาวิกฤตซ้ำรอยได้อีก ไม่ว่าจะเป็นสถาบันคุ้มครองเงินฝาก บริษัทข้อมูลเครดิตบูโร เป็นต้น

วลีเด็ดในสมัยนั้น "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" "ล้มบนฟูก" "คนเคยรวย" "เปิดท้ายขายของ" และ "ลอยแพพนักงาน"

เรื่องน่ารู้ 21 เรื่อง ครบรอบ 21 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง ถือว่าเป็นบทเรียนประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ ที่เราหวังว่าจะไม่เกิดประวัติซ้ำรอย

1.วิกฤตต้มยำกุ้ง
ต้มยำกุ้งเป็นอาหารที่ต่างชาตินิยม พูดถึงประเทศไทยจะนึกถึงต้มยำกุ้ง เมื่อเกิดวิกฤตก็จะมาเป็นชื่อเรียก และในปี 2551 เมื่อสหรัฐเกิดวิกฤตเศรษฐกิจก็เรียกวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

2.ลอยค่าเงินบาท
รัฐบาลไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 หรือบางคนก็เรียกว่า "ลดค่าเงินบาท" จากเดิมอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทคงที่ 25 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าสูงสุด 56 บาท/ดอลลาร์ (ม.ค. 2541)

3.อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวภายใต้
การจัดการ (Managed Float)
ไทยได้มีการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบผูกกับสกุลเงินต่างประเทศที่เรียกว่าระบบตะกร้า (Pegged Exchange Rate) เปลี่ยนมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวภายใต้การจัดการ (Managed Float)

4.การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting)
เป็นการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ใน เป้าหมายที่กำหนด

5.Hedge Fund (เฮดจ์ฟันด์)
หรือกองทุนปีศาจ คือกองทุนรวมที่เข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ทั้งการเงิน หุ้น และทำธุรกรรมการเงินได้ทุกประเภท ซึ่งเฮดจ์ฟันด์เป็นกองทุนที่กล้าได้กล้าเสีย เข้าเร็วออกเร็ว ชอบลาก และทุบเข้ามาโจมตีค่าเงินบาท

6.การโจมตีค่าเงิน (Currency Attack)
หมายถึงการที่นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาแสวงหากำไร จากการซื้อขายเงินตราของสกุลหนึ่งเพื่อทำกำไรจากผลต่างระหว่างอัตราที่ซื้อและอัตราที่ขาย เป็นวิธีการหารายได้รูปแบบหนึ่งของนักลงทุนระหว่างประเทศ ถ้าจะเปรียบเทียบกับ "การเก็งกำไรค่าเงิน" (Currency Speculation) จะมีนิยามเหมือนกัน แต่แตกต่างกันตรงที่การโจมตีนั้นมุ่งหวังให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง

7.จอร์จ โซรอส (George Soros)
ฉายาพ่อมดการเงิน ซึ่งเป็นผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ผู้ถูกกล่าวหาว่าโจมตีค่าเงินบาทและอีกหลายสกุลในเอเชีย

8.Twin Crisis
คือ วิกฤตค่าเงินและวิกฤตสถาบันการเงิน เนื่องจากกระบวนการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินเป็นไปอย่างหละหลวม โดยไม่พิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ หรือความสามารถในการชำระเงินคืนอย่างถ่องแท้ การปล่อยสินเชื่อให้แก่พวกพ้องหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง นักการเมืองเป็นไปอย่างกว้างขวาง

9.ฟองสบู่
การที่ราคาสินทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น ถูกปั่นราคา มีการแย่งกันซื้อทำให้ราคาเพิ่มขึ้นเกิดความเป็นจริง เมื่อมีข่าวหรือเกิดเปลี่ยนแปลงก็แย่งขายทำให้ราคาตกลงมาอย่างรวดเร็ว เรื่องว่าฟองสบู่แตก ซึ่งดัชนีหุ้นไทยวันที่ 4 ม.ค. 2537 อยู่ที่ 1,753 จุด และวันที่ 4 ก.ย. 2541 อยู่ที่ 207.31 จุด ลดลงมากว่า 85%

10.เอ็นพีแอล (Non-Performing Loan : NPL)
หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หนี้ที่มีการค้างชำระเกิน 90 วันเอ็นพีแอล โดยเดือน พ.ค. 2540 หนี้เอ็นพีแอลได้พีกสูงสุด 52% สินเชื่อรวม

11.ประกาศปิด 58 ไฟแนนซ์ ธนาคารพาณิชย์ ที่ล้มหายไป 6 แห่ง
คือ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี ) ธนาคารศรีนคร ธนาคารมหานคร ธนาคารแหลมทอง ธนาคารสหธนาคาร ธนาคารนครหลวงไทย เนื่องจากมีปัญหาขาดสภาพคล่องและมีปัญหาหนีเสียจำนวนมาก กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินต้องเข้าไปอัดฉีดเงินและเข้าไปช่วยเพิ่มทุนกู้วิกฤติให้สถาบันการเงินที่ปิดกิจการ 1.4 ล้านล้านบาท

12.กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
เมื่อไทยเกิดปัญหาวิกฤตเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 ทำให้ไทยต้องลดค่าเงินบาท ประเทศขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เงินไหลออก ไทยต้องเข้าโปรแกรมไอเอ็มเอฟ และกู้เงิน 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยไทยเข้าโครงการไอเอ็มเอฟ วันที่ 14 ส.ค. 2540

13.องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.)
เพื่อดำเนินการกับสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน 58 แห่งที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ และบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) เพื่อรับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน 58 แห่ง และสถาบันการเงินอื่น บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ซึ่งเป็นองค์กรกลางในการแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพรับซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงินมาติดตามหนี้ รวมทั้งปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 องค์กรได้ปิดไปแล้ว และโอนหนี้ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (บสก.) และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (บสส.) บริหารจัดการหนี้เอ็นพีแอลต่อไป

14.Haircut ตัดหนี้สูญ
เป็นวิธีหนึ่งการกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเจ้าหนี้ยอมที่จะลดหนี้ หรือตัดเป็นหนี้สูญ

15.วลีเด็ด ปี 2540
"ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" เป็นคำพูดของ สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง เจ้าของอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้ประสบปัญหากว่าแสนล้าน โดยได้ฟ้องล้มละลายเมื่อปี 2552 และจากนั้น 3 ปี ก็หลุดพ้นล้มละลาย

16.ล้มบนฟูก
อาจจะตีความหมายได้ว่ารัฐบาลเอาเงินภาษีประชาชนไปช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ หรือลูกหนี้ยอมล้มละลายให้เจ้าหนี้ยึดไปและไปซื้อหนี้คืนในราคาถูก หรือลูกหนี้ผ่องถ่ายทรัพย์สินไปแล้วและเหลือสินทรัพย์เล็กน้อยให้ยึด เป็นต้น

17.ลอยแพพนักงาน เปิดท้ายขายของ คนเคยรวย
เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจบริษัทล้มละลายจะต้องปิดกิจการทำให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก คนรวยกลายเป็นคนจน เจ๊ง จะต้องมีการนำสินทรัพย์ออกมาเร่ขาย ที่เรียกกันว่าเปิดท้ายขายของกัน เพื่อเป็นเงินทุนดำรงชีพกันต่อไป

18.Good Governance
หรือธรรมาภิบาล หลักความรับผิดชอบ หมายถึง การตระหนักในสิทธิและหน้าที่ ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาการบริหารจัดการ การกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา หลังจากเกิดวิกฤตมีการพูดกันมากและเรียกร้องให้ผู้บริหารจะต้องมี "Good Governance"

19.บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ
หรือที่เรียกกันว่าเครดิตบูโร ซึ่งเป็นศูนย์กลางการจัดเก็บประวัติการชำระสินเชื่อ เพื่อเป็นข้อมูลการประกอบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการงิน เพื่อไม่ให้ประชาชนมีหนี้สินเกินตัว

20.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (Deposit Protection Agency : DPA)
จัดตั้งในปี 2551 เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้ฝากเงินตามอัตราที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันปัญหา
จรรยาวิบัติ (Moral Hazard) หรือการที่ประชาชนเชื่อว่าเงินฝากทั้งหมดจะได้รับการคุ้มครองโดยรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันคุ้มครองเงิน 10 ล้านบาท และตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2563 จะลดการคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท

21.ครบรอบ 21 ปี
วิกฤตต้มยำกุ้ง จากวันนั้นถึงวันนี้เราได้รับบทเรียนและวิกฤตทำให้ไทยเกิด "จุดเปลี่ยน" หลายอย่าง ซึ่งเชื่อว่าไทยจะไม่มีประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแล้ว แต่

อนาคตไทยยังต้องเผชิญและตั้งรับความท้าทายใหม่ๆ "VUCA" คือมีความผันผวนสูง (Volatility) มีความไม่แน่นอนคาดเดาได้ยาก (Uncertainty) มีความเชื่อมโยงซับซ้อน (Complexity) และไม่ชัดเจนในผลลัพธ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น (Ambiguity) ส่งผลให้การก่อตัวของวิกฤตในอนาคตอาจไม่เหมือนกับในอดีต ดังนั้นควรสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจในหลากหลายมิติเพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถยืนหยัด

โดย ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์

Source: Posttoday

เพิ่มเติม

- ข่าว ธปท. เรื่อง เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นแค่ไหนเมื่อเทียบกับปี 2540

https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/News2561/n4061t.pdf 

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

บทความสนับสนุนโดย FXPro
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"