The Analysis : USA Debt VS China Debt

เรื่องของหนี้ เป็นหัวข้อสำคัญที่บรรดาสื่อกระแสหลักของทางฝั่งตะวันตกมักนำมาพาดพิงถึงประเทศจีนเสมอ ว่าหนี้สินในส่วนของภาคเอกชนจีนนั้นกำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง และเศรษฐกิจจีนกำลังเป็นฟองสบู่ลูกโตที่กำลังรอวันแตก

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ประเทศจีนกำลังมีปัญหาเรื่องหนี้สินภาคเอกชนที่มีเพิ่มสูงขึ้นในอัตราความเร็วที่น่าตกใจ แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีปริมาณหนี้สินที่สูงมากเช่นเดียวกัน แต่ปริมาณหนี้สินนั้นไปอยู่ที่ภาครัฐบาล โดยมาถึงปัจจุบันนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกามีหนี้สินภาครัฐบาลทั้งหมดประมาณ 20 ล้านล้านดอลล่าร์ นับเป็นประเทศที่มีปริมาณหนี้สินที่ใหญ่ที่สุดของโลกใบนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างหนี้ภาครัฐบาลและหนี้ภาคธุรกิจ

ในปี 2540 เป็นปีซึ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่มีชื่อเรียกว่า วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ในขณะนั้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตคือการก่อหนี้ของภาคเอกชนที่สูงมาก รวมไปถึงการกู้ยืมเงินต่างประเทศระยะสั้น เพื่อมาปล่อยเงินกู้ระยะยาวภายในประเทศ ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้หนี้สินภาคธุรกิจพุ่งสูงขึ้นอย่างน่ากลัว และฟองสบู่นี้ก็แตก เกิดการลอยตัวของค่าเงินบาท ซึ่งยิ่งส่งผลกระทบต่อหนี้สินที่สูงอยู่แล้วให้ยิ่งสูงมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลตัดสินใจกู้เงินจาก IMF เพื่อมาอุ้มธุรกิจภายในประเทศ และรัฐบาลมีการระดมทุนโดยการออกพันธบัตรมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้าการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยมีงบประมาณที่เกินดุลมาโดยตลอด จึงไม่มีความจำเป็นในการออกพันธบัตรมากนัก แต่หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยก็มีการออกพันธบัตรมากขึ้นเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาทางการเงินภายในประเทศ ซึ่งทั้งการกู้เงินจาก IMF ก็ดี หรือการออกพันธบัตรก็ดี เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างหนี้ทางภาครัฐทั้งสิ้น และรัฐบาลก็ใช้เงินเหล่านี้เข้ามาช่วยอุ้ม หรือหรือเข้ามาจัดการปัญหาหนี้สินของภาคเอกชนให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

จากกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2540 จะเห็นได้ว่าในขณะนั้น ภาครัฐบาลมีปริมาณหนี้ที่ต่ำ แต่ภาคเอกชนมีหนี้ที่สูง ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาในภาคธุรกิจจนส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมทั้งประเทศ รัฐบาลจึงมีความสามารถในการก่อหนี้เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาให้กับประเทศได้ กรณีที่เห็นได้ชัดนอกจากนี้ คือการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจสินเชื่อบ้านของสหรัฐอเมริกา หรือ Hamberger Crisis ที่เกิดขึ้นเพราะสินเชื่อในตลาดอสังหาริมทรัพย์แตก จนส่งผลให้เกิดความแตกตื่นในตลาดพันธบัตรสินเชื่อบ้าน (Mortgage Back Security - MBS) จนเกิดการเทขายขนาดหนัก และวาณิชธนกิจ Bear Sterns รวมทั้ง Lehman Brothers ต้องล้มละลายไป ซึ่งก่อนที่จะมีสถาบันทางการเงินแห่งอื่นๆ ล้มละลายไปมากกว่านี้ ในที่สุด สหรัฐอเมริกานำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็เข้ามาแก้ปัญหาโดยการทำมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน เข้าซื้อพันธบัตรสินเชื่อบ้านรวมถีงซื้อพันธบัตรสหรัฐอเมริกาจำนวนมหาศาล ตั้งแต่ปี 2009 - 2014 ซึ่งมาตรการนี้ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถออกพันธบัตรได้จำนวนมากตามโปรแกรมการซื้อพันธบัตรของธนาคารกลาง โดยการออกพันธบัตรนั้นหมายถึงการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาล เพื่อนำมาอุ้มภาคธุรกิจให้ยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้นั่นเอง

หนี้สินภาคธุรกิจของประเทศจีน

จากข้อมูลของ Bloomberg กลางปี 2017 ที่ผ่านมา หนี้สินของภาคธุรกิจในประเทศจีนมีจำนวนสูงถึง 256% เมื่อเทียบกับ GDP และในการประชุม World Economic Forum ที่ Davos เมื่อต้นปี 2018 รองประธานกรรมการกำกับหลักทรัพย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ยอมรับถึงปริมาณหนี้ที่มีแนวโน้มจะสร้างปัญหาในอนาคต แต่ในขณะเดียวกัน ก็กล่าวถึงมาตรการการแก้ปัญหาหนี้สินเหล่านี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่นิ่งนอนใจของภาครัฐบาลจีนที่เล็งเห็น และพร้อมจะเข้าแก้ปัญหาหนี้สินเหล่านี้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากปริมาณหนี้สินภาครัฐบาลของประเทศจีนมีเพียง 44.3% ของ GDP นั่นชี้ให้เห็นว่าประเทศจีนยังมีศักยภาพที่จะดูแลภาคธุรกิจภายในประเทศได้อีกมาก

สังคมไร้เงินสดกับความสามารถในการสร้างหนี้ของประเทศจีน

หนึ่งในสาเหตุที่รัฐบาลจีนต้องการเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นสังคมไร้เงินสด คือเพื่อขจัดปัญหาการฟองเงิน และการทำธุรกิจที่หลีกเลี่ยงกฏหมาย การที่ประเทศจีนจะกลายเป็นประเทศที่ไร้เงินสดแปลว่าประเทศจีนกำลังจะนำทุกภาคส่วนของประเทศเข้าสู่ระบบการชำระเงินที่รัฐบาลสามารถตรวจสอบได้ เมื่อรัฐบาลตรวจสอบได้ ก็หมายถึงขนาดการบริโภคภายในประเทศที่ใหญ่ขึ้น หรือ GDP ที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงความสามารถในการเก็บภาษีที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการออกพันธบัตร หรือสร้างหนี้ ได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศจีนถือได้ว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากในการพัฒนาระบบสังคมไร้เงินสด ดังนั้น อัตราหนี้สินภาครัฐบาลที่แท้จริงของประเทศจีนในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะน้อยลง และรัฐบาลจีนมีความสามารถก่อหนี้ได้เพิ่มขึ้น

หนี้สินภาครัฐบาลของสหรัฐอเมริกา

ในขณะที่หนี้สินภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกามีปริมาณราวๆ 45% ต่อ GDP แต่กลับมีหนี้สินภาครัฐบาลถึง 107% ต่อ GDP ด้วยปริมาณเกือบๆ 20 ล้านล้านดอลล่าร์ ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีปริมาณหนี้สินภาครัฐสูงที่สุดในโลก การที่รัฐบาลมีหนี้ในระดับที่สูงมาก แปลได้ว่า หากภาคธุรกิจเกิดการสะดุด ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตามจนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลจะเกิดปัญหาเรื่องการระดมทุนเพื่อเข้าช่วยเหลือภาคธุรกิจทันที การขอกู้ยืมเงินจากต่างประเทศจะเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะปริมาณหนี้ที่สูงติดเพดาน จะพิมพ์เงินเพิ่มทำ QE รอบใหม่ก็ยิ่งทำให้หนี้ที่สูงอยู่แล้วยิ่งสูงขึ้น งบการเงินธนาคารกลางอาจบวมจนเอาไม่อยู่ และความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดราคาพันธบัตรตกต่ำ มีแต่คนต้องการเทขาย แต่ไม่มีใครต้องการซื้อพันธบัตรของประเทศที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

หนี้สินภาคเอกชนบนอัตราดอกเบี้ย 0.25

หนี้สินภาคธุรกิจจะเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ก็ต่อเมื่อหนี้สินนั้นทำให้บริษัทเกิดกำไรและมีความสามารถในการชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม หนี้สินที่ภาคธุรกิจก่อขึ้นนั้น เป็นหนี้สินบนต้นทุนที่ต่ำระดับ 0.25% ซึ่งเป็นระดับที่เข้าใกล้ศูนย์มากๆ ทว่า ในขณะนี้ เป็นช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ดำเนินนโยบาย Quantitative Tightening หรือนโยบายดึงสภาพคล่องทางการเงินกลับ โดยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จาก 0.25% จนมาถึงขณะนี้ที่ 1.5% และธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังมีนโยบายที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก 3-4 ครั้งในปี 2018 ซึ่งการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะไปส่งผลกระทบโดยตรงกับอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรภาคธุรกิจ เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น พันธบัตรของภาคธุรกิจก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตามเพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุน ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ตัวเลขหนี้สินภาคธุรกิจที่แท้จริงของสหรัฐอเมริกาอาจต้องมีการปรับขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งคำถามที่น่าสนใจคือ ภาคธุรกิจจะมีความสามารถในการรักษากำไรของบริษัทได้หรือไม่เมื่อต้นทุนทางการเงินของบริษัทสูงขึ้น ท่ามกลางอำนาจการซื้อของตลาดที่จะหายไปจากการดึงสภาพคล่องทางการเงินกลับโดยธนาคารกลาง

นอกจากภาคธุรกิจจะถูกกระทบจากการดำเนินนโยบายดึงเงินกลับของธนาคารกลางแล้ว รัฐบาลสหรัฐเองก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ด้วยเช่นกัน ด้วยหนี้สินที่สูงอยู่แล้วของสหรัฐอเมริกา เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น หมายถึงต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลสหรัฐก็ต้องสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ประเทศสหรัฐอเมริกาจะต้องออกพันธบัตรใหม่ที่มีดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่เก็บภาษีได้น้อยลงจากนโยบายลดอัตราภาษี อีกทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่แล้ว ไม่เหมือนประเทศจีนที่ยังมีช่องว่างอยู่ ทำให้โอกาสที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีรายได้ประเทศเพิ่มขึ้นนั้นมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น หนี้สินที่มีขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาจึงนับได้ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศเลยทีเดียว

เมื่อเทียบกันแล้ว ระหว่างหนี้สินของสหรัฐอเมริกาและหนี้สินของประเทศจีน แม้จะใช้คำว่า ‘หนี้’ เหมือนกัน แต่เนื่องจากเป็นหนี้ที่เกิดจากคนละภาคส่วน จึงมีนัยยะที่แตกต่างกันด้วย ประเทศจีนอาจมีการเกิดฟองสบู่แตกได้จากการที่มีหนี้ภาคธุรกิจที่สูง แต่ในแง่ของความมั่นคงทางการเงินของประเทศแล้ว ประเทศจีนยังมีทางออกของการแก้ปัญหาได้อีกหลายทาง ในขณะที่ทางฟากสหรัฐอเมริกานั้น แม้ภาคธุรกิจจะมีการก่อหนี้บนอัตราส่วนที่ยังไม่อันตราย แต่นโยบายทางการเงินขณะนี้กำลังสร้างความเสี่ยงใหม่ให้กับธุรกิจ ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกาควรติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะหากเกิดปัญหากับภาคธุรกิจของสหรัฐฯ โอกาสที่รัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือนั้นดูจะมีความยากลำบากมากขึ้น เพราะตัวเลขหนี้ของภาครัฐบาลที่สูงมากจนอาจจะมีปัญหาในการหาเงินมาช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศตนเองในอนาคต

Mei
.

#China #US #Debt #Bond #MacroEconomic #Dinotech

Cr. http://www.visualcapitalist.com/63-trillion-world-debt-one-visualization/

https://www.bloomberg.com/news/articles/2018-02-08/sizing-up-china-s-debt-bubble-bloomberg-economics 

http://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2017/04072017.aspx 

https://www.cnbc.com/2017/11/20/the-debt-time-bomb-that-keeps-growing-and-now-equals-nearly-half-of-u-s-gdp.html 

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"