'เอเชีย' ปรับแผนรับดอลลาร์แข็งค่ายาว อาจได้เห็น 'ขึ้นดอกเบี้ย' ปีนี้

ความหวังที่จะได้เห็นแบงก์ชาติปรับลดอัตราดอกเบี้ย "เริ่มเลือนราง" ลงในหลายประเทศ จากปัจจัยเฟด - ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง นักวิเคราะห์คาด 'ดอลลาร์แข็งค่ายาว' กระตุ้นแบงก์ชาติในเอเชียปรับแผนรับมือ

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก และรอยเตอร์ส รายงานว่า หลายประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียอาจต้องปรับแผนรับมือการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่กำลังส่งผลให้สกุลเงินท้องถิ่นหลายประเทศกำลังอ่อนค่าลงอย่างหนักในรอบหลายสิบปีในขณะนี้ ซึ่งการปรับแผนมีตั้งแต่การเลื่อนแผนลดดอกเบี้ย ไปจนถึงการที่อาจจะกลับมา "ขึ้นดอกเบี้ย" อีกครั้งแบบเหนือความคาดหมาย
ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ที่จัดทำโดยบลูมเบิร์ก (Bloomberg dollar index) ปรับตัวแข็งค่าขึ้นไปแล้วถึงกว่า 4% ในปีนี้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่พลิกผันจากช่วงต้นปีที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าปี 2567 นี้ ค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงเนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าจะมาในช่วงกลางปี
อย่างไรก็ดี การที่สหรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ตามที่คาดหมายส่งผลให้ประธานเฟดส่งสัญญาณอาจต้องคงดอกเบี้ยไปนานกว่าที่คาด ขณะที่สถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ตึงเครียดขึ้น ทำให้เงินไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ดอลลาร์ และทำให้ค่าเงินในหลายประเทศเอเชียอ่อนค่าหนักสุดในรอบหลายปี
รายงานระบุว่าหลายกองทุนเริ่มปรับกลยุทธ์โดยให้น้ำหนักค่าเงินดอลลาร์ในทิศทางแข็งค่า โดยบริษัทแวนการ์ด กรุ๊ป ซึ่งเป็นกองทุนการเงินใหญ่สุดอันดับ 2 ในโลก คาดการณ์ว่าค่าเงินดอลลาร์จะยังคงอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้น ในขณะที่บริษัทจัดการสินทรัพย์ยูบีเอสคาดการณ์ว่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าต่อแม้ว่าปัจจุบันจะแพงขึ้นจากปกติถึง 20% แล้วก็ตาม ส่วนธนาคารเวลส์ ฟาร์โก ยกเลิกคาดการณ์เดิมที่เชื่อว่าดอลลาร์จะอ่อนค่า ณ สิ้นปีนี้ และให้น้ำหนักกับค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าไปจนถึงปี 2568
ทิศทางดังกล่าวทำให้หลายประเทศอาจต้องปรับแผนการรับมือ ดังนี้
## 'อินโดนีเซีย' อาจขึ้นดอกเบี้ยเป็นรายแรก
ปีนี้ค่าเงินรูเปียห์ อินโดนีเซีย อ่อนค่าลงไปแล้วถึง 5.3% ซึ่งเป็นการอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 4 ปี โดยเคลื่อนไหวจากราคา 15,389 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2566 ไปทะลุระดับ 16,200 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จนธนาคารกลางอินโดนีเซียต้องเข้าแทรกแซงค่าเงิน
ค่าเงินในเอเชีย ณ วันที่ 19 เม.ย.2567
บริษัทหลักทรัพย์เวลส์ ฟาร์โก ระบุว่าค่าเงินรูเปียห์มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงไปถึง 16,500 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ในขณะที่นักกลยุทธ์ของบริษัท บราวน์ บราเธอร์ส แฮร์รีแมน แอนด์ โค คาดการณ์ว่ารูเปียห์อาจดิ่งลงหนักจนไปแตะระดับ 17,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ภายในเดือนก.ย.ปีนี้
บลูมเบิร์ก ระบุว่าเทรดเดอร์หลายรายคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันพุธที่ 24 เม.ย. นี้ เนื่องจากส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของอินโดนีเซีย ขยายตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2566 ซึ่งเป็นช่วงที่แบงก์ชาติอินโดนีเซียขึ้นดอกเบี้ยอย่างเหนือความคาดหมายอีก 0.25% ไปเป็น 6%
นายเบรนดัน แม็คเคนนา นักกลยุทธ์ค่าเงินตลาดเกิดใหม่ของเวลส์ฟาร์โก กล่าวว่า การคงดอกเบี้ยต่อไปมีแต่จะยิ่งทำให้เงินรูเปียห์อ่อนค่าลง การใช้นโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้นจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ 22 คนยังคงเสียงแตก โดยมี 7 คนที่เชื่อว่าจะขึ้นดอกเบี้ย และที่เหลือคาดว่าจะเป็นการคงดอกเบี้ยตามเดิม
##
'เวียดนาม' พร้อมแทรกแซงค่าเงิน
บลูมเบิร์ก ระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ค่าเงินดองของเวียดนามอ่อนค่าลงไปแล้วถึง 4.36% และเมื่อวันศุกร์ที่ 19 เม.ย. ได้อ่อนค่าลงไปทำสถิติต่ำสุดที่ระดับ 25,463 ดองต่อดอลลาร์ ส่งผลให้ธนาคารกลางเวียดนาม (เอสวีบี) ต้องแถลงว่า ธนาคารกลางได้ขายดอลลาร์ให้กับธนาคารบางแห่งเพื่อช่วยพยุงค่าเงินดอง โดยเข้าแทรกแซงที่ราคา 25,450 ดองต่อดอลลาร์
นายไมเคิล วัน นักวิเคราะห์ค่าเงินอาวุโสธนาคารมิตซูบิชิยูเอฟจี กล่าวว่า แบงก์ชาติเวียดนามจะยังคงใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น การแทรกแซงค่าเงิน และอาจขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นผ่านการถอนสภาพคล่องเพื่อให้ต้นทุนการเฮดจ์ค่าเงินแพงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดองของเวียดนามยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องในการซื้อขายเมื่อวันที่ 22 เม.ย. โดยอ่อนค่าลงอีก 0.05% ในการซื้อขายของธนาคารเวียดคอมแบงก์ อยู่ที่ 25,485 ดองต่อดอลลาร์ ขณะที่ราคาในตลาดมืดอ่อนค่าลง 0.43% อยู่ที่ 25,870 ดองต่อดอลลาร์
##
##
'ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้' ร่วมมือกันพยุงค่าเงิน
นายเจมส์ แบรดี รองประธานฝ่ายให้คำปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมืองจากบริษัทเทนีโอ เปิดเผยกับซีเอ็นบีซีว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จะร่วมมือกันในการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ เพื่อสกัดการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศ
รายงานระบุว่า นักลงทุนต่างก็จับตาความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงค่าเงินเยน หลังจากเงินเยนอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยหลุดระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์นับตั้งแต่ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค.2567 แต่ยังส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อไป ในขณะที่ค่าเงินวอนของเกาหลีใต้ อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือนที่ระดับ 1,389.5 วอนต่อดอลลาร์ ซึ่งทั้งญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ต่างก็มองว่าค่าเงินมีการเคลื่อนไหวมากจนเกินไป
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า สหรัฐ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นได้ตกลงกันว่าทั้ง 3 ประเทศจะจับตาพัฒนาในการตลาดปริวรรตเงินตราอย่างใกล้ชิด ซึ่งการแสดงความเห็นดังกล่าวของสหรัฐทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จะแทรกแซงตลาดโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ
นายแบรดี ระบุว่า ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดนี้สอดคล้องกับที่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เคยร่วมมือกันในระดับลึกเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้นตลาดควรจะคาดการณ์ว่าทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันแทรกแซงตลาดโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ เมื่อพิจารณาจากการแสดงความเห็นดังกล่าวของกระทรวงการคลังสหรัฐ
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คลิก

Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"