เรื่องของ Cryptocurrency, Digital Asset และ Blockchain

ในวันนี้ หากเราได้ดูข่าวในโลกของการลงทุน เราจะพบว่าสินทรัพย์ตัวใหม่ที่มีการเอ่ยถึงอย่างกว้างขวางในช่วงขวบปีที่ผ่านมา คือสิ่งที่เรียกว่า Bitcoin ซึ่งวันนี้ทุกคนรู้จักมันในนามของ Cryptocurrency ที่มีเทคโนโลยี Blockchain อยู่ข้างหลัง

เรื่องมูลค่าของ Bitcoin นั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างแพร่หลายว่ามันมีมูลค่าจริงๆ หรือเป็นแค่เรื่องหลอกลวงเท่านั้น แต่ถึงแม้จะมีความไม่แน่ใจในเรื่องของมูลค่า แต่สิ่งที่แน่ใจได้แน่ๆ คือการเติบโตของ Bitcoin ได้นำพาเทคโนโลยี Blockchain ก้าวขึ้นมาเป็นเทคโนโลยีแนวหน้า ที่ทุกเวทีใหญ่ๆ ของโลกวันนี้ต้องกล่าวถึงเรียบร้อยไปแล้ว และเรื่องราวของเทคโนโลยี Blockchain ในปัจจุบัน ก็สามารถหาอ่านทั่วไปได้ไม่ยากตามอินเตอร์เน็ต

บนเวที World Economic Forum ที่ Davos ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีการถกเถียงว่า Bitcoin มีคุณสมบัติของการเป็น Currency หรือไม่ ซึ่งทางฟากของธนาคารกลางจากหลายประเทศ ต่างมีน้ำเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับการเป็น currency ของ Bitcoin โดยมีเหตุผลหลักคือความผันผวนของราคาที่มากจนเกินไปจนไม่เหมาะสมแก่การเป็น currency อย่างไรก็ดี แม้บรรดาธนาคารจะไม่เห็นด้วยกับสถานะความเป็น currency ของ Bitcoin แต่ทุกคนเห็นด้วยร่วมกันว่า Bitcoin คือ Asset ประเภทหนึ่ง และเทคโนโลยี Blockchain นั้นเป็นเทคโนโลยีที่มีความน่าสนใจมาก

ดังนั้น หากจะกล่าวอย่างเป็นกลางในข้อสรุปที่ไม่มีใครพูดออกมาชัดๆ ถือได้ว่าโลกเรานั้นยอมรับเหรียญต่างๆ ที่มีเทคโนโลยี Blockchain หนุนหลัง ในฐานะของ Digital Asset เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ยอมรับพวกมันในฐานะของ currency ต่างหาก

นิยามของ currency คืออะไร คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของ currency คือ ความสามารถในการเป็นตัวกลางเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า บางฝ่ายมองว่า bitcoin มีปัญหาในเรื่องความเร็วในการทำธุรกรรม รวมไปถึงเรื่องสภาพคล่องของเหรียญที่มีอยู่น้อยเกินไป ไม่เหมาะสมกับขนาดของเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ที่มีขนาดใหญ่มหาศาล อีกทั้งบนโลกนี้ มีร้านค้าน้อยมากที่ยอมรับการชำระด้วย bitcoin จึงทำให้ bitcoin ยังไม่มีคุณสมบัติของการเป็นตัวกลางที่มีประสิทธิภาพ ทว่า อีกฝ่ายหนึ่งก็โต้แย้งว่า bitcoin มีความสามารถในการเป็นตัวกลาง แต่เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของเทคโนโลยี ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่พบในปัจจุบันจะหายไปจากการพัฒนาระบบที่ไม่หยุดยั้ง และมีความเชื่อว่า ร้านค้าต่างๆ ต่อไปจะยอมรับ bitcoin มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การมีคุณสมบัติของตัวกลางที่มีประสิทธิภาพในที่สุด

คุณสมบัติสำคัญอีกข้อที่มีการถกเถียงกันอย่างแพร่หลายคือ คุณสมบัติการสะสมมูลค่า (Store of Value) ผู้คนถือ bitcoin เพราะเชื่อว่าการจำกัดจำนวนเหรียญที่ 21 ล้านเหรียญ จะทำให้ bitcoin มีความสามารถในการสะสมมูลค่าได้เช่นเดียวกับทองคำ ซึ่งตรงกันข้ามกับเงินกระดาษ ที่มีคุณสมบัติตรงกันข้ามคือคุณสมบัติของการเสื่อมค่า ในประเด็นนี้ ได้มีนักเศรษฐศาสตร์มหภาคให้ความเห็นว่า หาก currency มีความสามารถในการสะสมมูลค่า จะทำให้คนเลือกเก็บเงินมากกว่าใช้เงิน ส่งผลให้สภาพคล่องและการหมุนเวียนของเงินในระบบช้าลง เงินเฟ้อติดลบ และเศรษฐกิจมวลรวมเกิดการหดตัว ดังนั้น เพื่อให้เกิดเงินเฟ้อและการหมุนเวียนของเงินที่มากขึ้น currency จึงไม่ควรมีคุณสมบัติของการสะสมมูลค่า การสะสมมูลค่านั้นเหมาะกับการเป็น Asset แต่ไม่เหมาะสมแก่การเป็น currency อย่างสิ้นเชิง

ในตลาด Cryptocurrency ปัจจุบันนี้ มีความเข้าใจผิดกันอยู่เกี่ยวกับ currency และ asset หากไปดูตามสื่อต่างๆ ที่รายงานเรื่อง Cryptocurrency ล้วนแล้วแต่รายงานไปในทิศทางที่เหมารวมทุกเหรียญในตลาดว่าเป็น currency ในขณะที่ความจริงแล้ว มีเหรียญมากมายที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อจุดประสงค์เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนสินค้า จริงอยู่ว่าโมเดลต้นๆ ของเหรียญนั้นถูกสร้างเพื่อจุดประสงค์ในการเป็น currency แต่เมื่อ blockchain ถูกพัฒนามากขึ้นและสามารถนำไปแก้ปัญหาอื่นๆ ได้อีก โมเดลของการกำเนิดเหรียญก็เปลี่ยนไป มีเหรียญจำนวนไม่น้อยที่ถูกสร้างเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ platform ที่มีการออกแบบสภาพแวดล้อมใน platform หรือที่เรียกว่าการสร้าง ecosystem ซึ่งหาก platform ที่ถูกพัฒนา สามารถแก้ไขปัญหาบางอย่างได้จริง และ platform ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย จะทำให้เกิด Demand ของการใช้เหรียญ ควบคู่ไปกับการเติบโตของ platform ทำให้เหรียญนั้นมีมูลค่าขึ้นมาได้ ทั้งนี้ โมเดลเหรียญประเภทหลังนี้จะไม่มีคุณสมบัติของ currency แต่จะมีคุณสมบัติของความเป็น asset อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ถูกจับตามองมากที่สุดในขณะนี้เกี่ยวกับตลาด Cryptocurrency คือปัจจัยด้านกฎหมาย เพราะความร้อนแรงของตลาดนี้ในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีเม็ดเงินมหาศาลในตลาดคริปโต รวมไปถึงมีการหลอกลวงต่างๆ โดยใช้ตลาดคริปโตเป็นเครื่องมือ ทำให้รัฐหันมาจับตามองตลาดเหรียญอย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้ ทำให้ราคาเหรียญมีความผันผวนสูงไปตามความไม่แน่นอนทางด้านกฎหมาย แต่จาก Blockchain Forum ต่างๆ ทุกคนล้วนแล้วแต่มีมุมมองที่เป็นเชิงบวกต่อการเข้ามาของภาครัฐ เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการหลอกลวงฉ้อโกงต่างๆ มีผู้ยืนยันว่าขณะนี้ ภาครัฐได้ทำงานร่วมกับฝั่งผู้พัฒนาเทคโนโลยี blockchain เพื่อหาทางออกกฎหมายที่เหมาะสมที่สุดโดยที่ไม่เป็นการเข้าไปขัดขวางการพัฒนาของตัวเทคโนโลยี ที่สำคัญที่สุด แม้แต่ Christine Lagarde กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ส่งสัญญานเชิงบวกต่อตัวเทคโนโลยี blockchain เช่นเดียวกัน

ในโลกของเทคโนโลยี blockchain ปัจจุบันนี้ยังถือได้ว่าเป็นยุคที่เพิ่งเริ่มต้นพัฒนา แม้มีข้อถกเถียงอย่างมากเกี่ยวกับมูลค่าที่แท้จริงของเหรียญต่างๆ แต่ทุกอย่างเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ต้องการลงทุนในตลาดเหรียญ จึงควรศึกษาตลาดนี้ให้เข้าใจ เพราะความเสี่ยงที่สูงจากการผันผวนของราคา ความใหม่ของเทคโนโลยี มิจฉาชีพที่มาในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการที่ภาครัฐยังไม่เข้ามาดูแล ทั้งหมดนี้เป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนควรจะต้องตระหนัก ก่อนการเข้ามาลงทุนจริงในตลาดทั้งสิ้น

Mei

Pic Credit : venturebeat

#Cryptocurrency #DigitalAsset #Currency #Dinotech

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"