ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะฟื้นตัวต่อจากปีนี้ ขยายตัวประมาณร้อยละ 4.5 นำโดยประเทศอุตสาหกรรม ที่ได้ประโยชน์จากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19
ประเทศอุตสาหกรรมนี้ยังได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
และการกลับมาใช้จ่ายของครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่งผลให้การค้าโลกขยายตัว อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ไม่ทั่วถึง
โดยเฉพาะถ้าเทียบเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่กับประเทศอุตสาหกรรม ที่โมเมนตัมการฟื้นตัวต่างกันชัดเจน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความแตกต่างในการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศ
เป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้การระบาดยังมีอยู่ในหลายพื้นที่ ส่งผลต่อการฟื้นตัวของประเทศอุตสาหกรรม ล่าสุดคือกรณีเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่พบในแอฟริกา
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนยังมีมาก โดยเฉพาะเรื่องเงินเฟ้อที่กำลังเร่งตัวและวิธีตอบสนองของธนาคารกลางสหรัฐที่จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก มีประเด็นภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างสหรัฐกับจีน ที่จะกระทบการตัดสินใจของภาคธุรกิจและอาจกระทบโมเมนตัมของการฟื้นตัว
สิ่งเหล่านี้คือความไม่แน่นอน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้มีความไม่แน่นอน เศรษฐกิจโลกก็กำลังฟื้นตัว และตลาดการเงินก็ตอบรับแนวโน้มนี้ เห็นได้จากตลาดหุ้นและราคาสินทรัพย์ที่ปรับสูงขึ้น สำหรับนักลงทุนมีสามเรื่องที่ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะสามารถกระทบราคาสินทรัพย์ ผลตอบแทน และความเสี่ยงในการลงทุน นี่คือประเด็นที่จะเขียนในวันนี้
เรื่องแรกที่ต้องติดตามคือ การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่จบ อย่าลืมว่าวิกฤติคราวนี้เป็นวิกฤติโรคระบาด ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 อยู่ในพื้นที่ใดในโลก การระบาดก็ยังไม่จบและสามารถเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกได้
ซึ่งประเด็นสำคัญเรื่องนี้คือ การเร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่ทั่วโลก เพื่อลดโอกาสของการเกิดการระบาดรอบใหม่ ซึ่งดูจากตัวเลขแล้วยังน่าเป็นห่วงคือ
ล่าสุดอัตราการฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มทั่วโลกอยู่ประมาณร้อยละ 55 ของประชากร แต่ในประเทศรายได้ต่ำบางประเทศอัตราจะอยู่เพียงร้อยละ 6.3 ซึ่งห่างกันมาก
นอกจากนี้ ก็มีเรื่องภูมิคุ้มกันของผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วที่จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไปและต้องเสริมด้วยการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม มีประเด็นช่องว่างระหว่างผู้ที่ฉีดวัคซีนและผู้ที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนในประเทศอุตสาหกรรมที่จะเป็นจุดให้การระบาดจบยาก รวมถึงมีโอกาสที่ไวรัสโควิด-19 จะกลายพันธุ์นำไปสู่การระบาดรอบใหม่ สิ่งเหล่านี้ชี้ว่า ความเสี่ยงเรื่องการระบาดจะยังมีอยู่ในปีหน้า และสามารถกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้
เรื่องที่สองที่ต้องติดตามคือ ปัญหาเงินเฟ้อและทิศทางของนโยบายการเงินสหรัฐที่ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อตามหน้าที่ นำไปสู่การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลกระทบทั่วโลกทั้งต่อตลาดการเงินและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ในเรื่องนี้ ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐให้ความเห็นว่า เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นไม่ใช่ภาวะชั่วคราว แต่จะยืดเยื้อถึงปีหน้า ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อภาคธุรกิจและตลาดการเงินว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่สูงขึ้นจากนี้ไป และจะปรับลงจากผลของนโยบาย แต่ถ้าไม่ทำ อัตราเงินเฟ้อก็จะเร่งตัวต่อเนื่องและลามไปสู่การปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงานและค่าเช่า ทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อจะยิ่งรุนแรง
เพราะคนเชื่อว่าราคาจะปรับสูงขึ้นในอนาคต ทำให้ปัญหาเงินเฟ้อจะแก้ยาก ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อจึงจำเป็น แม้จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐคาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกต้องปรับขึ้นตาม แต่อาจไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับปัญหาเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของแต่ละประเทศว่าเข้มแข็งแค่ไหน ความแตกต่างนี้ทำให้ตลาดการเงินโลกจะผันผวนจากการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศ ที่ปรับตัวตามอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไป กระทบอัตราแลกเปลี่ยนและสภาพคล่องในแต่ละประเทศ ซึ่งของเราเองก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะถูกกระทบเช่นกัน
สำหรับนักลงทุน การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ คือ การเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบใหม่ที่จะกระทบกับเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ในแง่เศรษฐกิจ นโยบายการเงินของเราก็ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา
คือ เงินเฟ้อเอาไม่อยู่ กระทบค่าครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชน กระทบความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เงินเฟ้อจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในแง่นโยบาย แม้จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
เรื่องที่สามต้องติดตาม คือ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งคาดว่าจะมีมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ซึ่งจะสะท้อนออกมาในรูปของการแข่งขันที่ตึงเครียดระหว่างสองประเทศนี้ ทำให้ระบบโลกาภิวัตน์ที่เป็นหนึ่งเดียวอย่างในปัจจุบันจะถูกแบ่งขั้วให้เป็นสองระบบ สร้างความไม่แน่นอนให้กับภาคธุรกิจมากในแง่การลงทุนและการค้า กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งตัวขับเคลื่อนการแบ่งขั้วจะมาจาก
1) การแยกตัว (Decoupling) ระหว่างสหรัฐกับจีน หรือจีนกับกลุ่มประเทศตะวันตกในแง่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเข้าถึงเทคโนโลยี ที่จีนมองว่าความก้าวหน้าของจีนในการพัฒนาเทคโนโลยีกำลังถูกปิดล้อมโดยสหรัฐและกลุ่มประเทศตะวันตก
2) ระบบพหุภาคีที่เคยเป็นกลไกหลักในการวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการค้าโลกได้ถูกมองข้ามโดยประเทศมหาอำนาจ นำไปสู่การรวมตัวและสร้างเครือข่ายด้านการค้าในระดับภูมิภาคแทน
3) ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้และเกาะไต้หวันระหว่างสหรัฐกับจีน ที่จะสร้างความไม่แน่นอนในแง่ความปลอดภัยและเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งสำคัญต่อการค้าและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
นี่คือสามประเด็นที่นักลงทุนต้องจับตาสำหรับเศรษฐกิจโลกปีหน้า.
โดย ดร.บัณฑิต นิจถาวร | เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you