(Common Prosperity) หลายคนชี้ว่าสโลแกนใหม่นี้มาพร้อมนโยบายจัดการทุนใหญ่ของรัฐบาลจีน ที่สั่นสะเทือนเศรษฐกิจจีนและเขย่าขวัญนักลงทุนโลก ที่ผ่านมา สี จิ้นผิงยังไม่เคยอธิบายความหมายของ "รุ่งเรืองร่วมกัน" อย่างชัดเจน ทำให้ต่างคนต่างคาดเดาไปต่างๆนานา
มีทั้งที่มองว่า นี่อาจหนักเทียบเท่าการปฏิวัติวัฒนธรรมรอบใหม่ ไปจนถึงมองว่า เบาๆ แค่จะแตะเบรกทุนใหญ่จีนที่เริ่มแสวงกำไรตามอำเภอใจจนส่งผลร้ายต่อสังคม
ล่าสุด เป็นครั้งแรกที่สี จิ้นผิงเขียนบทความอธิบายแนวคิด "รุ่งเรืองร่วมกัน" ลงในนิตยสารฉิว ชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นับเป็นครั้งแรกที่เป็นคำอธิบายจากสี จิ้นผิงโดยตรง ไม่ใช่การตีความของสื่อมวลชนหรือนักวิเคราะห์ที่พูดกันไปคนละทิศละทาง
สี จิ้นผิงอธิบายว่า เป้าหมายของการผลักดันนโยบาย "รุ่งเรืองร่วมกัน" เพื่อสร้างรากฐานของการปกครองที่ยั่งยืนของพรรคคอมมิวนิสต์ ชัดเจนว่า นโยบายใหม่ของสี จิ้นผิงมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองเพื่อรักษาความนิยมและอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่างจากแนวคิดของผู้นำยุคก่อนหน้านี้ที่มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1
ในมุมมองของสี จิ้นผิง ทั่วโลกหลายประเทศต่างประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำที่นำไปสู่ปัญหาการเมืองและความขัดแย้งทางสังคม จีนมีเป้าหมายชัดเจนที่การสร้างเสถียรภาพและความสมานฉันท์ในสังคม จึงจำเป็นที่จีนจะต้องพยายามลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ที่น่าสนใจที่สุดในบทความคือ หลักคิดที่จะบรรลุความรุ่งเรืองร่วมกัน
1. ทุกคนต้องร่วมลงแรงทำงาน ห้ามหยุดนิ่งหรือคิดสบาย
ผู้อ่านชาวจีนสนใจจุดนี้มาก เพราะก่อนหน้านี้ ในโซเชียลมีเดียของจีนมีกระแสเทรนด์อยู่สบายๆ ไม่ชอบงานหนักของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่จีนเหนื่อยล้าและอยากหยุดพัก หมดแรงขยันสู้เหมือนคนรุ่นก่อน ชัดเจนว่าเทรนด์นี้ไม่ถูกใจสี จิ้นผิง
นอกจากนั้น ยังสะท้อนที่ก่อนหน้านี้ นักวิชาการหลายคนออกมาเน้นย้ำว่า "รุ่งเรืองร่วมกัน" ไม่ใช่แบ่งเท่ากัน คือไม่ใช่ทุกคนรวยเท่ากัน แต่หมายถึงทุกคนรวยขึ้น นอกจากนั้น "รุ่งเรืองร่วมกัน" ก็ไม่ใช่รัฐสวัสดิการที่จะมีของแจกของฟรีให้ประชาชนโดยไม่จำเป็นต้องทำงาน ในบทความมีประโยคเด็ดด้วยครับว่า ต้องระวังไม่ตกหลุมรัฐสวัสดิการที่เลี้ยงคนขี้เกียจที่ไม่ทำมาหากิน
2.สี จิ้นผิงบอกว่า เศรษฐกิจของรัฐวิสาหกิจจะเป็นตัวผลักดันการสร้างความรุ่งเรืองร่วมกัน แต่ในขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมการพัฒนาในทางสร้างสรรค์ของภาคเอกชน
คำสำคัญก็คือ "ในทางสร้างสรรค์" หมายถึง ภาคเอกชนต้องไม่พัฒนาหรือแสวงกำไรในสิ่งที่เกิดโทษหรือผลลบต่อสังคม
ในบทความไม่ได้มีแต่เพียงหลักการใหญ่โต แต่ยังพูดถึงแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่สะท้อนทิศทางต่อไปของรัฐบาลจีนด้วยครับ
1) การพัฒนาภาคอสังหาริมทรัพย์และการเงินต้องไปด้วยกันและประสานสอดรับกับภาคเศรษฐกิจจริง แปลง่ายๆ คือหมดยุคเศรษฐกิจเก็งกำไร ปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ ปั่นราคาหุ้น
2) ดึงดูดและฝึกแรงงานทักษะชั้นสูง สร้างงานรายได้ดี เพื่อสร้างชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น
ก่อนหน้าบทความนี้ สี จิ้นผิงเคยพูดไว้แล้วว่า หัวใจของ "รุ่งเรืองร่วมกัน" คือ การเพิ่มชนชั้นกลางของจีนจาก 400 ล้านคน เป็น 800 ล้านคน ในกรอบเวลา 15 ปี โดยสี จิ้นผิงเคยอุปมาว่า เป็นการเปลี่ยนจากสังคมโครงสร้างปิรามิด (รวยกระจุกบน จนกระจายล่าง) มาสู่สังคมโครงสร้างลูกรักบี้ (ตรงกลางกว้าง บนล่างแคบ)
3) ยึดหลักการว่า บ้านเป็นที่อยู่ ไม่ใช่ซื้อเพื่อเก็งกำไร ข้อนี้ชัดเจนนะครับว่า สี จิ้นผิงคิดยังไงกับวิกฤตเอเวอร์แกรนด์ก่อนหน้านี้ และน่าจะชัดว่า ยุคทองของภาคอสังหาริมทรัพย์จีนสิ้นสุดลงแล้ว
4) การกำกับและเก็บภาษีคนรายได้สูง ข้อนี้เป็นอีกข้อที่นักวิเคราะห์ให้ความสนใจมาก เพราะสี จิ้นผิงระบุเป็นครั้งแรกถึงการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน
นี่ก็จะเป็นอีกนโยบายที่จะสะเทือนภาคอสังหาริมทรัพย์จีน และนี่น่าจะเป็นอีกหนึ่งระเบิดลูกใหญ่ของสี จิ้นผิงที่จะสั่นสะเทือนเศรษฐกิจ
5) ต้องจัดการการขยายของทุนที่ไม่มีขอบเขต ดูแลทุนในอุตสาหกรรมละเอียดอ่อนอย่างเคร่งครัด (ความหมายคือ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ความมั่นคง หรือฟินเทคอย่างแอนท์ไฟแนนซ์ ที่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพของระบบการเงิน) เดินหน้าป้องกันการผูกขาด แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการในการสร้างสรรค์ต่อไป
6) รุ่งเรืองร่วมกันต้องรวมถึงความรุ่งเรืองด้านวัฒนธรรม ข้อนี้คงสะท้อนการเข้ามากำกับดูแลโลกออนไลน์และวงการบันเทิงจีนก่อนหน้านี้
7) เดินหน้าการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรและการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ชนบท
ข้อนี้ นักอ่านชาวจีนก็สนใจเป็นพิเศษว่ารัฐบาลจีนกำลังจะอนุญาตให้มีการซื้อขายสิทธิในที่ดินในชนบท (ก่อนหน้านี้มีแต่สิทธิในที่ดินในเมือง) อันนี้ก็น่าจะเป็นนโยบายใหญ่ต่อไปของรัฐบาลจีนที่อาจจะทำให้การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนจากเมืองไปสู่ชนบท และปลดล็อคความมั่นคั่งของราคาที่ดินในชนบท ซึ่งจะทำให้คนชนบทรวยขึ้นทันตาเห็น
บทความนี้ แม้จะดูเหมือนเต็มไปด้วยหลักการใหญ่ แต่ก็มีรหัสที่น่าสนใจอยู่หลายจุด ซึ่งทำให้เราไม่แปลกใจกับนโยบายช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ชัดเจนว่า ทิศทางการกำกับทุนของสี จิ้นผิงยังจะเดินหน้าต่อไป
อ่านแล้ว ดูเหมือนสี จิ้นผิงมองว่า ตนสามารถทั้งกำกับและส่งเสริม เช่น ในขณะที่เคร่งครัดขึ้นกับธุรกิจ แต่ก็ยังต้องการให้ธุรกิจเดินหน้าสร้างสรรค์ ในขณะที่ทุบภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็จะเปิดโอกาสใหม่ในชนบทให้ภาคอสังหาริมทรัพย์
แต่คำถามดังๆ ก็คือ โลกนี้จะเอาทั้งสองทางได้หรือไม่ เพราะในอดีต เพราะรัฐบาลจีนปล่อย จึงเกิดนวัตกรรมจากภาคธุรกิจมากมาย เพราะรัฐบาลจีนหลับตา ภาคอสังหาริมทรัพย์จึงบูมไม่หยุด และฉุดเศรษฐกิจขาขึ้นไปด้วย
เดิมพันของสี จิ้นผิงครั้งนี้จึงใหญ่หลวงนัก.
By อาร์ม ตั้งนิรันดร | มองจีนมองไทย
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you