เว็บไซต์ the guardian.com เปิดเผยเอกสารที่รั่วไหลออกมาเรียกว่า Pandora Papers ซึ่งเป็นแฟ้มของบริษัท ที่ชำนาญการในเรื่องการตั้งบริษัทหรือกองทุน ในหมู่เกาะที่มีอำนาจอธิปไตยทางศาล (offshore jurisdiction) และสามารถหลบเลี่ยงภาษี
เอกสาร Pandora Papers ทำให้เห็นถึงโลกทางการเงินอีกโลกหนึ่ง เป็นโลกทางการเงินของมหาเศรษฐีชั้นนำของโลก ที่ใช้เป็นแหล่งหลบซ่อนทรัพย์สินตัวเอง โดยเสียภาษีน้อย หรือแทบไม่เสียเลย
เอกสารดังกล่าวเปิดเผยให้เห็นถึงวิธีการของมหาเศรษฐี ที่จะปกป้องรายได้และทรัพย์สินของตัวเอง จากการถูกเรียกเก็บภาษี โดยการเก็บซ่อนทรัพย์สินไว้ที่หมู่เกาะ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “แหล่งหลบภาษี” (tax haven) หรือการตั้งบริษัทและกองทุนที่จดทะเบียนในแหล่งหลบภาษี อย่างเช่นที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ปานามา และสวิตเซอร์แลนด์
รายชื่อมหาเศรษฐีที่ถูกเปิดเผย
บทความของ The Guardian ชื่อ Pandora Papers: What Has Been Revealed So Far? ระบุว่า กษัตริย์อับดุลเลาะห์ อัล-ฮุสเซนของจอร์แดน สะสมอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกมีมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ ไว้กับบริษัทที่ตั้งอยู่บนดินแดน “แหล่งหลบภาษี” อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โทนี แบลร์และภรรยา สามารถประหยัดการเสียภาษีเป็นเงิน 300,000 ปอนด์ ในการเข้าครอบครองทรัพย์สิน จากบริษัทเจ้าของที่ตั้งอยู่ในแหล่งหลบภาษี
เว็บไซต์ malaymail.com ก็เปิดเผยว่า เอกสาร Pandora Papers ระบุว่า บุตรชายของอดีตรัฐมนตรีคลังของมาเลเซีย Tun Daim Zainuddin เป็นเจ้าของบริษัทจดทะเบียนในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน บริษัทนี้เป็นเจ้าอสังหาริมทรัพย์ในลอนดอนมูลค่า 12 ล้านปอนด์ เอกสาร Pandora Papers ยังเปิดเผยทรัพย์สินที่ซ่อนเร้นของบุคคลที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีรัสเซีย วราดิเมียร์ ปูติน ที่สะสมความมั่งคั่งไว้ในบริษัท ที่ตั้งอยู่ในแหล่งหลบภาษี
โลกออฟชอร์ทางการเงิน
Niclolas Shaxson นักหนังสือพิมพ์อังกฤษเขียนหนังสือชื่อ Treasure Islands กล่าวถึงธุรกิจโลกทางการเงินออฟชอร์ (Offshore) ไว้ว่า โลกทางการเงินออฟชอร์ล้วนอยู่รอบๆตัวเรา ในทางเอกสารแล้ว กว่าครึ่งหนึ่งของการค้าโลก จะดำเนินการผ่านแหล่งหลบภาษี กว่าครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ธนาคาร และ 1 ใน 3 ในการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ จะดำเนินการผ่านทางระบบการเงินออฟชอร์
แหล่งหลบภาษี ไม่ใช่เส้นทางหนีภาษีเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งเก็บความลับด้านทรัพย์สิน ให้แก่มหาเศรษฐีและชนชั้นนำทั้งหลาย ตลอดจนทำให้มหาเศรษฐีไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องกฎระเบียบการเงิน กฎหมายอาญา กฎหมายมรดก เป็นต้น เพราะเส้นทางการหลบหนีจากสิ่งเหล่านี้ คือธุรกิจหลักของแหล่งหลบภาษี
หนังสือ Treasure islands ให้ความหมายของคำ Offshore ว่า ไม่ได้หมายถึง “แหล่งขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝัง” หรือกรณีที่บริษัทผู้ผลิต ย้ายฐานการผลิตหรือ Call Center จากสหรัฐฯไปจีนหรืออินเดีย
แต่คำว่า Offshore หมายถึง การเคลื่อนย้ายเงินทุน หรือดำเนินการให้เงินทุนข้ามพรมแดน โดยอาศัย “แหล่งหลบภาษี” (tax haven) เป็นสถานที่อำนวยความสะดวก เมื่อเงินทุนออกไปจากแหล่งหลบภาษีแล้ว ก็เกิดตัวตนใหม่ทางบัญชีขึ้นมา ทำให้กฎหมายตามตัวได้ยากมากขึ้น
Treasure Island บอกว่า การจะทำความเข้าใจกับธุรกิจออฟชอร์ สิ่งที่จะต้องเข้าใจเป็นอันดับแรกก็คือ หัวใจของธุรกิจนี้คือการสร้างเรื่องราวเส้นทางเดินของเอกสาร ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดน ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างเรื่อง ธุรกิจการค้ากล้วยหอม
กล้วยหอมเป็นสินค้าที่จะเดินทางมาถึงผู้บริโภคได้ใน 2 เส้นทาง คือ (1) เส้นทางที่เป็นจริง กับ (2) เส้นทางเอกสารทางออฟชอร์ ที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา ตัวอย่างเส้นทางที่เป็นจริงคือกรณีอย่างเช่น บริษัทยักษ์ใหญ่สมมุติว่าชื่อ Big Banana จ้างคนงานฮอนดูรัสเก็บกล้วยหอม บรรจุลงกล่อง แล้วก็ส่งมาขายที่อังกฤษ
เส้นทางที่ 2 ของกล้วยหอมคือ เส้นทางเอกสารทางบัญชี เมื่อกล้วยหอมถูกเก็บ และส่งมาขายที่อังกฤษ คำถามมีอยู่ว่า กำไรสุดท้ายของธุรกิจนี้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ฮอนดูรัส ที่ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษ ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท Big Banana คำถามนี้ ไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่ฝ่ายบัญชีของ Big Banana สามารถตัดสินใจได้ว่า กำไรควรจะไปอยู่ที่ไหน
ฝ่ายบัญชี Big Banana อาจเสนอให้บริษัท Big banana ตั้งบริษัทต่างๆในเครือขึ้นมา เช่น บริษัทจัดซื้อที่เกาะเคย์แมน บริษัทการเงินในเครือที่ลักเซมเบิร์ก บริษัทขนส่งทางเรือที่ Isle of Man สำนักงานฝ่ายบริหารที่ Jersey และบริษัทประกันภัยที่เบอร์มูดา ทุกแห่งล้วนตั้งอยู่ในดินแดนที่แหล่งหลบภาษี
ก้าวต่อไป บริษัทในเครือแต่ละแห่ง จะคิดค่าบริการระหว่างกันและกัน เช่น บริษัทการเงินที่ลักเซมเบิร์กปล่อยเงินกู้ให้บริษัทปลูกกล้วยหอมที่ฮอนดูรัส คิดดอกเบี้ยเงินกู้ปีละ 10 ล้านดอลลาร์ บริษัทในฮอนดูรัสก็นำเงินค่าดอกเบี้ย 10 ล้านดอลลาร์ มาหักเป็นค่าใช้จ่ายจากกำไร ทำให้กำไรของบริษัทในฮอนดูรัสหายแทบจะหมด ส่วนบริษัทการเงินที่ลักเซมเบิร์กก็จะนำตัวเลขดอกเบี้ย 10 ล้านดอลลาร์เป็นรายได้ เนื่องจากลักเซมเบิร์กเป็นประเทศปลอดภาษี บริษัทการเงินนี้จึงไม่ต้องจ่ายภาษีใดๆ
สิ่งที่เรียกว่า “การโอนราคา”
ตัวอย่างดังกล่าวของบริษัท Big Banana คือสิ่งที่เรียกว่ากลยุทธ์การ “โอนราคา” (transfer pricing) ของบริษัทข้ามชาติหลักการกว้างๆของกลยุทธ์นี้คือ การปรับราคาภายในของบริษัท เพื่อให้กำไรไปตกอยู่ที่แหล่งหลบภาษี ที่อาจเสียภาษีน้อยมากหรือไม่ต้องเสียภาษีเลย เวลาเดียวกัน ก็โอนค่าใช้จ่ายมาไว้กับบริษัท ที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีกฎหมายการค้าตามปกติ เพื่อเอามาหักเป็นค่าใช้จ่าย หรือเพื่อหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุด
ดังนั้นวิธีการ “โอนราคา” คือการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ระหว่างบริษัทในเครือ ทำให้ต้นทุนไปเพิ่มมากขึ้นในประเทศที่เสียภาษีแพง วิธีนี้ช่วยธุรกิจให้จ่ายภาษีน้อยลง และย้ายผลกำไรไปไว้ในประเทศปลอดภาษีหรือเสียภาษีในอัตราต่ำมาก
ในกรณีตัวอย่างของธุรกิจการค้ากล้วยหอม รายได้จากภาษีของประเทศยากจนอย่างฮอนดูรัส ที่ตัวเองควรจะได้ ถูกเคลื่อนย้ายออกไปยังแหล่งปลอดภาษีอย่างลักเซมเบิร์ก และในที่สุดก็ไปสู่เจ้าของบริษัทข้ามชาติ จุดนี้อธิบายว่าทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติจึงเติบได้เร็วกว่าบริษัทคู่แข็งที่เล็กกว่า
“แหล่งหลบภาษี” ทั่วโลก
บทความชื่อ How to Crack Down on Tax Havenในเว็บไซต์ foreignaffairs.com กล่าวว่า ธุรกิจการเงินออฟชอร์ของโลก มีวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา แหล่งหลบภาษีมีกระจายอยู่ทุกภูมิภาคในโลก แต่ละแห่งก็ให้บริการการเงินออฟชอร์ที่แตกต่างกันไป
ในเอเชีย ฮ่องกงเป็นประตูสู่โลกการเงินออฟชอร์ของจีน เป็นแพลตฟอร์มทางการเงินที่มีอัตราภาษีต่ำ สำหรับเงินทุนที่จะไหลเข้าไปและไหลออกมาจากประเทศจีน ส่วนสิงคโปร์ เป็นแหล่งปลอดภาษีให้กับคนมีฐานะมั่งคั่งจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย
ในยุโรป ไม่ได้มีเพียงสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น ที่เป็นแหล่งหลบภาษี ปี 2013 วุฒิสภาสหรัฐฯพิมพ์รายงานเปิดเผยว่า Apple ถ่ายโอนเงิน 74 พันล้านดอลลาร์ ไปไว้ที่ไอร์แลนด์ เพื่อเลี่ยงภาษีที่ได้มาจากการทำธุรกิจนอกสหรัฐฯ ลักเซมเบิร์กเป็นแหล่งปลอดภาษีสำหรับการตั้งบริษัทบังหน้า (shell company) ส่วนเนเธอร์แลนด์เป็นแหล่งโอนเงินลงทุนไปมาระหว่างประเทศต่างๆ
นอกจากนี้ก็มีแหล่งหลบภาษีที่เป็นเครือข่ายของอังกฤษ โดยศูนย์กลางการเงินลอนดอน (City of London) เป็นแกนกลาง ล้อมรอบด้วยดินแดนอาณานิคมเก่า เช่น หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน เบอร์มูด้า และเกาะเคย์แมน เป็นต้น หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ชำนาญเรื่องการตั้งบริษัทบังหน้า และกองทุนลับ ส่วนเบอร์มูดาเชี่ยวชาญเรื่องประกันภัยออฟชอร์ และเกาะเคย์แมนเป็นแหล่งหลบภาษี ของนักลงทุนใน Hedge Fund
ต้นทุนสังคมของการหลบภาษี
หนังสือชื่อ The Wealth Hoarders กล่าวถึงต้นทุนทางสังคม ที่มาจากการซ่อนเร้นความมั่งคั่งว่า มีเหตุผล 4 ประการ ที่คนเราทั่วไปต้องตระหนักเรื่องอันตรายจากระบบการซ่อนเร้นความมั่งคั่ง
ประการที่ 1 ระบบนี้ที่ทำให้ความั่งคั่งสามารถหลบซ่อนได้ ช่วยให้คนบางกลุ่มสามารถขโมยความมั่งคั่งของประเทศ และก่อความเสียหายแก่ประชากรในประเทศ ที่มีฐานะยากจนและชีวิตมีความเสี่ยง
ประการที่ 2 ระบบนี้ช่วยให้คนที่มีฐานะมั่งคั่ง หรือบริษัทธุรกิจ สามารถหลีกเลียงความรับผิดชอบในการเสียภาษี เท่ากับเป็นการผลักภาระการเสียภาษีนี้ ไปให้แก่คนที่มีทรัพยากรน้อยกว่าแทน
ประการที่ 3 ระบบปกปิดความมั่งคั่ง ส่งเสริมให้พวกอาชญากร หรือพวกนักการเมืองที่ช่อฉล และแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวทางการเงิน ยังสามารถประสบความสำเร็จในสังคม
ประการสุดท้าย ระบบแบบนี้ไปส่งเสริมการขยายตัวอย่างรวดเร็วในเรื่อง ความเหลื่อมทางเศรษฐกิจ หากไม่จัดการปัญหานี้ ในที่สุดก็จะกลายเป็นปัจจัยที่กัดกร่อนโอกาสทางเศรษฐกิจ และการเลื่อนฐานะทางสังคมของคนทั่วไป ในที่สุด สิ่งนี้ก็เป็นภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตย
หนังสือ Treasure Islands สรุปว่า คนทั่วไปอาจมองข้ามเรื่องการหลบเลี่ยงภาษี เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเสียภาษี ที่เป็นแหล่งเงินทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจ ในความเป็นจริง ภาษีเป็นรูปแบบที่ยั่งยืนและสำคัญที่สุด ของเงินทุนที่จะนำมาใช้พัฒนาประเทศ ที่สำคัญอีกอย่าง ภาษียังเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้นำการเมือง มีความสำนึกรับผิดชอบต่อประชาชนในประเทศ
โดย ปรีดี บุญซื่อ
Source: ThaiPublica
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you