“ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยงแท้แน่นอน” เป็นสัจธรรมอมตะ “ปีวอก” ที่ผ่านพ้นไป มีบทพิสูจน์เรื่องนี้นับไม่ถ้วน บางสิ่งเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันน่าตกตะลึง และที่สำคัญ มันจะส่งผลกระทบต่อปี “ระกา” นี้อย่างเลี่ยงไม่พ้น ดังนั้น การมอง “อดีต” แต่อยู่กับ “ปัจจุบัน” จึงดีที่สุดที่จะรับมือกับ “อนาคต”!
• อุบัติการณ์ “ช็อกโลก” ครั้งใหญ่ในปีวอก ไล่ตั้งแต่กรณี “เบร็กซิต” ที่สหราชอาณาจักรอังกฤษ (ยูเค) ลงประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤติผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่รุมเร้าอยู่แล้ว ยิ่งส่งผลให้ยุโรปแตกแยกและอ่อนแอลง
ปีระกา ยุโรปต้องต่อสู้กับผลพวงของมันต่อไป ยูเคและอียูต้องเจรจากันอย่างเข้มข้น อาจกินเวลานับปีหรือหลายปีกว่าจะได้ข้อสรุปว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร และความไม่แน่นอนอาจทวีขึ้น ขณะที่กระแสชาตินิยมฝ่ายขวาแรงเร้าขึ้นเรื่อยๆ โดยการเลือกตั้งในปีหน้าหลายประเทศ รวมทั้งฝรั่งเศส อิตาลี แม้แต่เยอรมนี พี่ใหญ่ของยุโรป ฝ่ายขวาอาจผงาดขึ้นมากุมอำนาจหรือชิงส่วนแบ่งอำนาจ ยุโรปจะยิ่งปั่นป่วน!
เหตุการณ์ “ช็อกปฐพี” เรื่องที่ 2 คือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ นักธุรกิจอภิมหาเศรษฐีฝีปากกล้าผู้อื้อฉาว ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 แบบหักปากกาเซียน ทั้งที่โพลแทบทุกสำนักชี้ว่านางฮิลลารี คลินตัน จะเข้าวิน เรื่องนี้ทำให้สังคมอเมริกันแตกแยกหนัก
ทรัมป์ชูนโยบายหลุดโลกไว้เยอะ ทั้งภายในและต่างประเทศ เช่นจะห้ามชาวมุสลิมเข้าสหรัฐฯ จะสร้างกำแพงกั้นพรมแดนเม็กซิโก จะถอนตัวจาก “ข้อตกลงปารีส” แก้ปัญหาโลกร้อน จะล้มเลิกข้อตกลงการค้าเสรีที่ทำให้สหรัฐฯเสียเปรียบ เช่น “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” (ทีพีพี) ไปจนถึงจะ “ตีจาก” พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์เก่าแก่อย่าง “นาโต” และญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ซึ่งเขาคิดว่าพึ่งพาสหรัฐฯ มากเกินไป
แต่เอาเข้าจริงๆ วาทะหาเสียงกับความจริงอาจเดินสวนทางกัน ทรัมป์ผู้ไร้ประสบการณ์ด้านการเมืองการต่างประเทศอาจ “กลับลำ” ในหลายเรื่อง หลังรับฟังทีมที่ปรึกษาแล้วว่าอะไรที่ “ทำได้” กับ “ทำไม่ได้”
สิ่งหนึ่งที่คาดว่าทรัมป์จะไม่ทำ คือการล้มเลิก “ระบบพันธมิตร” อันเก่าแก่ที่โยงใยอยู่ทั่วโลก ซึ่งเป็น “หัวใจ” ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะถ้าระบบพันธมิตรถูกทำลาย สหรัฐฯ นั่นเองจะอ่อนยวบลงทันที สโลแกนของทรัมป์ที่ว่า “Make America Great Again” ไม่มีทางเป็นจริงได้
ความเปลี่ยนแปลงและปั่นป่วนในสหรัฐฯ และยุโรป ที่เรียกกันว่า “มหาอำนาจตะวันตก” มีขึ้นขณะที่คู่อริอย่าง “จีน” และ “รัสเซีย” ผงาดขึ้นมาแข่งรัศมีอย่างน่ากลัว ในปีระกาจีนและรัสเซียจะฉวยโอกาสนี้สร้างเสริมความแข็งแกร่งของตนในเวทีโลกมากขึ้น การขับเคี่ยวกับสหรัฐฯ จะยิ่งเข้มข้น
ส่งผลกระทบต่อทั้งโลกอย่างเลี่ยงไม่พ้น ผู้สันทัดกรณีหลายคนชี้ว่า โลกยุคนี้กลับเข้าสู่ภาวะ “สงครามเย็น” อีกครั้งแล้ว โลกโซเชียลมีเดีย ถึงขั้นแพร่ข่าวสุดสะพรึงว่า “สงครามโลกครั้งที่ 3” กำลังก่อตัวและจะอุบัติขึ้นในไม่ช้านี้ เพราะมันมีมูลเหตุสนับสนุนทฤษฎีนี้มากมาย และต่างโยงใยกับปฏิสัมพันธ์ระหว่าง 3 ขั้วมหาอำนาจที่ว่านี้
ประเทศเล็กกว่า เปรียบได้กับ “ปลาซิวปลาสร้อย” จึงต้องระมัด ระวังเป็นพิเศษ วางยุทธศาสตร์เตรียมรับผลกระทบให้ดีที่สุด บางประเทศอาจเล็งผลเลิศว่าจะเลือกซบฝ่ายใด แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่จะ “แทงกั๊ก” พยายามสร้างสมดุลในการมีปฏิสัมพันธ์กับขั้วมหาอำนาจ เพื่อเอาตัวรอดและประโยชน์ของประเทศชาติ
รวมทั้ง “ไทยแลนด์” ของเรา ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ แม้ในยุค “คสช.” กุมอำนาจ ดูจะหันไปหาจีนมากขึ้น แต่นั่นอาจเป็นแค่หมากคุมเชิงทางการเมือง!
ห้วงเพลานี้ ดู เหมือนทุกสายตาจะเพ่งเล็งไปที่บุรุษนาม “โดนัล ทรัมป์” ซึ่งจะขึ้นกุมอำนาจอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 20 ม.ค.2560 ว่า เขาจะนำรัฐนาวา มหาอำนาจหมายเลข 1 ของโลกไปในทิศทางใด?
เรื่อง “รัสเซีย” แม้ทรัมป์จะแย้มว่าต้องการยกระดับความสัมพันธ์และชื่นชมประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินว่าเป็นผู้นำที่ดี ทรัมป์ยังเลือกนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ซีอีโอของ “เอ็กซอนโมบิล” บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ผู้มีสายสัมพันธ์พิเศษกับปูตินและบริษัทน้ำมัน “รอสเนฟต์” ของรัสเซียเป็น รมว.ต่างประเทศ เป็นการยื่นมิตรไมตรีถึงรัสเซีย?
แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าความสัมพันธ์จะพัฒนาไปอย่างไร เพราะทั้งสองฝ่ายมีข้อขัดแย้งกันอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “สงครามซีเรีย” และเรื่อง “ยูเครน” ซึ่งยืนอยู่คนละข้าง ถึงขั้นสหรัฐฯ และอียูคว่ำบาตรรัสเซียทางเศรษฐกิจ โทษฐานผนวกคาบสมุทรไครเมีย ถ้าทรัมป์คิดจะยกเลิกการคว่ำบาตรก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เพราะอาจถูกต่อต้านจากสภาคองเกรส ซึ่ง ส.ส และ ส.ว.ของทั้ง 2 พรรคจำนวนมากไม่เอาด้วย
สัญญาณกระทบกระทั่งยังเริ่มมีให้เห็น เมื่อทั้งปูตินและทรัมป์ต่างประกาศว่าประเทศของตนควรเพิ่มศักยภาพด้านอาวุธนิวเคลียร์ สวนทางกับนโยบายกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ของประธานาธิบดีบารัค โอบามาโดยสิ้นเชิง
เรื่องรัสเซียที่ว่ายากแล้ว เรื่อง “จีน” ยิ่งรับมือยากยิ่งกว่า เพราะทรัมป์แสดงท่าทีไม่ชอบจีนอย่างเปิดเผย ทั้งกล่าวหาว่าจีนแทรกแซงลดค่าเงินหยวนและเอาเปรียบสหรัฐฯ ด้านการค้า สหรัฐฯ ยังเฝ้ามองการแผ่ขยายอิทธิพลอำนาจของจีนอย่างหวาดระแวง โดยเฉพาะใน “ทะเลจีนใต้” ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการเผชิญหน้า
สัญญาณว่าการงัดข้อจะรุนแรงขึ้นเริ่มส่อเค้า หลังทรัมป์ “แหกกฎ” รับโทรศัพท์ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้นำสหรัฐฯ เจรจาโดยตรงกับผู้นำไต้หวันนับตั้งแต่ปี 2522 ทั้งยังตั้งข้อกังขาในนโยบาย “จีนเดียว” ทำให้จีนหวาด ระแวงว่าเขาจะใช้ไต้หวันเป็นหมากเล่นเกมชักเย่ออำนาจกับจีนหรือไม่? แต่ขณะเดียวกัน ทรัมป์ก็เลือกนายเทอร์รี แบรนสตัด ผู้ว่าการรัฐไอโอวา ผู้มีสายสัมพันธ์พิเศษกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นทูตสหรัฐฯประจำจีนคนใหม่ เป็นการเปิดช่องทางสานสัมพันธ์กับจีนไว้เช่นกัน
ส่วนจีนก็มีท่าทีไม่ปลื้มทรัมป์ชัดเจน การที่จีนยึดยานสำรวจไร้คนขับหรือ “โดรนใต้น้ำ” ของสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้ใกล้อ่าวซูบิกของฟิลิปปินส์ ซึ่งกำลังทิ้งสหรัฐฯ พันธมิตรเก่าแก่หันไปซบจีนแทนในยุคประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต แม้จะยอมปล่อยในเวลาต่อมา ก็อาจเป็นสัญญาณว่าจีน “ลองของ” ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่!
ปฏิสัมพันธ์ 3 ขั้วมหาอำนาจ สหรัฐฯ จีน รัสเซีย จึงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด!
• ในมุมอื่นๆ ของโลก สมรภูมิขัดแย้งที่จะลากยาวเป็นมหากาพย์ไม่แพ้สงครามกลางเมืองซีเรียก็คือ
ศึกชิงอำนาจในเยเมน ระหว่างฝ่ายกบฏชนเผ่า “ฮูตี” นิกายชีอะต์ ซึ่งมีอิหร่านหนุนหลัง กับฝ่ายพันธมิตรรัฐบาลเก่าที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเข้าไปช่วยโจมตีทางอากาศถล่มกบฏฮูตีมาตั้งแต่ต้นปี 2558
ศึกเยเมนคงจบยากขณะที่นานาชาติโดยเฉพาะมหาอำนาจสหรัฐฯ และรัสเซียยังคงวุ่นอยู่กับ “สงครามซีเรีย” ซึ่งก็จะยืดเยื้อต่อไปเช่นกัน แม้รัสเซียจะเข้าไปช่วยรัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด จนยึดเมืองอะเลปโป สมรภูมิสำคัญจากฝ่ายกบฏได้แล้ว
ส่วนยุทธการกวาดล้าง “กองกำลังรัฐอิสลาม” (ไอเอส) ในซีเรียและอิรัก ในปีระกาจะยิ่งรบกันดุเดือด แม้ไอเอสจะเพลี่ยงพล้ำอย่างหนัก แต่การขุดรากถอนโคนยังยาก และต้องระวังภัย “การก่อการร้าย” ตอบโต้แก้แค้นจากไอเอสและแนวร่วมทั่วโลกด้วย!
ในภูมิภาค “อาเซียน” ของเรา ความขัดแย้งด้านเชื้อชาติศาสนา
ในรัฐยะไข่ในเมียนมาปะทุขึ้นมาอีก จนชาวมุสลิมโรฮีนจาต้องอพยพลี้ภัยเข้าไปในบังกลาเทศนับหมื่นคน บางส่วนถูกผลักดันกลับ คล้ายๆกรณีคลื่นผู้อพยพ “มนุษย์เรือ” ที่เคยหลอกหลอนเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย วิกฤติรัฐยะไข่ยังเป็นปัญหาหนักอก ทำให้นางอองซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพผู้มีภาพลักษณ์เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้นำโดยพฤตินัยของเมียนมา กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะถ้าเธอมีท่าทีเห็นอกเห็นใจชาวโรฮีนจา จะต้องถูกต่อต้านอย่างหนักจากชาวพม่าชนส่วนใหญ่อย่างแน่นอน
ส่วนการตั้งคณะกรรมการพิเศษ นำโดยนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการยูเอ็น อีกทั้งมีการประชุมฉุกเฉินรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน จากการผลักดันของชาติมุสลิมมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพื่อหาทางแก้วิกฤติรัฐยะไข่ ก็คงช่วยอะไรได้ไม่มากนัก ชาวมุสลิมโรฮีนจาต้องรับเคราะห์กรรมต่อไป!
ที่มา: ทีมข่าวต่างประเทศ ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 2 ม.ค. 2560
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Trader Warrior Camp แคมป์นักฝันชิงเงินรางวัล 1 ล้าน แคมป์ที่จะสร้างคุณให้เป็นสุดยอดเทรดเดอร์
รายละเอียดเพิ่มเติม https://goo.gl/forms/6PVGHzrey3WkQWr72