วิจัยกรุงศรีเผยแพร่ Monthly Bulletin ประจำเดือนกันยายน สรุปภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มทั่วโลกรวมทั้งเศรษฐกิจไทย รายงานระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงประสบกับความยากลำบาก โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวช้าสะท้อนว่า
ได้ผ่านพ้นระยะการฟื้นตัวแบบง่ายไปแล้ว ส่วนแนวโน้มระยะต่อไปขึ้นอยู่กับการเลือกตั้ง และความสัมพันธ์กับจีนที่ค่อนข้างตึงเครียด ทางด้านยุโรป กิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นในเดือนสิงหาคมแม้มีการพักงานพนักงาน และคาดว่าธนาคารกลางสหภาพยุโรปจะไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีนี้เพราะภาพรวมเศรษฐกิจแย่น้อยกว่าที่คาด
สำหรับจีน การฟื้นตัวต่อเนื่อง ภาคเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ภาคการผลิตยังคงดีขึ้น ความเสี่ยงในภาคการเงินลดลง แต่มีความไม่แน่นอนในภาคต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่น การระบาดรอบสองของโควิดให้ผลกระทบในวงจำกัด เนื่องจากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การฟื้นตัวยังช้า ขณะที่ผู้นำคนใหม่ให้คำมั่นว่ายังคงใช้นโยบายกระตุ้นต่อไป
ไทยเผชิญรอยแผลวิกฤติการณ์และความเสี่ยงใหม่
สำหรับประเทศไทยกำลังเผชิญกับรอยแผลของวิกฤติการณ์และมีความเสี่ยงใหม่เกิดขึ้น เดือนกรกฎาคมการบริโภคภาคเอกชนลดลงเล็กน้อย 0.1% เท่านั้น เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ส่วนวันหยุดชดเชยสงกรานต์ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายแต่ไม่ได้ทำให้การฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนลดลง 12.8% และความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจดีขึ้นแต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด
การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังหดตัวในเลขสองหลักแม้ส่วนหนึ่งดีขึ้น การระบาดยังคงมีผลต่อความต้องการและการผลิตสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ ยางพารา พลาสติก และปิโตรเลียม แต่การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวดีขึ้น
การส่งออกยังคงหดตัวเล็กน้อย การนำเข้าที่ลดลงสะท้อนความต้องการที่ชะลอตัวและแนวโน้มการส่งออกที่ไม่สดใส ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดทั้งปียังเป็นศูนย์ นอกจากนี้ การระบาดของโควิดยังทิ้งแผลเป็นให้กับตลาดแรงงาน จำนวนคนที่ถูกออกจากงานเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม วิจัยกรุงศรีประเมินว่า 1 ใน 3 ของแรงงานในระบบจะถูกลดเงินเดือน หรือถูกออกจากงาน
นโยบายเศรษฐกิจที่ตอบสนองกับการระบาดยังคงล่าช้าและไม่เพียงพอ ช่วงการฟื้นตัวแบบง่ายได้ผ่านพ้นไปแล้ว และการฟื้นตัวในระยะต่อไปจะยากกว่าเดิม เพราะ 1) การช่วยเหลือทางการเงินสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2) ความเสี่ยงจากสถานการณ์การเมือวมีมากขึ้นจากการประท้วง และความล่าช้านในการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3) ความเชื่อมั่นลดลงและเงินทุนไหลออก 4) การว่างงานเพิ่มขึ้นและความเสี่ยงเจอการระบาดรอบสอง
แม้แนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่สดใสและเงินเฟ้อติดลบ แต่วิจัยกรุงศรีคาดว่า แบงก์ชาติจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยอีกในระยะอันใกล้นี้ และประเมินว่า เศรษฐกิจครึ่งหลังของปีจะติดลบจากระยะเดียวกันของปีก่อน
หมายความว่า ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังคงต้องการสภาพคล่อง เครื่องมือนโยบายการเงิน และการดำเนินนโยบายการเงินครั้งต่อไปมีความเป็นไปได้ที่จะสนับสนุนแบบเจาะจงเป้าหมายมากขึ้น
ธุรกิจจ่อเข้าสู่วงจรอุบาทว์เหตุเชื่อมโยงข้ามอุตสาหกรรม
การดำเนินงานของภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันจากอุปสงค์และอุปทาน (supply and demand shocks) ความเสียหายและความเชื่อมโยงจะทำให้เกิดวงจรอุบาทว์
การระบาดของไวรัสนำไปสู่แนวโน้มที่แย่ลงของเศรษฐกิจโดยรวม เพราะส่งผลกระทบต่อรายได้และการทำกำไรของภาคธุรกิจ คุณภาพสินทรัพย์ด้อยลง และภาคธุรกิจประสบความยากลำบากในการการหาเงินกู้ก้อนใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การขาดสภาพคล่อง และกดดันให้ต้องปิดกิจการ ยิ่งจะซ้ำเติมผลกระทบ และเกิดวงจรอุบาทว์ของการปิดกิจการ อันเป็นผลจากความเชื่อมโยงระหว่างกันของธุรกิจ
วิจัยกรุงศรีได้วิเคราะห์และประเมินจากแบบจำลองเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของธุรกิจในทุกภาคอุตสาหกรรม พบว่า ธุรกิจมีความเชื่อมโยงทั้งในอุตสาหกรรมเดียวกันและข้ามอุตสาหกรรม
หากมีธุรกิจใดปิดกิจการลงก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของอีกธุรกิจหนึ่ง ซึ่งจะทำให้จำนวนธุรกิจที่ไม่มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการชำระหนี้สูงขึ้น เช่น การปิดกิจการร้านอาหารหนึ่งแห่ง จะมีผลต่อรายได้ของซัพพลายเออร์วัตถุดิบ และต่อเนื่องไปยังภาคเกษตรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงที่ธุรกิจในอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจนั้นจะปิดกิจการแต่ละภาคธุรกิจจะมีปัญหาสภาพคล่องที่แตกต่างกัน
ผลกระทบจึงอาจจะเป็นแบบถาวรกับบางธุรกิจ แต่สำหรับภาคธุรกิจส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาชั่วคราว การระบาดของโควิด-19 กระทบต่อรายได้และกำไร และธุรกิจส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ฐานะทางการเงินจะดีขึ้นก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว การฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจก็แตกต่างกัน และจะมีกลุ่มหนึ่งที่ปิดกิจการถาวร และจากข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า บริษัทไทยส่วนใหญ่ไม่มีสินทรัพย์เพียงพอที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งหมายถึงว่า กระแสเงินสดมีความเปราะบางต่อการรองรับ shocks
วิจัยกรุงศรีประเมินว่าการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจใน 6 ช่องทางในอนาคตอันใกล้นี้ โดยผลกระทบทันทีคือ 1) ความต้องการที่ลดลง 2) การขาดสินทรัพย์ 3) ไม่สามารถหาสินเชื่อใหม่ได้ 4) ภาระหนี้สูง ส่วนในระยะยาวคือ 5) พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังโควิด 6) ขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำหรืออยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่เหมาะกับความสามารถที่มี ขณะที่ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) เสนอแนะนโยบายทางเลือกหลายข้อ ซึ่งรวมถึงการพักชำระหนี้ การให้สินเชื่อแบบเจาะจงเป้าหมายแก่ธุรกิจ และการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ในตลาดการเงิน
เมื่อเจาะลึกลงไปในระดับบริษัท พบว่ามี 143,414 บริษัท (30% จากทั้งหมด) อาจประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง
จากการวิเคราะห์ของวิจัยกรุงศรีที่ครอบคลุม 473,324 บริษัทในประเทศจากข้อมูลที่มี พบว่า 143,414 บริษัท (30% จากทั้งหมด) อาจประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง หรือมีฐานะการเงินที่แย่ลงในปี 2021 โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มบันเทิงและสันทนาการ กลุ่มโรงแรม กลุ่มร้านอาหารและกลุ่มประมง ส่วนอีก 132,980 บริษัท (28% ของทั้งหมด)จะมีความเปราะบางและมีความเสี่ยง โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากขึ้นคือกลุ่มถ่านหิน กลุ่มสันทนาการ กลุ่มสิ่งทอ และกลุ่มเครื่องหนัง มีเพียง 32% ของ 154,318 บริษัทเท่านั้น ที่จัดว่ามีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและคาดว่าจะรอดพ้นจากวิกฤติโควิด-19
บริษัทที่ประสบปัญหาสภาพคล่องส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก
จากการวิเคราะห์พบว่า 143,403 บริษัทอาจจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยที่ 136,152 (95%) เป็นบริษัทขนาดเล็ก และส่วนใหญ่อยู่ในภาคค้าส่งและค้าปลีก ธุรกิจบริการ และอสังหาริมทรัพย์ ตามลำดับ ขณะเดียวกันบริษัทส่วนใหญ่ในภาคธุรกิจน้ำมันและก๊าซ รถยนต์ และโรงแรมเป็นบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลาง
ธุรกิจต้องการเงิน 2.3 ล้านล้านบาทเพื่อให้อยู่รอดในปี 2021
วิจัยกรุงศรีคาดว่า ภาคธุรกิจต้องการเงิน 2.3 ล้านล้านบาทเพื่อไปชำระหนี้ โดยเมื่อแยกเป็นรายอุตสาหกรรม ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกต้องการเงินรวมกัน 500,000 ล้านบาท ธุรกิจผลิตอาหารและดีลเลอร์แต่ละภาคต่างมีหนี้ 120,000 ล้านบาท และเมื่อแยกตามขนาด บริษัทขนาดใหญ่ต้องการเงิน 0.6 ล้านล้านบาท บริษัทขนาดกลาง 0.38 ล้านล้านบาท และบริษัทขนาดเล็กต้องการเงิน 1.34 ล้านล้านบาท
แรงงาน 11.8 ล้านคนเสี่ยงถูกลดเงินเดือนหรือตกงาน
จากการวิเคราะห์ของวิจัยกรุงศรีพบว่า แรงงาน 11.8 ล้านคน หรือ 33.2% ของแรงงานในระบบ อาจจะตกงานซึ่งรวมถึง 4 ล้านคนในภาคเกษตร อีก 1.4 ล้านคนในค้าปลีก และ 1 ล้านคนในธุรกิจร้านอาหาร ภาคธุรกิจที่เปราะบางที่สุดในแง่จำนวนบริษัทที่กำลังมีปัญหาการเงินและการจ้างงานคือ กลุ่มบันเทิงและสันทนาการ กลุ่มร้านอาหาร กลุ่มโรงแรม กลุ่มพืชไร่ และกลุ่มประมง
การปิดกิจการและผลิตภาพแรงงานที่ลดลงมีผลต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยราว 0.5%
คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปและธนาคารกลางสหรัฐฯ เชื่อว่าการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปนมีผลต่อเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในช่วงนั้นรายได้ลดลง 6.9% และลดการเติบโตของเศรษฐกิจตามศักยภาพลง 0.6% ปัจจุบันสินทรัพย์รวมทั้ง 48.3 ล้านล้านบาทของบริษัทไทยนั้น ราว 28.7% (หรือ 6.9 ล้านล้านบาท) เป็นของบริษัทที่กำลังมีปัญหาทางการเงิน และอีก 22.8% เป็นของบริษัทที่จัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง สินทรัพย์เหล่านี้อาจะนำออกมาใช้ในเร็วๆ นี้หากกิจกรรมทางธุรกิจอ่อนตัว ซึ่งอาจทำให้ต้องปลดคนงานและนำไปสู่การว่างงานถาวร และจะกระทบต่อความต้องการในระยะสั้นและมีผลให้ผลิตภาพแรงงานในระยะยาว
วิจัยกรุงศรีคาดว่า การปิดกิจการ สินทรัพย์ที่ยังไม่ได้นำออกมาใช้ และผลิตภาพแรงงานที่ต่ำ จะมีผลต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยราว 0.5% จึงจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนช่วยเหลือให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวต้องทรุดลงอีกในระยะยาว
เพื่อประเมินผลของนโยบายที่นำไปใช้ในการที่ตอบสนองการระบาดของโควิด วิจัยกรุงศรีได้พัฒนาแบบจำลองที่ประกอบไปด้วยนโยบายและเครื่องมือใน 5 ด้านด้วยกัน คือ การลดอัตราดอกเบี้ย การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การพักชำระหนี้ การให้สินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน และการให้สินเชื่อแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย
นโยบายทางเลือก
- การลดอัตราดอกเบี้ย
การลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยได้เฉพาะกลุ่มที่มีสินเชื่อกับธนาคาร ผลที่ได้มีจำกัด หากสมมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% บริษัทที่จะรับผลดีจากแนวนโยบายนี้คือ บริษัทที่ใช้สินเชื่อธนาคารอยู่แล้ว แต่ในทางกลับกัน รายได้ดอกเบี้ยของธนาคารลดลง และจำนวนบริษัทที่จะช่วยได้มีเพียง 4,235 บริษัท หรือ 3.0%
- การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
จะช่วยไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ในบริษัทที่มีกระแสเงินสดเป็นบวก โดยหากยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 20% บริษัทที่จะได้รับผลจากแนวนโยบายนี้ คือบริษัทที่มีกระแสเงินสดเป็นบวก ในทางกลับกันรัฐบาลจะสูญเสียรายได่ภาษี และบริษัทที่จะช่วยได้มีเพียง 7,430 ราย หรือ 5.2%
- การพักชำระหนี้
จะช่วยได้เฉพาะบริษัทที่มีสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้ว โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวได้เร็ว หากใช้แนวนโยบายการพักชำระหนี้ด้วยการเลื่อนระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปเป็นสิ้นปี 2020 บริษัทที่มีสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้วเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ แต่ธนาคารจะสูญเสียรายได้ดอกเบี้ย และจำนวนบริษัทที่สามารถช่วยเหลือได้มี 14,436 หรือ 10.1% ของบริษัทที่ประสบปัญหาทั้งหมด
- การผ่อนคลายเงื่อนไขสินเชื่อในตลาดการเงิน
จะมีผลให้กลไกตลาดทำงานตามปกติ หากตั้งสมมติฐานว่าแต่ละบริษัทสามารถขอสินเชื่อโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันได้เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง บริษัทที่จะได้ประโยชน์จากแนวนโยบายนี้คือบริษัทที่เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น แต่ในทางกลับกลับเพิ่มความเสี่ยงและต้นทุนให้กับธนาคารหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ และจำนวนบริษัทที่จะได้รับความช่วยเหลือมี 38,133 บริษัท หรือ 26.6%
- การให้สินเชื่อแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายที่กำลังมีปัญหา
จะป้องกันไม่ให้บริษัทอีกกว่า 40,000 บริษัทต้องปิดกิจการ โดยหากว่ามีการให้เงินกู้จำนวน 500,000 ล้านบาทแก่บริษัทกลุ่มเป้าหมายที่มีคุณสมบัติ 2 ข้อคือ 1) มีปัญหารุนแรงโดยใช้การวิเคราะห์จากอัตราส่วนต่างๆ 2) มีผลทางบวกต่อภาคธุรกิจอื่นแบบทวีคูณ (multiplier effect) ก็จะช่วยบริษัทที่มีปัญหาได้ทั้งหมด โดยหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ รัฐบาลจะเป็นผู้รับความเสียหายไว้ทั้งหมด และบริษัทที่จะช่วยเหลือได้มีจำนวน 41,825 บริษัทหรือ 29.2%
โดยสรุป การให้สินเชื่อแบบเจาะกลุ่มเป้าหมาย และการผ่อนคลายเงื่อนไขสินเชื่อ เป็นแนวนโยบายที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้ แนวนโยบายทั้งสองข้องนี้จะช่วยให้บริษัทในสัดส่วน 29.2% และ 26.6% ตามลำดับไม่ประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่องในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่การลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยบริษัทได้เพียง 3.0% ของบริษัททั้งหมดเท่านั้น ที่สำคัญไปยิ่งกว่าคือ เครื่องมือนโยบายแต่ละด้านจะให้ผลที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละภาคธุรกิจ การพักชำระหนี้และการลดดอกเบี้ยจะช่วยได้เพียงบริษัทที่มีสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้วเท่านั้น ขณะที่การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจะช่วยได้เฉพาะบริษัทที่มีกระแสเงินสดเป็นบวก และการผ่อนคลายเงื่อนไขสินเชื่อจะช่วยได้เฉพาะบริษัทที่มีสินทรัพย์เพียงพอ แต่การให้สินเชื่อแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายจะช่วยบริษัทได้ทั้งหมด
นโยบายทางเลือกควรพิจารณาจากสาเหตุของปัญหา เครื่องมือนโยบายแต่ละด้านจะให้ผลต่อแต่ละธุรกิจแตกต่างกัน แต่ละเครื่องมือมีทรัพยากรที่ใช้ได้อย่างจำกัดและเป็นข้อจำกัดของเครื่องมือนโยบายแต่ละด้าน
วิจัยกรุงศรีเห็นว่า เครื่องมือนโยบายควรนำมาใช้ให้ตรงกับกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย ตัวอย่าง หากกลุ่มธุรกิจเป้าหมายมีสินทรัพย์เพียงพอ แนวทางแก้ไชเพื่อช่วยเหลือก็ควรเป็นการผ่อนปรนเงื่อนไขสินเชื่อ ส่วนบริษัทที่มีสินทรัพย์ไม่มากและไม่มีสินเชื่อกับธนาคาร เครื่องมือที่นโยบายที่เหมาะสมคือ การให้สินเชื่อแบบเจาะจงเป้าหมาย
การตอบสนองทางนโยบายมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติ เพราะไม่เพียงที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ธุรกิจปิดกิจการในระยะสั้น แต่ยังช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตตามศักยภาพในระยะยาว
Source: ThaiPublica
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
--------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you