ทำไม 'แบงก์ชาติ' ควรจะ 'ลดดอกเบี้ย' ลงอีก? สถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัจจัย 3 ด้าน ทั้งการระบาดระลอก 2

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอีกรอบจากปัจจัยอุปสงค์อ่อนตัวลง และปัจจัยการเมืองในประเทศกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่การตัดสินใจของแบงก์ชาติจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหรือไม่?

ตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในไตรมาส 2 ที่เพิ่งประกาศออกมา ถือว่าค่อนข้างเป็นไปตามที่หลายคนได้คาดการณ์กันไว้ ปรากฏว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ผ่านมาจีดีพีติดลบ 12.2% รวมทั้งภาคการส่งออกที่ติดลบ 10% ทำให้จีดีพีหดตัวลงมาก โดยการลงทุนรวมในไตรมาสก่อนลดลง 8% การบริโภคเอกชนลดลง 6.6%
สำหรับเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกปรากฏว่าติดลบ 6.9% การบริโภครวมลดลง 7.2% การลงทุนรวมลงลง 10.2% ขณะที่การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 1.2% การส่งออกครึ่งปีแรกลดลง 17.8%
นอกจากนี้สภาพัฒน์ยังปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลงโดยคาดว่าจะติดลบ 7.8% ถึง -7.3% โดยมีค่ากลางที่ 7.5% ส่วนการบริโภคคาดว่าจะลดลง 3.1% และการลงทุนคาดว่าจะลดลง 2.1% รวมถึงการส่งออกคาดว่าจะลดลง 20% โดยภาพทั้งหมดถือว่าใกล้เคียงกับที่ผมเคยทำประมาณการไว้ในงานสัมมนาของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน/ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเกือบ 4 เดือนก่อน
สำหรับในครึ่งหลังของปีนี้ของเศรษฐกิจไทย ผมมองว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดมีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง การระบาดระลอกสองของโควิด สอง การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอีกรอบจากปัจจัยด้านอุปสงค์ที่อ่อนตัวลง เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐต่อโควิดที่ใกล้จะหมดลง และสาม ปัจจัยการเมืองในประเทศที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการชะลอเม็ดเงินลงทุน
เริ่มจากปัจจัยการระบาดระลอกสองของโควิด แม้ว่าในขณะนี้บ้านเราจะปลอดจากผู้ติดเชื้อของประชาชนภายในประเทศมากว่า 1 เดือนแล้ว อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจากโรคระบาด Swine Flu หรือไข้หวัดหมูในบ้านเราเมื่อปี 2009 จะพบว่าระยะเวลาระหว่างโรคระบาดระลอกแรกกับระลอกสองห่างกันอยู่ประมาณ 30 สัปดาห์ ดังรูปที่ 1โดยที่ความรุนแรงของโรคระบาดระลอกสองอยู่ที่ราวครึ่งหนึ่งของระลอกแรก
นอกจากนี้นิวซีแลนด์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีผลงานที่บริหารจัดการกับโควิดได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ก็พบผู้ติดเชื้อโควิดอีกครั้งโดยจำนวนตัวเลข double digit หลังที่ไม่พบผู้ติดเชื้อมาแล้วกว่าร้อยวัน ดังนั้นปัจจัยการระบาดระลอกสองของโควิดในบ้านเราก็ยังไม่สามารถที่จะกาทิ้งออกไปได้ว่าจะไม่เกิดขึ้น ตรงนี้ยังไม่นับรวมการระบาดระลอกสองของโควิดของประเทศเพื่อนบ้านที่จะทำให้การค้าระหว่างกันตามขอบชายแดนลดลงอีกด้วย
สอง การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอีกรอบจากปัจจัยด้านอุปสงค์ที่อ่อนตัวลงอีกครั้ง เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐต่อโควิดที่ใกล้จะหมดลงในขณะที่ประชาชนยังคงตกงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเซ็กเตอร์การบริการที่พึ่งพาลูกค้าต่างชาติในบ้านเรา ก็ยังไม่สามารถเปิดทำการได้หรือได้อย่างเต็มที่ หรือที่เรียกกันว่า Greater Recession
ประเด็นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่ในวงการเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากวิกฤติที่ผ่านมาทุกรอบใน generation ของเราไม่เคยมีปรากฏการณ์นี้มาก่อน ทำให้ค่อนข้างยากที่จะประเมินระดับการลดลงของอุปสงค์ที่มีผลต่อจีดีพี ทว่าคาดการณ์กันว่าน่าจะไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1-1.5 ของจีดีพี
ท้ายสุดการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นเทรนด์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ก็ถือเป็นปัจจัยที่จะผลต่อความเชื่อมั่นและการชะลอเม็ดเงินลงทุน เนื่องจากปรากฏการณ์ทางสังคมนี้ที่กำลังแพร่หลายในขณะนี้ ถือเป็นสิ่งใหม่ในบ้านเรา แม้ว่าผมยังมองว่าน่าจะไม่รุนแรงเท่ากับฮ่องกงเมื่อปีที่แล้วทว่าก็ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนและความเชื่อมั่นอยู่บ้าง โดยเฉพะอย่างยิ่งในมิติของเสถียรภาพทางการเมืองในระยะยาวที่ค่อยๆ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป หากฝ่ายต่างๆ ยังไม่หันหน้ามาคุยกันอย่างเข้าใจในเร็ววัน
ทำให้ผมมองว่าปัจจัยเสี่ยงทั้งสามที่กล่าวข้างต้นของเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปีนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งด่านหินที่สำคัญ จะทำให้เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มเติมต่ออีกระลอกสองของปี โดยจากรูปที่ 2 และ 3 จะพบว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีของไทยจะลงไปที่ร้อยละ -9.2 หรือจะใกล้เคียงกับที่สภาพัฒน์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ -7 ตามลำดับ อยู่ที่การตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำลงเป็นที่ระดับร้อยละ 0-0.25 หรือไม่
เหตุผลคือ จากงานศึกษาด้านนโยบายการคลังหลายฉบับ พบว่าค่าคงที่ของการส่งผ่านจากมาตรการคลังที่ผ่อนคลายไปยังอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ Fiscal Multiplier ภายใต้บรรยากาศของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นศูนย์ (Zero Lower Bound) จะมีขนาดเป็นสี่เท่าของบรรยากาศของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มากกว่าศูนย์
ซึ่งจากรูปที่ 2 และ 3 จะพบว่าเมื่อรัฐบาลออกแพ็คเกจการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยขนาดเป็นครึ่งหนึ่งของแพ็คเกจกระตุ้นรอบแรก จะพบว่าหากแบงก์ชาติยังคงอัตราดอกเบี้ยเท่ากับในตอนนี้ คาดการณ์ว่าจะทำให้จีดีพีของไทยในปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ -9.2 ในขณะที่หากลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงคาดการณ์ว่าจีดีพีของไทยในปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ -6.1
ทั้งนี้สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากหากลดอัตราดอกเบี้ยลง ประชาชนจะมองว่าภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลจากการกู้เงินหรือออกพันธบัตรน่าจะลดลงมาก จนไม่ต้องเพิ่มอัตราภาษีขึ้นมาในอนาคต ซึ่งทำให้ประชาชนกล้าที่จะใช้จ่ายเงินมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
แน่นอนว่าการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจนระดับใกล้เป็นศูนย์ จะส่งผลต่อผลตอบแทนสำหรับเงินออมของคนวัยเกษียณให้ลดลงและยังเกิดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินเพิ่มเติมจากปรากฏการณ์ search for yield อย่างไรก็ดีความไม่แน่นอนของปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจในวันนี้ ถือว่าอาจจะมีมากเกินกว่าผลดีจากการคงดอกเบี้ยไว้ เพื่อเลี่ยงผลเสียอันมาจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละศูนย์ก็เป็นได้
โดย ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ | คอลัมน์ มุมคิดมหภาค
[บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม 2563]
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คลิก

---------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 

Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"