ทำไม "ดอลลาร์" สกุลเงินหลักของโลก ในวันนี้ถึงอ่อนค่าลง จนหลายคนวิเคราะห์กันว่าดอลลาร์อาจจะไม่ใช่เงินสกุลหลักอีกต่อไปหรือ? ขณะที่ฟากนักลงทุนก็ตั้งคำถามถึงแนวโน้มการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจขาลง พร้อมๆ กับดอลลาร์อ่อน จะต้องทำอย่างไร?
ดอลลาร์อ่อนค่าในเดือนกรกฎาคมถึง 5% ซึ่งเป็นเดือนที่การด้อยค่าที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี โดยเริ่มมีกระแสข่าว และบทวิเคราะห์ออกมาว่าค่าเงินดอลลาร์กำลังถูกลดบทบาทความสำคัญต่อความเป็นสกุลเงินหลักของโลก วันนี้ผู้เขียนจะมาชวนวิเคราะห์กันว่าการอ่อนค่าในครั้งนี้มีเหตุและผลอย่างไร
ดอลลาร์กำลังจะไม่ใช่เงินสกุลหลักของโลกจริงหรือ?
การจะดูว่าดอลลาร์ยังเป็นเงินสกุลหลักของโลกหรือไม่ ให้เริ่มดูจากสัดส่วนของเงินดอลลาร์ในตะกร้าทุนสำรองของแต่ละประเทศในโลก ซึ่งพบว่าในปัจจุบันเงินดอลลาร์ยังคิดเป็นสัดส่วนถึงกว่า 60% ของทุนสำรองของทุกประเทศในโลกรวมกัน และไม่ได้มีแนวโน้มที่ลดลงแต่อย่างใด
อีกประเด็นคือ ต้องดูว่าการค้าการแลกเปลี่ยนเงินของโลกส่วนใหญ่ยังทำผ่านสกุลดอลลาร์สหรัฐหรือไม่ ซึ่งทุกวันนี้กว่า 80% ของธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราของโลกยังทำผ่านสกุลดอลลาร์ และแนวโน้มตรงนี้ไม่ได้ลดลง ถ้าแนวโน้มตรงนี้ลดลงนั่นหมายความว่าการแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศไม่จำเป็นต้องใช้เงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินทางผ่านแล้วซึ่งจะสะท้อนว่าความจำเป็นของเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจลดลง
สรุปก็คือ เราคงยังไม่ได้เห็นเงินดอลลาร์หลุดจากการเป็นเงินสกุลหลักของโลกเร็วๆ นี้ และแต่ละประเทศก็จะยังคงใช้เงินตราของตัวเองเทียบกับเงินดอลลาร์เป็นหลักอยู่ต่อไป
แล้วทำไมดอลลาร์ถึงอ่อนค่ารุนแรงรอบนี้
นอกเหนือจากเศรษฐกิจที่ปรับลดลงรุนแรงอันเป็นผลมาจากวิกฤติ COVID-19 สิ่งที่เกิดขึ้นคือมาตรการอัดฉีดเงินของสหรัฐในรอบนี้ ทำให้ปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนอย่างมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ถึง 20% ของปริมาณเงินที่มีอยู่จาก 15.5 เป็น 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทานปกติเลยว่าเมื่อปริมาณเงินเพิ่มขึ้น ค่าของเงินก็ปรับลดลง การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินนี้จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างรุนแรงในรอบนี้
การจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นนอกจากการอัดฉีดด้วยนโยบายการเงิน การคลังแล้ว ค่าเงินที่อ่อนตัวก็มีส่วนช่วยสนับสนุนเช่นกันเพราะทำให้มูลค่าการส่งออกสูงขึ้นจากราคาสินค้าที่ถูกลง รวมถึงสนับสนุนให้ต่างชาติมาท่องเที่ยวเพราะค่าเงินของประเทศถูกลง ผู้เขียนจึงมองว่าการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งน่าจะเป็นมาจากเจตนาของสหรัฐเอง ซึ่งทำผ่านการพิมพ์เงินเพิ่มปริมาณเงินในระบบเป็นอย่างมากให้ค่าเงินอ่อนลง เพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ดอลลาร์อ่อนค่าส่งผลต่อสินทรัพย์ลงทุนอย่างไร ในช่วงเศรษฐกิจขาลง
ในภาวะเศรษฐกิจปกติถ้าเงินดอลลาร์อ่อนค่าจะมาจากความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของสหรัฐที่ลดลง ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนไหลออกไปลงในสินทรัพย์ของภูมิภาคอื่นๆ เช่น ยุโรป หรือเอเชีย เพราะนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนจากค่าเงินของประเทศอื่นที่แข็งค่าขึ้น ควบคู่ไปกับผลตอบแทนจากการลงทุน
แต่ในภาวะเศรษฐกิจขาลงอย่างในภาวะวิกฤต COVID-19 ในปัจจุบัน เม็ดเงินแม้จะมีไหลออกจาการถือครองดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็จะไหลเข้าไปสู่ตลาดหุ้นของประเทศอื่นๆ ได้ในปริมาณที่จำกัด เนื่องจากนักลงทุนมีความกลัวว่าตลาดหุ้นจะตกอันเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
เงินลงทุนจึงไหลไปหาสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ อย่างทองคำมากขึ้น เพราะไม่อยากเสี่ยงกับตลาดหุ้น แต่ก็ไม่อยากถือครองเงินสกุลดอลลาร์ เนื่องจากค่าเงินมันอ่อนลง จึงทำให้เงินถูกโยกไปซื้อทองคำมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และทำให้ราคาทองคำปรับขึ้นสุงสุดในรอบประวัติการณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
โดย เจษฎา สุขทิศ
Source : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
----------------------------------------------------------------------------------
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you