‘แบงก์’กำไรทรุดเกินคาด ‘กสิกร’ ตั้งสำรอง8 พันล้านฉุดไตรมาส2ดิ่งหนัก78%

“นักลงทุน” ถล่มหุ้นแบงก์รูดหนัก หลัง “กสิกร” ประกาศงบไตรมาส 2 ต่ำคาดอื้อ โชว์กำไรเพียง 2.17 พันล้าน ทรุดลง 78% เหตุตั้งสำรองเพิ่มราว 8 พันล้าน ทั้งรายได้ดอกเบี้ยลด “นักวิเคราะห์” ประเมินแนวโน้มหนี้เสียกลุ่มแบงก์เพิ่มต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์วานนี้ (20 ก.ค.) ในส่วนของแบงก์ใหญ่ 5 อันดับแรก ซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) สูงกว่า 1 แสนล้านบาท ต่างปรับตัวลงถ้วนหน้า นำโดย ธนาคารกสิกรไทย (KBNAK) ลดลง 3.60% ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ลดลง 3.37% ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ลดลง 2.74% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ลดลง 1.85% และบมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) ลดลง 0.95%
ขณะที่ธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กที่เหลืออีก 6 บริษัท มีเพียง บมจ.ธนาคารทหารไทย (TMB) ที่ยังคงยืนอยู่ในแดนบวก
แรงกดดันต่อหุ้นกลุ่มแบงก์ คือ ผลประกอบการไตรมาส 2/2563 ของแต่ละบริษัทที่รายงานออกมาค่อนข้างน่าผิดหวัง และต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เริ่มจาก บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ซึ่งเป็นบริษัทแรกในกลุ่มที่รายงานออกมา มีกำไรสุทธิ 1.33 พันล้านบาท ลดลง 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งตัวเลขกำไรนี้ต่ำกว่าตลาดคาด 15% โดยเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ (NIM )ลดลงเหลือ 4.32% จาก 4.6% ในงวดก่อน จากทั้งการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ และสินเชื่อดอกเบี้ยสูงในกลุ่มจำนำทะเบียนลดลง
ด้านหนี้เสีย (NPL) เร่งตัวขึ้นจาก 2.56% ณ สิ้นไตรมาส 1ปี2563 มาอยู่ที่ 3.28% จากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและลูกหนี้ไหลตกชั้นตามความเป็นจริง เนื่องจากธนาคารเปิดเผยว่ามีลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้เพียง 10% ของพอร์ตสินเชื่อธนาคาร แบ่งเป็นสัดส่วน 3% ของพอร์ตสินเชื่อพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
ขณะที่ในกลุ่มแบงก์ใหญ่ KBANK เป็นรายแรกที่แจ้งผลประกอบการออกมา โดยรายงานกำไรสุทธิ 2.17 พันล้านบาท ลดลง 78% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 9.92 พันล้านบาท ส่งผลงวด 6 เดือน มีกำไรสุทธิ 9.55 พันล้านบาท ลดลง 52% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.99 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตัวเลข NPL ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2563 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.92% จาก ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 3.65%
สำหรับกำไรสุทธิของ KBANK ที่ลดลง เป็นผลจาก การตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นราว 8.32 พันล้านบาท หรือ 70.08% จากไตรมาสก่อน ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยลดลงราว 3.56%
ด้าน ธนาคารเกียรตินาคิน หรือ KKP รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2563 อยู่ที่ 1.18 พันล้านบาท ลดลง 19.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ครึ่งปีแรก2563 มีกำไรสุทธิ 2.66 พันล้านบาท ลดลง 1.13%
ธนาคารทหารไทย หรือ TMB รายงานกำไรสุทธิงวดไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ 3.09 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.42% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากรายได้รวมเติบโต หลังควบรวมกับธนาคารธนชาต ขณะที่งวดครึ่งปีแรก 2563 มีกำไรสุทธิ 7.25 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 107.61% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ด้วยเศรษฐกิจที่อ่อนแอส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้หลายกลุ่ม จึงคาดว่าสัดส่วน NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์ มีโอกาสขยับขึ้นมาที่ 3.3 – 3.4% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 2ปี2563 จากระดับ 3.05% ในไตรมาส 1/2563 ขณะที่สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit cost) จะขยับสูงขึ้นไปอยู่ในกรอบ 1.65 – 1.9% เทียบกับ 1.46% ในไตรมาสก่อน เพราะการตั้งสำรองฯ ในระดับสูงตามความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มขึ้นของ Credit cost ทุกๆ 0.10% จะทำให้กำไรสุทธิลดลงประมาณ 3.3 – 4 พันล้านบาท
โดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจที่ถูกกระทบอย่างหนักในปีนี้ และอาจจะยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการฟื้นกลับเข้าสู่สภาวะปกติ จะกลายเป็นสมมติฐานสำคัญที่แบงก์ทุกแห่งใช้ในการวางแผนธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องในปีหน้า ขณะที่ปัญหาคุณภาพหนี้มักเป็นตัวแปรตามหลังสภาวะเศรษฐกิจ (Laggard) ดังนั้น แม้สัญญาณเศรษฐกิจอาจเริ่มดีขึ้นบ้างในปีหน้า แต่จะยังมีโอกาสเห็น NPL ในระบบเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้ และทำให้ธนาคารแต่ละแห่งต้องเตรียมตั้งสำรองฯ ในระดับสูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง
‘แบงก์’กำไรทรุดเกินคาด ‘กสิกร’ ตั้งสำรอง8 พันล้านฉุดไตรมาส2ดิ่งหนัก78%
ทั้งนี้ คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มแบงก์ในไตรมาส 2ปี 2563 น่าจะลดลง 42 - 52.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ 2.68 – 3.25 หมื่นล้านบาท จากสมมติฐานที่ว่าอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ (NIM) จะลดลงมาอยู่ในกรอบ 2.2 – 2.5% จาก 3% ในไตรมาสแรก
ด้าน นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนี้ตี้ เปิดเผยว่า กำไรของหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ทยอยประกาศออกมานี้ สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการพักชำระหนี้ของธปท.ไม่สามารถกดให้ NPL ลดลงได้ เพราะคุณภาพของลูกหนี้ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการเสื่อมถอยไปเยอะมาก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการกลุ่มแบงก์แย่กว่าคาด จากการตั้งสำรองฯ ที่มากขึ้น ทำให้กลุ่มแบงก์มีความเสี่ยงที่จะจ่ายเงินปันผลลดลง สอดคล้องไปกับกำไรที่น่าจะถูกปรับประมาณการลง
“ปัจจุบัน Consensus ยังประเมินเงินปันผลต่อหุ้นของกลุ่มในระดับเท่ากับปีก่อน แต่สถานการณ์ปัจจุบันเป็นสิ่งที่ยากมากที่แบงก์จะจ่ายปันผลในระดับเดิม นักลงทุนที่วาดฝันไว้ว่าแบงก์อาจจะจ่ายเงินปันผลทั้งหมดทีเดียวปลายปี หลังจากงดปันผลระหว่างกาล ก็อาจจะต้องผิดหวัง และมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะสะท้อนต่อความผิดหวังนี้ในช่วงถัดไป”
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์อาจจะไม่ปรับลดลงแรงนัก เพราะราคาปัจจุบันซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีมากแล้ว แต่แรงหนุนให้ปรับขึ้นก็ไม่มีเช่นกัน ทำให้ราคาหุ้นมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบแคบหลังจากนี้ โดยรวมแนะนำหลีกเลี่ยงลงทุน เพราะเสน่ห์ในเรื่องเงินปันผลน่าจะหมดไป จากอัตราเงินปันผลที่มีโอกาสจะลดลงต่ำกว่า 3%
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คลิก

เพิ่มเติม
- SCB ปรับเป้าปี 63 หั่นรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย-เพิ่มค่าใช้จ่ายหนี้สูญ!
คลิก

คลิก

- KTB เผยกำไร Q2/63 ลดลง 40.8% จากไตรมาสก่อน จากตั้งสำรองฯสูง:
คลิก


------------------------------------------------------
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 

Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"