ส่งออกไทยอ่วมเจอปัญหาหลายเด้ง การค้าโลกหดตัวรุนแรง ยอดส่งออกติดลบหนัก แถมคู่ค้าต่างประเทศดึงเกมจ่ายเงิน สัญญาณ “เบี้ยวหนี้” รุนแรง กลุ่มผู้ส่งออกรายใหญ่เร่งนัดถกรับมือ ก.ค.นี้ หอการค้าไทยเผยผู้ส่งออกไทย 90% ดีลโอนเงินคู่ค้าตรงทำให้ต้องแบกความเสี่ยง
หวั่นกระทบสภาพคล่องผู้ผลิตไทย “ศรีตรัง” ยักษ์ส่งออกถุงมือยางเผยลูกค้าใหม่เก็บเงินล่วงหน้า 100% “เอ็กซิมแบงก์” เผย 3 สินค้าที่มีปัญหาหนัก “ข้าว-อาหารกระป๋อง-จิวเวลรี่”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจและการค้าโลกหดตัวอย่างรุนแรง โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับประมาณการจีดีพีโลกติดลบ -4.9% รวมทั้งเศรษฐกิจหลักของกลุ่มประเทศสหรัฐ สหภาพยุโรป รวมถึงเอเชียลดลงหมด และคาดว่าจะส่งผลต่อการค้าโลกหดตัว -13.4% ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยซึ่งเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการถึงราว 70%
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประเมินว่า ปีนี้ภาคส่งออกจะติดลบถึง -10.3% ด้านกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือน พ.ค. 2563 มีมูลค่า 16,278 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 22.50% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 130 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2552 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศทั่วโลก และส่งผลให้ 5 เดือนแรก ส่งออกไทยหดตัว -3.7% นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้ส่งออกก็กำลังเผชิญกับปัญหาคู่ค้าต่างประเทศผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ยักษ์ส่งออกประชุมรับมือ
นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางกลุ่มผู้ส่งออกรายใหญ่ได้มีการนัดประชุมหารือเรื่องปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในต้นเดือน ก.ค.นี้ เพราะหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศคู่ค้าส่งออกหลายประเทศได้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ บางประเทศมีลูกค้าประสบปัญหาสภาพคล่อง หรือล้มละลาย จึงมีการเลื่อนชำระเงินค่าสินค้าส่งออก สร้างความเสียหายกับภาคการส่งออกขณะนี้ และกำลังส่งผลกระทบเชื่อมโยงมาถึงสภาพคล่องของผู้ผลิตสินค้าเรียลเซ็กเตอร์แล้วตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
เนื่องจากปัจจุบันการส่งออกไทยปีละ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่ประมาณ 90% จะใช้วิธีการชำระเงินแบบลูกค้าโอนเงินที่ผู้ส่งออกตามที่ตกลงกันไว้ โดยที่ไม่มีการให้แบงก์รับประกัน (TT) เป็นวิธีหลักที่นำมาใช้แทนระบบ L/C หรือ letter of credit เป็นวิธีเก่าที่ใช้เมื่อ 10-20 ปีก่อน เหตุที่ลูกค้าไม่นิยมเปิด L/C กับแบงก์ เพราะต้องวางเงินประกันไว้ที่แบงก์ ทำให้เงินจม และยังต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แบงก์เพื่อค้ำประกันอีก มีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งลูกค้ามีปัญหาสภาพคล่องจ่ายไม่ไหว
“แต่เดิมระบบ TT ไม่มีปัญหา เราใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน แต่เพิ่งมามีปัญหาปีนี้จากเศรษฐกิจไม่ดี โควิดทำให้ทำธุรกิจไม่ได้ ไม่มีเงินสดหมุนเวียน ออร์เดอร์สั่งซื้อก็ขอชะลอส่งมอบ เมื่อไม่ได้รับชำระเงินก็กระทบถึงผู้ผลิตสินค้าซึ่งจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ข้อแนะนำตอนนี้คือ ถ้าไม่ใช้วิธีการเปิด L/C กับแบงก์ ก็ต้องสแกนลูกค้าว่ามีฐานะการเงินดีไหม” นายสนั่นกล่าว
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังผู้ส่งออกอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารหลายกลุ่มประสบปัญหาเรื่องการชำระเงินล่าช้าพบว่า กลุ่มผู้ส่งออกข้าวได้เกิดกรณีขอขยายเวลาชำระเงินค่าข้าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเกิดโควิด-19 เนื่องจากบริษัทฟีนิกซ์ โบรกเกอร์ส่งออกข้าวในตลาดโลกประสบปัญหาสภาพคล่องจากค่าเงิน ประเด็นนี้ผู้ส่งออกหลายรายยอมรับว่า ปัญหาการขอยืดเวลาชำระเงินเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายเดือน ซึ่งแต่ละรายต้องยอมเจรจาผ่อนปรนให้ลูกค้าขยายระยะเวลาชำระเงินเป็นราย ๆ ไป เพราะกังวลว่าหากส่งออกไม่ได้เลยจะกระทบมากกว่า
ศรีตรังฯเก็บเงินล่วงหน้า 100%
นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เนื่องจากศรีตรังฯมุ่งเน้นส่งออก สิ่งที่ระวังมากที่สุดคือการเก็บหนี้ ในสถานการณ์ที่ออร์เดอร์จำนวนมากจะมีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้าลูกค้าเพิ่มขึ้น และดูเครดิตลูกค้า ซึ่งภาวะปกติเรื่องค่าเงินบาทเป็นความเสี่ยงธุรกิจศรีตรังฯมาก จึงเตรียมการเพื่อบริหารความเสี่ยงอยู่ตลอด
สอดคล้องกับที่นายวิทย์นาถ สินเจริญกุล กรรมการ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลจากโควิดทำให้ตลาดถุงมือยางเติบโตอย่างมาก บริษัทมีแผนขยายตลาดจาก 130 ประเทศ เป็น 180 ประเทศทั่วโลก ขณะนี้มีออร์เดอร์ล่วงหน้าและมีลูกค้าใหม่เข้ามาจำนวนมาก แต่การเลือกรับออร์เดอร์ลูกค้าใหม่จะดูเป็นรายกรณี ซึ่งในส่วนของเงื่อนไขการชำระเงิน ยิ่งเป็นลูกค้าใหม่ต้องจ่ายล่วงหน้า 100% ไม่เช่นนั้นจะไม่ปล่อยสินค้า
ขณะที่นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทำให้หลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลต่อธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง ซึ่งครึ่งหนึ่งขายผ่านช่องทางร้านอาหาร โรงแรมกระทบบ้าง และมีปัญหาของการเลื่อนการชำระเงินบ้าง แต่จากที่ติดตามก็มีปริมาณไม่มาก อยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง แต่บริษัทต้องติดตามการดำเนินงานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด
4 มาตรการแก้ปัญหาเบี้ยวหนี้
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาหารสำเร็จรูป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกเริ่มประสบปัญหาในเรื่องการดึงเกมชำระเงินช้า แต่ยังไม่ถึงขนาดเบี้ยวหนี้ อาจเพราะในอุตสาหกรรมอาหารยังเป็นสินค้าพื้นฐานที่มีการซื้อขายได้จริง ซึ่งโดยปกติการขายสินค้าอาหารสำเร็จรูปจะใช้วิธีชำระเงินเมื่อเห็นเอกสาร (at sight) แต่มีบางกรณีที่เป็นลูกค้าระยะยาวก็จะมีการขอเครดิต 60 วัน ผู้ส่งออกได้เตรียมมาตรการป้องกันปัญหาการผิดนัดชำระเงินดังนี้ คือ
1) กรณีลูกค้าใหม่ ผู้ส่งออกควรให้เปิด L/C หรือโอนเงินเต็มจำนวนก่อนส่งมอบสินค้า
2) ในกรณีลูกค้าเก่า ไม่เคยมีปัญหาเรื่องเครดิต ถ้ามีสาขาในประเทศขอรับเป็นเช็ค ลงวันที่ล่วงหน้า ตามกำหนดการชำระเงิน
3) ในกรณีที่เป็นลูกค้าต่างประเทศ และมีเครดิตดี อย่างน้อยที่สุดควรขอเทอมกำหนดการชำระเงินเป็น DP at sight (ให้เรียกเก็บเงินก่อนส่งมอบเอกสารให้ผู้นำเข้าไปรับสินค้า)
หรือ 4) ลูกค้าที่เป็นกลุ่มก้ำกึ่งเคยซื้อขายกัน ควรขอเป็นชำระเงินล่วงหน้า 50% และอีก 50% ชำระเมื่อเห็นเอกสาร
อย่างไรก็ตาม ทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้ คือ ทำประกันการส่งออกกับธนาคาร
เสื้อผ้าขอเลื่อนรับสินค้า
นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มพบว่ามีลูกค้าขอยืดเวลาการรับมอบสินค้า ซึ่งก็หมายถึงยืดเวลาในการชำระเงินด้วย จากเดิมจะใช้วิธีการเปิด L/C ซึ่งภายใน 15 วันก็จะได้รับชำระเงิน หรือบางรายจะใช้วิธีโอนเงินก่อนส่งสินค้าโดยไม่ผ่านธนาคาร หรือ TT ซึ่งจะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์
จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวหลังโควิด-19 ผู้นำเข้าต่างประเทศโดยเฉพาะร้านค้าเสื้อผ้าต่าง ๆ ต้องปิดตัวชั่วคราว ทำให้กลุ่มนี้ขอยืดเวลาชำระเงินเกือบทั้งหมด ในช่วงเดือน มี.ค.-ส.ค. 2563 ส่วนใหญ่จะ
กลับมาเริ่มประกอบธุรกิจอีกครั้งในเดือน ก.ย.
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่การผลิตส่งออกไม่ได้ ผู้ประกอบการก็หันมาผลิตกลุ่ม medical textile เช่น ชุด PPE หน้ากากผ้า รองรับกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ มีเข้ามาคิดเป็นสัดส่วน 50% ซึ่งในกรณีการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้ารายใหม่ ๆ ก็จะมีเงื่อนไขเรื่องการชำระเงิน เช่น ให้วางมัดจำเงินสดก่อน 30-50% แล้วจ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมดก่อนที่ส่งมอบ เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้
จับตา ก.ย.โรงย้อม-โรงทอปิดตัว
“ถามว่าตลาดไหนเสี่ยงปัญหานี้ ทุกตลาดได้รับผลกระทบเรื่องนี้หมดจากเศรษฐกิจชะลอตัว และน่าแปลกที่อาเซียนเป็นตลาดที่มีเปอร์เซ็นต์ติดลบที่เยอะที่สุด ภาพรวมการส่งออกเครื่องนุ่งห่มคาดว่าทั้งปี ยอดจะติดลบ 25% จากที่เคยทำได้ 2.1 แสนล้านบาท โดยในช่วง 5 เดือนแรก กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มน่าจะลดลงประมาณ 30% แล้ว”
นายยุทธนากล่าวว่า ประเด็นที่น่าห่วงขณะนี้ คือ การที่ตลาดชะลอตัวยาว เพราะร้านค้าผู้ประกอบการปิดตัว ซึ่งกว่าจะกลับมาเปิดก็เดือน ต.ค. ซึ่งในช่วงนี้กลุ่มเครื่องนุ่งห่มยังสามารถส่งออกหน้ากากผ้ามาชดเชยได้ แต่ส่วนใหญ่ก็มีออร์เดอร์ถึงเดือน ส.ค. ทำให้ขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบที่แท้จริงของอุตสาหกรรม ยังไม่มีการใช้สิทธิเยียวยา ให้ประกันสังคมจ่าย 62% แต่กังวลว่าพอถึงเดือน ก.ย.ซึ่งหมดออร์เดอร์หน้ากากผ้า อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มจะทรุด
ขณะที่มาตรการเยียวยาของประกันสังคมก็สิ้นสุดเดือน ส.ค.พอดี ภาคเอกชนจึงพยายามจะขอให้รัฐบาลขยายมาตรการช่วยประกันสังคม 62% ออกไปอีก เพราะเริ่มเห็นผลกระทบจากที่ผู้นำเข้าขอเลื่อนรับมอบสินค้า ขณะที่โรงงานยังต้องสั่งผ้า สั่งด้าย ซึ่งคงจะเห็นการปิดตัวแน่นอน โรงย้อม โรงทอปิดตัว ขณะที่ซัพพลายเชนไทยก็จะประสบปัญหา
ห่วงครึ่งปีหลังเบี้ยวหนี้พุ่ง
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ธนาคารเห็นสัญญาณผิดนัดชำระค่าสินค้าของกลุ่มผู้ส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 2563) ลูกค้าประกันการส่งออกของเอ็กซิมแบงก์ได้ยื่นเอกสารผู้ซื้อในต่างประเทศชำระเงินล่าช้ามูลค่าเพิ่มขึ้น 195% จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกค้างชำระกว่า 617.33 ล้านบาท โดยมีลูกค้ายื่นขอรับค่าสินไหมทดแทน 24 ราย มูลค่า 284.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 226% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 12 ราย มูลค่า 87.50 ล้านบาท
สาเหตุส่วนใหญ่ 92% เกิดจากผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า รองลงมาคือ ผู้ซื้อล้มละลายราว 8% ซึ่งประเทศที่มีมูลค่ายื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ส่วนประเภทสินค้าที่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุด ได้แก่ ข้าว อาหารกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งนี้ ปัญหามีทั้งเกิดจากสินค้าที่ส่งไปมีประเทศเหล่านี้เป็นตัวกลาง แต่ประเทศปลายทางที่สั่งสินค้าไม่จ่ายเงิน จึงกระทบเป็นลูกโซ่ และสินค้าบางประเภทก็แข่งขันสูง
สู้ประเทศคู่แข่งไม่ได้
“ผลกระทบจากโควิดทำให้ทุกคนขาดสภาพคล่อง โดยตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณว่า ลูกค้าแบงก์ที่ส่งสินค้าออกไปต้องรอ คู่ค้ายังไม่จ่ายเงิน ซึ่งลูกค้าบางส่วนก็ไม่ได้ทำประกันส่งออกไว้ ก็เป็นความเสี่ยง ตอนนี้ก็เริ่มมีเข้ามาขอทำประกันเพิ่มก็มี โดยเราก็พยายามบอกให้ทุกรายทำประกันกันไว้ เพราะช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสจะผิดนัดชำระมากขึ้น การเคลมประกันส่งออกก็คงเพิ่มขึ้น เพราะแคชโฟลว์ธุรกิจเริ่มสะดุด หลายประเทศก็ยังเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่เต็มที่ การค้าการขายก็ยังไม่ฟื้น” นายพิศิษฐ์กล่าว
นายพิศิษฐ์กล่าวอีกว่า แบงก์พยายามแนะนำลูกค้าให้พูดคุยกับคู่ค้าให้มากขึ้น ยังไม่ต้องรีบตัดเครดิต เพราะไม่อย่างนั้นแนวโน้มข้างหน้าอาจจะกระทบการทำการค้าในอนาคตได้
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
-----------------------------------------
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you