สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเร่งดำเนินการที่จะย้ายห่วงโซ่อุปทานการผลิตของอุตสาหกรรมโลก ออกจากจีน การเสียชีวิตของคนอเมริกันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความเสียหายทางเศรษฐกิจ กลายเป็นแรงผลักดันให้ย้ายการผลิตของสหรัฐฯ
และการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน โดยการย้ายฐานการผลิตไปอยู่ประเทศที่เป็นมิตรมากกว่า
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯกล่าวกับรอยเตอร์ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความคิดของผู้คนมีความกังวลในเรื่องการทำธุรกิจกับจีน ก่อนหน้านี้ คนทั่วไปคิดถึงเรื่องรายได้เป็นตัวเงิน ที่มาจากการทำธุรกิจกับจีน แต่ปัจจุบัน ความเสียหายทางเศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า
ส่วน asia.nikkei.com ก็รายงานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดสรรงบประมาณปี 2020 ราว 240 พันล้านเยน หรือ 2.2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อให้การอุดหนุนแก่บริษัทญี่ปุ่น ที่จะเปลี่ยนแปลงการผลิตห่วงโซ่อุปทาน นายกรัฐมนตรี ชินโซ่ อาเบะ กล่าวว่า งบดังกล่าวเป็นการสนับสนุนการลงทุน ที่จะทำให้การผลิตภายในประเทศญี่ปุ่น เกิดความเข้มแข็ง ถ้าหากเป็นการผลิตที่เกิดขึ้นได้ในประเทศเดียว และมีมูลค่าสูง จะย้ายการผลิตมาญี่ปุ่น หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตในหลายแหล่ง และมูลค่าไม่สูง จะย้ายไปผลิตที่อาเซียน
เครือข่ายความมั่งคั่งเศรษฐกิจ
รอยเตอร์ยังรายงานว่า สหรัฐฯกำลังผลักดันให้เกิดกลุ่มพันธมิตรและหุ้นส่วน ที่เชื่อมั่นวางใจกันและกัน เรียกว่า “เครือข่ายความมั่งคั่งเศรษฐกิจ” (Economic Prosperity Network) กลุ่มนี้จะประกอบด้วยบริษัทธุรกิจและกลุ่มประชาสังคม โดยมีดำเนินงานภายใต้หลักเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน ในเรื่อง ธุรกิจดิจิทัล พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน การวิจัย การค้า และการศึกษา สหรัฐฯกำลังทำงานร่วมกับออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม ในเรื่องดังกล่าว
ส่วนบทความ The Great Decoupling ของ foreignpolicy.com กล่าวว่า แม้ก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พวกมีความคิดสายเหยี่ยวของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ก็มีความเห็นว่า การปลดล็อคความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯมีกับจีน มานาน 40 ปี การลดการพึ่งพาจีนในด้านโรงงานการผลิต และการลงทุน ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน
ทั้งสมาชิกรัฐสภาและเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังดำเนินการ ที่จะตัดขาดเศรษฐกิจที่ใหญ่สุดของ 2 ประเทศออกจากกัน เช่น การห้ามการส่งออกสินค้าที่อ่อนไหวให้กว้างขวางมากขึ้น การเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนให้สูงขึ้น การกดดันบังคับบริษัทอเมริกันให้ย้ายการผลิตกลับมาสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งการถอนตัวจากองค์การการค้าโลก (WTO) เพราะ WTO ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้จีนขยายอาณาจักรเศรษฐกิจ
คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า การตัดขาดเศรษฐกิจสหรัฐฯออกจากจีน จะไปได้ไกลขนาดไหน เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการค้ากับจีน โดนัลด์ ทรัมป์ เคยให้สัมภาษณ์ Fox News โดยขู่ว่า “เราสามารถตัดความสัมพันธ์ทั้งหมด” หากความสัมพันธ์สหรัฐฯกับจีน พัฒนาไปอย่างที่ทรัมป์กล่าวไว้ การแบ่งค่ายออกเป็น 2 ค่ายแบบสมัยสงครามเย็น ก็จะเกิดขึ้น
ส่วนจีนก็เริ่มต้นสร้างเขตอิทธิพลทางเศรษฐกิจของตัวเองขึ้นมา เช่น โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจจีนกับเอเชีย แอฟริกา และบางส่วนของยุโรป ขณะเดียวกัน จีนกับสหรัฐฯต่างฝ่ายต่างก็พัฒนาเทคโนโลยี ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอนาคต โดยเฉพาะระบบการสื่อสารโทรศัพท์มือถือ และอินเตอร์เน็ต
แนวคิด “เครือข่ายความมั่งคั่งเศรษฐกิจ” ของสหรัฐฯ ที่สร้างพันธมิตรกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายกัน จึงมีเป้าหมายบางส่วน เพื่อชักจูงให้บริษัทอเมริกันถอนตัวออกจากจีน หากไม่สามารถย้ายการผลิตและการจ้างงานกลับมาสหรัฐฯ อย่างน้อยก็ย้ายมาผลิตในประเทศที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ เช่น เวียดนาม หรืออินเดีย
ความหมายของ “การตัดขาด”
หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลสหรัฐฯใช้มาตรการจำกัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนมากขึ้น เมื่อเดือนพฤษภาคม สหรัฐฯให้กองทุนบำนาญ หรือ Federal Retirement Thrift Investment Board ที่บริหารเงินหลายแสนล้านดอลลาร์ ยุติการลงทุนในบริษัทจีน และห้ามไม่ให้บริษัทหัวเหว่ยใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯในการออกแบบหรือผลิตตัวชิปเซมิคอนดักเตอร์ และจะยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้าให้กับฮ่องกง
บทความชื่อ The Folly of Decoupling From China ใน foreignaffairs.com กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯกำลังถูกครอบงำในเรื่อง “การตัดขาด” (decoupling) แนวคิดที่จะให้มีการตัดขาดห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่เคยผูกมัดสองประเทศเข้าด้วยกัน แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯเห็นพ้องกันไม่มากในเรื่องนี้ ว่าความหมายอย่างอะไร
การตัดขาดอาจมีหลายความหมาย เช่น การลดความเสี่ยงของสหรัฐฯ เพื่อให้สหรัฐฯพึ่งพาจีนน้อยลง หาทางใช้ประโยชน์ที่จีนต้องพึ่งเทคโนโลยีสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากองค์การ WTO เป็นต้น แต่การแปลงความคิดเหล่านี้เป็นนโยบายให้ได้ผลสัมฤทธิ์ ต้องอาศัยความรู้ทางเทคนิคจำนวนมาก
ที่ในขณะนี้ ทั้งรัฐบาลสหรัฐฯและภาคเอกชนเองยังไม่มีความรู้ดังกล่าว การดำเนินนโยบายตัดขาดท่ามกลางความไม่รู้นี้ จึงเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งต่อสหรัฐฯและจีนเอง
บทความของ foreignaffairs.com กล่าวว่า การตัดขาดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน ยังจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆในโลก เช่น การห้ามไม่ให้หัวเหว่ยเข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐฯ อาจจะไปส่งเสริมให้บริษัทต่างประเทศ ออกแบบห่วงโซ่อุปทานไปรองรับเทคโนโลยีที่ไม่ใช่ของสหรัฐฯ ดังนั้น แทนที่จะตัดขาดทางเศรษฐกิจ สหรัฐฯควรจะคิดเรื่องตรงกันข้าม หรือ recoupling คือการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ที่ไม่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือการถูกโจมตี
บทความ foreignaffairs.com ชี้ว่า การตัดขาดในเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อน เหมือนกับการผ่าตัดที่ซับซ้อนและยาก ก่อนจะลงมือผ่าตัด ต้องรู้ว่าอวัยวะสำคัญของคนไข้อยู่ที่ไหน
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯเองเริ่มค้นพบว่า เศรษฐกิจจีนไม่ใช่อวัยวะที่แยกตัวอยู่โดดๆจากเศรษฐกิจโลก แต่เป็นคู่ฝาแฝดกับเศรษฐกิจโลก ที่เชื่อมโยงกับระบบประสาท หรือระบบการไหลเวียนของเลือด ของเศรษฐกิจโลก
แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ช่วยให้เห็นจุดอ่อน และความเสี่ยงที่หลบซ่อนอยู่ของระบบห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะการผลิตด้านสินค้าสุขภัณฑ์ ความตึงเคลียดระหว่างสหรัฐฯกับจีน ก็ช่วยให้เห็นถึงจุดอ่อนที่หลบซ่อนอยู่ในภาคส่วนไฮเทค การตัดขาดในด้านห่วงโซ่อุปทาน จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นมา ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นและสำคัญมากกว่าคือ การเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน ให้มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับวิกฤติต่างๆที่จะเกิดขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เองก็ได้ศึกษาเรื่อง “ปัญหาคอขวดของห่วงโซ่อุปทานในช่วงโรคระบาด” (Supply Chain Bottlenecks in Pandemic) โดยกล่าวว่า สินค้าและบริการไปถึงมือผู้บริโภคโดยผ่านทางห่วงโซ่อุปทาน แต่ก็มีการชะงักงันที่เกิดขึ้นได้ในแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้การดำเนินงานเกิดหยุดชะงักขึ้นมาได้ เหมือนกับระบบท่อส่งน้ำ ที่ทำให้การไหลเวียนของน้ำหยุดชะงักลงได้ ห่วงโซ่การผลิตก็มีสิ่งที่เรียกว่า “บริษัทคอขวด” (bottleneck firms) หากการผลิตของบริษัทดังกล่าวเกิดหยุดชะงัก จะส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตทั้งหมด
ความสัมพันธ์ของห่วงโซ่อุปทาน ที่มีระบบการผลิตมีลักษณะเป็นคอขวด จึงต้องมีการปรับตัว แต่การปรับตัวนี้ไม่ใช่การ “ตัดขาด” แต่เป็นการวางระบบเพื่อลดความเสี่ยงต่อวิกฤติ โดยทำให้ห่วงโซ่อุปทานอยู่ในบริบทที่ยั่งยืน มีความสมดุลระหว่าง การมีประสิทธิภาพกับความเสี่ยง ที่อาจหมายถึงการลดการพึ่งพาผู้ผลิตหลักรายเดียว แต่ส่งเสริมให้เกิดผู้ผลิตรายใหม่ เป็นต้น
โดย ปรีดี บุญซื่อ
Source: ThaiPublica
-----------------------------------------
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you