ปี 2562 เป็นอีกปีที่ยากลำบากของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ แม้ว่ามาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) จะถูกขยับเวลาบังคับใช้เป็นเริ่มปี 2563 ทว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเกณฑ์การกำกับดูแลทางการที่เข้มงวดขึ้น ก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปล่อยสินเชื่อ
ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง ก็ยิ่งกดดันผลประกอบการแบงก์ ยังไม่รวมภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นตามเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นอีก
โดยผลประกอบการปี 2562 ของธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง (ดูตาราง) พบว่ามีกำไรสุทธิรวมกันที่ 201,032 ล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อน 3.41% แต่หากดูเป็นรายแบงก์จะพบว่าส่วนใหญ่กำไรสุทธิเติบโตเพียงเล็กน้อย โดยแบงก์ใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทย (KBank) กำไรโตแค่ 0.7% ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ปีก่อนกำไรโตติดลบ มาปีนี้โตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.92% ส่วนธนาคารกรุงเทพ (BBL) กำไรโต 1.38%
รายการพิเศษดันกำไรกลุ่ม
ทั้งนี้ ในกรณี SCB มีรายการพิเศษจากการขายหุ้นบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIFE) รวมอยู่ด้วย ซึ่งแบงก์แจ้งว่ามีกำไรสุทธิถึง 95,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% แต่เมื่อหักตั้งสำรองพิเศษจึงเหลือกำไรโต 0.92% ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่แจ้งว่ามีกำไรสุทธิ 3.27 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 32% ก็เกิดจากรายการพิเศษ ซึ่งหากดูเฉพาะกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติจะอยู่ที่ 2.69 หมื่นล้านบาท เติบโต 8.6%
เอ็นพีแอลพุ่ง-ตั้งสำรองเพิ่ม
ขณะเดียวกันปีที่แล้วยังเป็นอีกปีที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบแบงก์พุ่งขึ้นสูง โดยภาพรวม 10 แบงก์เอ็นพีแอลอยู่ที่ 459,608 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38,445 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 10% จากปีก่อน ขณะที่การตั้งสำรองในภาพรวมยังคงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 170,921 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.27% จากปกติ
โดย SCB เอ็นพีแอลเพิ่มถึง 14,823 ล้านบาท หรือกว่า 21% และได้ตั้งสำรอง 36,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 50.7% ซึ่งอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2562 อยู่ที่ 134%
“อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร SCB ระบุถึงการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นมาก ว่าเป็นผลมาจากการจัดชั้นลูกหนี้เชิงคุณภาพ แม้ลูกหนี้จะยังไม่เป็นเอ็นพีแอลแต่ธนาคารก็จัดชั้นเพื่อเป็นกันชน (buffer) โดยตั้งสำรองกระจายในลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอี ธุรกิจที่อิงกับเศรษฐกิจ ทำให้ต้นทุนการตั้งสำรอง (credit cost) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.7% ซึ่งในปี 2563 คาดว่าต้นทุนส่วนนี้จะลดลง 0.4-0.5%
ขณะที่ BBL ตั้งสำรองที่ 3.23 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10,386 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 47.28% โดยธนาคารชี้แจงว่า แม้สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับทรงตัว แต่แบงก์ก็ตั้งค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในปี 2562 เพื่อเสริมสร้างระดับสำรองของธนาคารให้แข็งแรงยิ่งขึ้นตามหลักความระมัดระวัง ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่กฎเกณฑ์ใหม่ทางบัญชี ซึ่งคาดว่าปี 2563 จะมีอัตราการกันสำรองที่ลดลง ฟาก KBank เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นถึง 9,638 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.95% และตั้งสำรอง 3.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,480 ล้านบาท หรือ 4.5%
“ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการ KBank ระบุว่า แบงก์ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบเพื่อให้สอดคล้องกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
ส่วนธนาคารกรุงไทย (KTB) มียอดเอ็นพีแอลลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 102,659 ล้านบาท และตั้งสำรองลดลง 9.1% ด้านธนาคารทีเอ็มบี (TMB : แจ้งงบฯรวมกับธนาคารธนชาต) พบว่าเอ็นพีแอลพุ่งกระฉูดกว่า 70% ซึ่งทางแบงก์ชี้แจงว่าเกิดจากพอร์ตที่รวมกิจการกับธนชาต ขณะที่ BAY เอ็นพีแอล เพิ่มขึ้น 2,888 ล้านบาท หรือเพิ่ม 7.51% มาอยู่ที่ 41,334 ล้านบาท และตั้งสำรองที่ 2.82 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7%
SCB เอ็นพีแอลพุ่งทุกเซ็กเตอร์
นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่า คุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อเนื่องสำหรับกลุ่มธนาคาร โดยในช่วงไตรมาส 4/62 แม้หลาย ๆ ธนาคารจะสามารถบริหารจัดการหนี้เสียได้ดีขึ้น โดยกรณี SCB ที่มีการแจ้งว่าเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นในทุกเซ็กเตอร์นั้น เป็นผลจากการจัดชั้นภายในของธนาคาร ทำให้ส่งผลกระทบให้หนี้เสียเพิ่มขึ้น
“คุณภาพสินทรัพย์ในระยะถัดไป ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจด้วย โดยหนี้เสียในภาพรวมทั้งระบบ กลุ่มเอสเอ็มอียังคงเป็นปัญหาหลัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ก็พึ่งพิงกับการส่งออกอีกด้วย” นายภาสกรกล่าว
ลด ดบ. ฉุด NIM ฮวบยกแผง
เมื่อเข้าไปดูส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของแต่ละแบงก์ พบว่าส่วนใหญ่ลดลงแทบทั้งสิ้น โดย BAY ปรับลดลงจาก 3.81% เมื่อปีก่อนมาอยู่ที่ 3.60% KBank ปรับลดจาก 3.39% มาอยู่ที่ 3.31% BBL ปรับลดจาก 2.40% มาอยู่ที่ 2.35% KTB ลดลงจาก 3.13% มาอยู่ที่ 3.07% ส่วน SCB ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.21% มาอยู่ที่ 3.34%
โดยนายภาสกรกล่าวว่า ปี 2562 NIM ทั้งอุตสาหกรรมแบงก์ลดลง โดยเฉพาะไตรมาส 4 เทียบไตรมาส 3 (ไม่รวมธนาคารธนชาต) เนื่องจากแบงก์ได้รับผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ส่งผลให้ดอกเบี้ยรับลดลง ขณะที่ต้นทุนเงินฝากไม่สามารถปรับลดลงได้ทันตามดอกเบี้ยรับ
ทั้งหมดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่หุ้นแบงก์ในปีที่ผ่านมา ตกเอา ๆ เลยทีเดียว
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-415024
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you