ก่อนหน้านี้ ประกาศราชกิจจาที่ให้ E-Commerce ใน EEC เป็นเขตปลอดอากร ทำให้เกิดข้อสงสัยที่ตามมาว่า อาลีบาบา ผู้ทำธุรกิจ E-Commerce รายใหญ่ที่จะมาลงทุนใน EEC บ้านเรา จะได้ผลประโยชน์ยังไงบ้าง
เปิดดูสิทธิประโยชน์การลงทุนใน EEC
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบางกิจกรรมได้นานสูงสุด 13 ปี (อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน)
- ยกเว้นอากรขาเข้า เครื่องจักร วัตถุดิบ
- เงินสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในการลงทุน การวิจัย
- อนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการ ที่ได้รับการส่งเสริม
- สิทธิ์การเช่าที่ดิน ราชพัสุด ถึง 50 ปี และสามารถพิจารณาต่ออายุอีก 49 ปี
- อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% ต่ำสุดในอาเซียน (สำหรับผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้
- ระบบ One-stop Service อำนวยความสะดวกให้นักลงทุนให้บริการข้อมูลข่าวสารการ- ขออนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการค้าการส่งออกนำเข้าในจุดเดียว
- วีซ่าทำงาน 5 ปี เพื่อดึงดูดนักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก
ย้อนดูการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่าง สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกรศ.) หรือ อีอีซี กับ อาลีบาบา กรุ๊ป ครอบคลุมความร่วมมือ 4 ด้าน
1. การใช้อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ในการส่งออกสินค้าเกษตรและ OTOP เริ่มต้นจากข้าวและทุเรียน
2. การพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้สามารถใช้ E-commerce เป็นช่องทางการตลาด
3. การใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน เข้าสู่เมืองรองและชุมชนอย่างเป็นระบบ นำข้อมูลร้านค้าไทย ร้านอาหารไทยอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์มให้เข้าถึงง่ายขึ้น
4. การลงทุนใน ศูนย์ดิจิทัลอัจฉริยะ (Smart Digital Hub) ในการค้า E-Commerce ระดับโลกกับประเทศใภูมิภาค
การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง EEC และ อาลีบาบา กรุ๊ป มีทั้งสิ้น 2 ฉบับ ดังนี้
1. ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน ระหว่าง อีอีซี และ Alibaba.com Singapore E-commerce Private Limited ครอบคลุมสินค้าเกษตร และสินค้าอื่นๆของไทย โดยใช้แพลตฟอร์มอาลีบาบา
2. ความร่วมมือด้านการลงทุน Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC ระหว่าง อีอีซี กรมศุลกากร และบริษัท Cainiao Smart Logistic Network Hong Kong Limited อาลีบาบา กรุ๊ป โดยบริษัท Cainiao จะลงทุนประมาณ 11,000 ล้านบาทในการพัฒนาศูนย์ดิจิทัลอัจฉริยะ
นอกจากนี้ อาลีบาบา กรุ๊ป ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับหน่วยงานอื่นอีก 2 ฉบับ ได้แก่ ความร่วมมือด้านการพัฒนา SMEs และบุคลากรด้านดิจิทัล ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ Alibaba Business School เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการชาวไทยหลายภาคส่วน อบรมให้ได้อย่างน้อย 30,000 คนต่อปี
ล่าสุด หลังประกาศราชกิจจาให้ E-Commerce ในพื้นที่อีอีซี เป็นพื้นที่ปลอดอากร อีอีซีจึงชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องการลงุทนในโครงการ Smart Digital Hub หรือศูนย์จัดการสินค้าอัจฉริยะ ดังนี้
1. Alibaba ไม่ได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี 13 ปี
2. Alibaba ถือครองที่ดินสำหรับการลงุทนในพื้นที่ EEC ตามปกติ เหมือนกฎหมายที่ BOI และการนิคมอุตสาหกรรม
3. อีอีซี อำนวยความสะดวกในการชำระภาษีศุลกากรจากเดิมที่ต้องชำระทุกวัน เป็น ชำระทุก 14 วัน ผู้บริโภคสามารถคืนสินค้าได้ภายใน 14 วัน หากสินค้าชำรุด เสียหาย หรือไม่พึงพอใจสินค้า
จึงกำหนดให้สินค้าที่ส่งออกจากเขตปลอดอากรในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะยังไม่ต้องเสียอากรจนกว่าจะครบกำหนด 14 วัน
Source: Brandinside.asia
--------------------------------------------------------
ปลดล็อกอุ้มอาลีบาบา สึนามิสินค้าจีนถล่มแน่-เปิดอ้าซ่าให้เวลา14วัน : เขตฟรีโซนอี-คอมเมิร์ซ ในพื้นที่อีอีซี มีผลบังคับใช้แล้ว ปลดล็อกพิธีการศุลกากร ขยายเวลาเสียภาษีนำสินค้าออกนอกเขตเป็น 14 วัน จากเดิม 1 วัน ประเดิมรองรับ "อาลีบาบา" ตั้งศูนย์กระจายสินค้าบุกอาเซียน ผู้ผลิตไทยหวั่นตายเรียบ เอื้อสินค้าจีนทะลัก จากที่นำเข้า 1.6 ล้านล้าน
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 266 ง ประจำวันที่ 28 ตุลาคม 2562 ได้เผยแพร่ประกาศกรมศุลกากรที่ 204/2562 เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากร เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีแล้ว โดยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นผู้ลงนาม และให้ใช้บังคับตั้งแต่ 24 กันยายน 2562 เป็นต้นไป
ประกาศกรมศุลกากรฉบับใหม่นี้ กำหนดรายละเอียดวิธีปฏิบัติโดยละเอียด ทั้งของผู้จัดตั้ง ผู้ประกอบการ และพีธีการศุลกากรสำหรับสินค้าที่ซื้อขายผ่านทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(อี-คอมเมิร์ซ) ในเขตปลอดอากรกิจการอี-คอมเมิร์ซ ในพื้นที่อีอีซี มีข้อกำหนดทั้งสิ้น 73 ข้อ แบ่งเป็น 2 หมวด 18 ส่วน ครอบคลุมทั้งสินค้านำเข้ามาและสินค้าที่ส่งออกจำหน่ายทางอี-คอมเมิร์ซ เพื่อรองรับผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ ระดับโลก ที่รัฐบาลเดินสายไปเชิญชวนเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษอีอีซี อาทิ กลุ่มอาลีบาบา เป็นต้น
ทั้งนี้ มีสาระสำคัญหลายประการ อาทิ รับรองให้ใช้การปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งใบขนส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ระบบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ควบคุมติดตามการขนส่งสินค้าจากต้นทางไปปลายทาง โดยใช้การระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ เชื่อมกับระบบคอมพิวเตอร์ของ กรม และมีกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ในการผนึกหรือปลดล็อค
การวางเงื่อนไขให้ผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากร (ฟรีโซน)กิจการอี-คอมเมิร์ซในเขตอีอีซีดังกล่าว ต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 50 ไร่ อยู่ใน 3 จังหวัดเขตอีอีซี เป็นศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศ หรือขยายเวลาให้การนำสินค้าออกจากเขตฟรีโซนยื่นเสียภาษีศุลกากรจากเดิม 1 วันเป็น 14 วัน เนื่องจากการค้าอี-คอมเมิร์ซ มีอัตราการปฏิเสธรับสินค้าของผู้สั่งซื้อสูง หากตีกลับสินค้าคืนเข้าเขตฟรีโซนในกำหนดสามารถแจ้งยกเลิกรายการนั้นได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้มีความสะดวกในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาลีบาบาที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจใช้ไทยเป็นศูนย์กระจายสินค้า ในอาเซียน
อาลีบาบาพร้อมลุยปีหน้า
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยว่า จากที่บริษัทได้ยื่นขอพัฒนาพื้นที่ 232 ไร่ ที่ตำบลบางสมัคร อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว โดยระยะแรกได้ลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท ในการก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าให้กับกลุ่มอาลีบาที่เข้ามาเช่าใช้พื้นที่ 1.3 แสนตารางเมตร โดยได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่ไปตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา และกลุ่มอาลีบาบาได้ยื่นเรื่องขอใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆตามที่อีอีซีกำหนดไปแล้ว ซึ่งจะทำให้กลุ่มอาลีบาบา เข้ามาลงทุนติดตั้งระบบอัตโนมัติในคลังสินค้าดังกล่าว และเปิดดำเนินการต่อไปในปีหน้าได้
ขณะเดียวกันกลุ่มอาลีบาบาอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท เพื่อขอขยายพื้นที่เช่าอีกราว 7-8 หมื่นตารางเมตร แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป หากได้ข้อยุติบริษัทจะลงทุนในการสร้างศูนย์กระจายสินค้าอีกกว่า 1 พันล้านบาท และส่งมอบพื้นมที่ได้ภายในปี 2563
ดังนั้น ในเนื้อที่ดังกล่าวจะประกอบไปด้วย ศูนย์กระจายสินค้า จำนวน 3 อาคาร ขนาดพื้นที่รวม 1.49 แสนตารางเมตร และอาคารเขตปลอดอากรราว 4 หมื่นตารางเมตร และพื้นที่สำนักงานสำหรับผู้ประกอบการวิจัยและพัฒนา และสำนักงานสำหรับกรมศุลกากรประมาณ 5,187 ตารางเมตร รวมพื้นที่ใช้สอยประมาณ 1.94 แสนตารางเมตร หรือราว 120 ไร่ รองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นประมาณ 13,490 ล้านบาท
ผู้ผลิตไทยหวั่นตายเรียบ
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กล่าวว่า ประกาศของกรมศุลกากรล่าสุดเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับอาลีบาบา เช่น กรณีลูกค้าส่งสินค้าคืน ซึ่งปกติมียอดการคืนสินค้าเฉลี่ยประมาณ 5% นั้นไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร ขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องเสีย นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้สินค้าจีนหลั่งไหลเข้ามาในไทยมหาศาลมาพักไว้ที่อี-คอมเมิร์ซพาร์ก ของอาลีบาบา ซึ่งอยู่ในเขตฟรีเทรดโซน ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ในมุมของผู้บริโภคนั้นได้ประโยชน์ คือได้สินค้าที่ราคาถูกลงแต่ในมุมของผู้ประกอบการในประเทศเอสเอ็มอี และโอท็อป นั้นได้รับผลกระทบแน่นอน โดยผู้ค้าสินค้าจีน จะนำเข้าสินค้าล็อตใหญ่มาพักไว้ที่อี-คอมเมิร์ซ พาร์ก ก่อนกระจายเป็นชิ้นๆไปถึงผู้บริโภคทางไปรษณีย์ ในราคาไม่เกิน 1,500 บาท โดยได้รับการยกเว้นอากรนำเข้า
สำหรับสินค้าจีนที่คนไทยนิยมสั่งซื้อออนไลน์ มีทั้งอุปกรณ์เสริม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และเสื้อผ้า ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมรับมือคลื่นสินค้าจากจีนเอาไว้ให้ดี
"ผู้ค้าสินค้าจีนจะสั่งสินค้าเป็นตู้คอนเทนเนอร์ เข้ามาพักในฟรีเทรดโซน 1 ตู้ 1,000 ชิ้น ก่อนกระจายขายไปยังผู้บริโภคทีละชิ้นในราคาไม่เกิน 1,500 บาท สินค้าจีนราคาถูกอยู่แล้ว ไม่เสียภาษีนำเข้าและไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ราคาก็จะถูกลงไปอีก ซึ่งผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีไม่สามารถแข่งขันได้แน่นอน ประกอบกับจะต้องระวังคุณภาพของสินค้าที่นำเข้ามามีมาตรฐานตามที่ภาครัฐกำหนดด้วยหรือไม่"
รัฐตรวจเข้มคุณภาพ
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สมอ.ได้เรียกผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซอย่าง ลาซาด้า อาลีบาบา และช้อปปี้ เข้ามาหารือเพื่อแจ้งข้อปฏิบัติเกี่ยวกับสินค้านำเข้าที่ต้องได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค หลังจากที่ผ่านมาเริ่มมีการร้องเรียนจากผู้บริโภคเรื่องปัญหาของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 สมอ. จะดำเนินการลงนามร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยตรวจสอบทางอิเล็กทรอ นิกส์อีกช่องทางหนึ่ง โดยถือเป็นช่องทางที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างมาก
จากข้อมูลของศูนย์สารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากรในปี 2560 ไทยมีการนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 1.51 ล้านล้านบาท ปี 2561 นำเข้า 1.62 ล้านล้านบาท และในช่วง 9 เดือนแรกปี 2562 มีการนำเข้า 1.16 ล้านล้านบาท ขยายตัวลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และเงินบาทที่แข็งค่า
Source: ฐานเศรษฐกิจ
เพิ่มเติม
- ราชกิจจา
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you