จากตอนที่ 1 เราพูดกันไปแล้วถึงดุลการชำระเงิน หรือ balance of payment ของไทยที่เกินดุลว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขนาดนี้ แม้เราจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลง แต่ทำไมดุลการชำระเงินเราถึงเกินดุลมากขนาดนี้
เหตุผลหลักก็มาจากมูลค่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงมาก
แล้วอะไรควบคุมดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย
ส่วนแรกของดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เราจะมาศึกษากัน คือ ดุลการค้า (trade balance) ซึ่งจากข้อมูลจะเห็นว่ามีการเกินดุลอย่างต่อเนื่องเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ หลายท่านอาจจะเข้าใจว่าการที่เราเกินดุลการค้าต่อเนื่องเรื่อยๆ เป็นเพราะประเทศไทยส่งออกได้ดีมาก แต่ความจริงแล้วสาเหตุที่เราเกินดุลการค้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นเพราะปริมาณการนำเข้าของไทยที่เพิ่มขึ้นนั้นเพิ่มขึ้นน้อยกว่าการส่งออกต่างหาก ซึ่งสาเหตุหลักของการนำเข้าที่ขยายตัวต่ำก็มาจากการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวมานาน เพราะเวลาเราลงทุนเราจะต้องมีการนำเข้าสินค้าทุนอย่างเครื่องจักรและอุปกรณ์ซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 30% ของการนำเข้าทั้งหมด ถ้าเราลองดูในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การลงทุนภาคเอกชนของไทยเฉลี่ยอยู่เพียง 0.9% ทำให้การเกินดุลการค้าของไทยเฉลี่ยสูงถึงปีละ 2.7 แสนล้าน เทียบกับช่วงปี 2010-2012 ที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 13.1% ทำให้ขาดดุลการค้าเฉลี่ยปีละกว่า 2.4 แสนล้านบาท
แต่องค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุดใน balance of payment ของไทยก็คือการท่องเที่ยวจากต่างประเทศสุทธิ (รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติหักลบด้วยรายจ่ายนักท่องเที่ยวไทยออกไปเที่ยวต่างประเทศ) โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% แม้เงินที่นักท่องเที่ยวไทยใช้จ่ายในต่างประเทศจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 0.32 ล้านล้านบาทในปี 2018 แต่ก็เทียบไม่ได้กับรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในไทยที่สูงถึง 2 ล้านล้านบาท และถึงแม้ว่าเราจะเห็นการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวชะลอลงจากนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปในปีนี้ แต่หากดูปริมาณรายรับทั้งหมดก็ยังถือว่าสูงอยู่ โดยใน 7 เดือนแรก เรามีรายรับรวมเกือบ 1.2 ล้านล้านบาท
การเติบโตของดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในช่วงไม่กี่ปีจากสององค์ประกอบหลักนี้ ทำให้ในภาพรวมแล้วดุลบัญชีเดินสะพัดมีความสำคัญในการกำหนดทิศทางค่าเงินบาทในระยะยาวมากขึ้น โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ระหว่าง 6-11% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศไทยในอดีตที่อยู่ที่ระดับ 0-4% รวมถึงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 2-4% หรือญี่ปุ่นที่มีอัตราส่วนการเกินดุลอยู่ประมาณ 1-4% มาโดยตลอด ทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ยังคงต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลักต่อไปในอนาคต ในขณะที่การลงทุนค่อยๆ ฟื้นตัว จะกำหนดทิศทางดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยให้มีการเกินดุลต่อไปเรื่อยๆ เพิ่มแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น หากแรงกดดันนี้คงอยู่ต่อเนื่องไปในระยะยาว แน่นอนว่าย่อมเป็นผลกระทบที่ไม่ดีต่อธุรกิจส่งออกและภาคการท่องเที่ยวเอง อย่างที่เราเห็นผลกระทบของค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นในปีนี้ อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ลดลง
ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย: ปัจจัยหลักกระทบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม ดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างเดียวไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์การแข็งค่าของเงินบาทได้อย่างครบถ้วน หากเราลองมาดูในส่วนของดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือ financial account เราจะพบว่าดุลบัญชีทุนเคลื่อนย้ายประกอบด้วยสามส่วนหลักๆ คือ การลงทุนโดยตรง การลงทุนในหลักทรัพย์ และเงินทุนเคลื่อนย้ายอื่นๆ
สำหรับองค์ประกอบแรกคือการลงทุนโดยตรง ที่มีทั้งเงินที่ไหลออกไปจากการที่บริษัทไทยไปลงทุนทำธุรกิจในต่างประเทศ (Thai Direct Investment หรือ TDI) และเงินที่ไหลเข้ามาจากการที่บริษัทต่างชาติมาลงทุนทำธุรกิจที่ไทย (Foreign Direct Investment หรือ FDI) แม้ว่าสุทธิแล้วเราจะได้รับเงินลงทุนจากต่างชาติทุกปี แต่เงินที่บริษัทไทยนำออกไปลงทุนต่างประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนล่าสุดในปี 2018 แตะระดับ 6.7 แสนล้าน สูงกว่า FDI สุทธิที่เข้ามาเพียง 4.3 แสนล้านบาท กลายเป็นว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เงินจากการลงทุนโดยตรงเป็นการไหลออกสุทธิ นอกจากนี้ นักลงทุนไทยยังออกไปลงทุนต่างประเทศในรูปแบบการซื้อสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ มากขึ้น โดยครึ่งปีแรกนักลงทุนไทยออกไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศสุทธิรวมกว่า 4.8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้
แต่องค์ประกอบที่มีความผันผวนค่อนข้างสูงและมักถูกพูดถึงบ่อยๆ ก็คงหนีไม่พ้นเงินลงทุนในสินทรัพย์ หรือ portfolio investment ของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในไทย ซึ่งการลงทุนประเภทนี้ หมายถึง การเข้ามาซื้อสินทรัพย์ทางการเงินของทุนจากต่างประเทศ ที่มีลักษณะคือสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว อยากขายหรืออยากซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ได้มีข้อจำกัดในการลงทุนมาก โดยหากดูสัดส่วนเงินทุนต่างชาติในการลงทุนสินทรัพย์ในปีที่แล้ว มีทิศทางไหลออกสุทธิ และเป็นสัดส่วนเพียง 6.7% ของ balance of payment ของไทย จึงไม่น่าจะส่งผลต่อแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าตลาดการเงินไทยถือว่ามีขนาดค่อนข้างเล็ก ดังนั้น หากมีเงินทุนขนาดใหญ่จากต่างชาติไหลเข้ามา ค่าเงินบาทก็จะถูกดันให้แข็งค่าขึ้นมาได้เร็ว หรืออาจอ่อนค่าลงได้เร็วเช่นกันหากนักลงทุนต่างชาติเร่งเทขายทำกำไร ซึ่งการไหลเข้ามาของเงินทุนต่างชาติจำนวนมากอย่างรวดเร็ว หรือเงินร้อน เป็นประเด็นหลักในปีนี้ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อค่าเงินบาท
ยกตัวอย่างเช่นในวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา มี fund flow ไหลเข้าไทยกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท ทำให้ภายในวันเดียว ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปถึง 1.5% จาก 31.75 เป็น 31.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคงไหลเข้าต่อเนื่อง ทำให้ในเดือนมิถุนายนมี fund flow ต่างชาติสุทธิไหลเข้ามามากกว่า 1.19 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 2.1%
โดยสรุป ค่าของเงินบาทในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงที่จะยังแข็งค่าต่อไปจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีรายรับจากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศในระดับสูง แต่อาจมีความผันผวนที่เพิ่มสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าและการเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก
ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าการเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ของไทยเป็นปริมาณมากในปีนี้ เป็นเพราะสถานะของเงินบาทไทยที่มีความเสี่ยงต่ำในยุคที่สถานการณ์ความไม่แน่นอนในโลกมีสูง ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาถือเงินบาทไทย เรียกได้ว่าเงินบาทไทยในปีนี้ขึ้นไปเทียบเคียงเป็นสกุลเงิน safe haven ร่วมกับสกุลเงินอื่นๆ อย่างเงินเยนของญี่ปุ่น หรือเงินฟรังก์ของสวิตเซอร์แลนด์
ในบทความต่อไปเราเลยจะมาลองดูกันว่า เงินบาทเป็น safe haven จริงหรือไม่ และถ้าเป็นจริง ปัจจัยอะไรที่ทำให้ไทยกลายเป็น safe haven ที่สามารถดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนกันมากขนาดนี้แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวชะลอลง
โดย กันตภณ อมรรัตน์ และ ดวงรัตน์ ประจักษ์ศิลป์ไทย, TMB Analytics
Source: ThaiPublica
คลิก
เพิ่มเติม
- เศรษฐกิจชะลอ ดอกเบี้ยลง … ทำไมบาทถึงยังแข็ง (1)
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you