แข็งที่สุดในสกุลเงินเอเชีย

สื่อใหญ่บลูมเบิร์กรายงานว่า เงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในปีนี้เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ของเอเชีย โดยเงินบาทขยับค่าแข็งขึ้นมากกว่า 6% แม้ท่ามกลางบรรยากาศของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ อเมริกาและจีนที่ส่งผลกระทบออกไปทั่วโลก

และทำให้สกุลเงินของหลายประเทศมีค่าอ่อนยวบลงมา ซึ่งรวมทั้งสกุลเงินวอนของเกาหลีใต้และเงินหยวนของจีน นักวิเคราะห์มองว่ามี 2 เหตุผลหลักที่ทำให้เชื่อว่า เงินบาทยังจะสามารถแข็งค่าขึ้นมากกว่านี้ได้อีก

ไม่สะเทือนจากสงครามการค้า

นั่นก็เพราะขณะนี้เงินบาทของไทยได้ชื่อว่าเป็นสกุลเงินที่นักลงทุนเห็นว่ามีความปลอดภัยน่าลงทุนมากที่สุดสกุลหนึ่งในบรรดาสกุลเงินของประเทศอื่นๆในเอเชียท่ามกลางบริบทของสงครามการค้า สะท้อนจากในช่วงที่การเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนเพิ่มระดับความตึงเครียดมาถึง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบกับเงินบาทมากนัก ประกอบกับปัจจัยบวกอื่นๆ ที่ช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งของเงินบาท ซึ่งก็ได้แก่การที่ไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในสถานะเกินดุลจำนวนมาก และยังมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในระดับสูง การวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กยังพบว่า ในบรรดาสกุลเงินหลักๆของเอเชีย 8 ประเทศ เงินบาทของไทยอยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินหยวนน้อยมาก

แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนจะมีแนวโน้มคลี่คลายลงระดับหนึ่งเนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มกลับสู่กระบวนการเจรจากันอีกครั้ง แต่บททดสอบซึ่งถือว่าเป็นด่านที่โหดหินก็จะอยู่ที่การเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าไว้ก่อนว่าการเจรจาน่าจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ในเชิงบวก ก็ยังมีการเผื่อใจไว้สำหรับความผิดหวังที่อาจจะเกิดขึ้นได้เพราะท่าทีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ นั้น เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ยอมรับว่า ยากที่จะคาดเดา และถ้าหากว่าการเจรจาเกิดปัญหาหรือไม่คืบหน้าขึ้นมาจริงๆ นั่นก็หมายความว่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้นได้อีก

ปัจจัยเสริมในประเทศ

เหตุผลที่ 2 ที่ทำให้เชื่อว่า เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นได้อีก คือปัจจัยภายในประเทศไทยเอง หลังจากที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเหนือความคาดหมาย 0.25%เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วันที่ 25 กันยายนนี้ ธปท.ก็จะมีการประชุมพิจารณานโยบายการเงินอีกครั้ง (ซึ่งในขณะปิดต้นฉบับรายงานชิ้นนี้ยังไม่ทราบผล) นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่บลูมเบิร์กสอบถามความคิดเห็นในการสำรวจครั้งล่าสุด คาดหมายว่า ธปท.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้เช่นเดิม เพราะถึงแม้ธปท.จะยอมรับว่ามีความกังวลอยู่บ้างเกี่ยวกับค่าเงินบาทที่แข็งซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่ความวิตกดังกล่าวก็ได้รับการบรรเทาเบาบางลงบ้างแล้วเมื่อราว 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ซึ่งมีผลพวงทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ในขณะเดียวกัน การที่ไทยยังมียอดหนี้ครัวเรือนอยู่ในเกณฑ์สูงมาก เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่าธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ต่อไป

ทั้งนี้ ในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หน่วยงานของไทยได้พยายามนำหลากหลายมาตรการมาใช้เพื่อพยายามเหนี่ยวรั้งเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่นำมาใช้ได้แก่การลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นเพื่อเป็นการสกัดทุนร้อนไหลเข้า นอกจากนี้ ยังมีมาตรการปรับลดเกณฑ์ยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident: NR) เพื่อลดทอนช่องทางในการเก็งกำไรค่าเงินบาท แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ยังไม่ส่งผลให้เห็นชัดเจนมากนัก และนักวิเคราะห์ก็ยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะมีอะไรมาฉุดรั้งค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้

source: ฐานเศรษฐกิจ

เพิ่มเติม
- Baht may be primed for further gains

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"