การเมืองระส่ำ หวั่นขึ้นดอกเบี้ย-ค่าแรงซ้ำเติม ศก

สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทย เดินทางมาเกือบครบ 1 ไตรมาสของปี 2562 โดยช่วงระหว่างทางเศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างล้มลุกคลุกคลานจากปัจจัยต่างประเทศ ที่ทำให้ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดถึงความเป็นไปของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ทั้งปัจจัยต่างประเทศ อย่างสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ปัญหาเรื่องเบร็กซิตที่ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ขณะที่ปัจจัยในประเทศเองก็ดู ร้อนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นคือการเลือกตั้ง ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังให้การเลือกตั้งครั้งนี้ราบรื่น สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว เพื่อโครงการต่างๆ รวมไปถึงการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และ ช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้

แต่จากสถานการณ์และท่าทีพรรคการเมืองที่เห็นอยู่ในขณะนี้ อาจจะไม่เป็นอย่างที่หลายฝ่ายต้องการ เพราะหลายพรรคการเมืองออกมาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงการรวมพรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ที่พรรคการเมืองได้ออกมาแสดงตัวชัดเจนว่าต้องการรวมตัวกับพรรคไหน และไม่ต้องการรวมตัวกับพรรคไหน หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่าเสียงแตกนั่นเอง

ในส่วนของนักวิเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ ต่างเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้จะไม่ใช่การจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคการเมืองที่มีเสียงส่วนมาก แต่จะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลแบบผสม ซึ่งอาจจะรวมพรรคเล็กพรรคน้อยเข้าไว้ ด้วยกัน เพื่อเป็นรัฐบาลเสียงส่วนมาก

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง จะเป็นรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสม โดยในช่วงแรกของการบริหารงานจะเป็นการ สานต่อนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินไปข้างหน้า

โดยเฉพาะในส่วนของโครงการขนาดใหญ่ที่จะต้องดำเนินการต่อ อย่างเช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เนื่องจากมีข้อกฎหมายบังคับไว้นั่นเอง ส่วนหลังจากนั้นจะต้องติดตามกันต่อไป

สอดคล้องกับ ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหาภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ปัจจัยเรื่องการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางด้านเศรษฐกิจ จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังและจับตาอย่างใกล้ชิด แต่ก็เชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายลงได้ในช่วงเดือน เม.ย.ไปแล้ว

รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะเป็นรัฐบาลผสม เชื่อว่า ในปีนี้รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่จะยังคงดำเนินนโยบายไม่แตกต่างจากรัฐบาลปัจจุบันมากนัก โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เชื่อว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจปีนี้ยังคงเติบโตได้ 4%

แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนจะให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ดูได้จากจำนวนประชาชนที่เดินทางออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า การใช้สิทธิครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจกลับมา ดีขึ้น แม้ว่าหลายฝ่ายจะคาดหวัง ให้เป็นอย่างนั้นก็ตาม

แต่การเลือกตั้งล่วงหน้าที่เกิดขึ้น รวมถึงการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ไม่ใช่สิ่งชี้ชัดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ตราบใด ที่สถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่ง ก็ไม่สามารถที่จะตอบคำถามอนาคตเศรษฐกิจไทยได้

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า จากนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ เป็นนโยบายหว่านเงินเพื่อเรียกคะแนนนิยม โดยจะเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งหากมีการปรับขึ้นจริง ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักลงจากที่จะเติบโตอย่างช้าๆ นั่นเป็นเพราะบริษัท ห้าง ร้านต่างๆ ปัจจุบันการทำธุรกิจแทบไม่มีรายได้ แต่จะต้องเพิ่มรายจ่ายของค่าแรงที่สูงขึ้นนั่นเอง

อย่างที่ทราบ แม้เศรษฐกิจไทยจะเติบโต จากการส่งออก การลงทุน ภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน แต่ ตราบใดที่การเมืองยังไม่มีความแน่นอนให้เห็น ไม่ว่าใครต่อใครต่างก็ต้องเซฟตัวเองทั้งนั้น

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความ ไม่มั่นใจในการจัดตั้งรัฐบาล ความ ไม่มั่นใจการบริหารประเทศ ไม่มั่นใจนโยบาย ไม่มั่นใจการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่มั่นใจว่าหลังจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้วจะมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เขย่าเศรษฐกิจไทยแทบทั้งสิ้น

นอกจากเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองที่คอยเขย่าเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบชะลอตัวยังมีอีกหลายปัจจัย ซึ่งเป็นสิ่งที่คอยรั้งให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างเชื่องช้า

ทั้งนี้ ที่ ผ่านมาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาจจะโดนมองข้ามเพราะมัวแต่หลงดีใจว่าเศรษฐกิจไทยยังโตได้ แม้จะโตแบบชะลอก็ตามทำให้ปัญหาเหล่านี้หลบซ่อนอยู่ใต้พรมเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า และขณะนี้ปัญหาที่อยู่ใต้พรมอันเดิมกำลังปูดบวมขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หนี้เสียของธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ที่สร้างความวิตกกังวลให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะด้านเสถียรภาพทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

แม้ว่าปัจจัยเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองจะไม่ใช่เหตุผลหลัก ที่จะทำให้นักวิเคราะห์ รวมถึง หน่วยงานราชการที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจ นำมาใช้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่ก็พอมีน้ำหนัก ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ผู้ดูแลเสถียรภาพการเงินของประเทศและชี้ชะตาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คงต้องคิดหนักว่า จะปรับขึ้น ปรับลด หรือคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้หรือไม่

แต่จากสัญญาณที่ส่งตรงมาจาก ธปท.ถึงปัญหาต่างๆ ทำให้หลายฝ่ายมองว่า กนง.จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งหากมีการปรับขึ้นทั้งดอกเบี้ยและค่าแรงขั้นต่ำอีก ก็อาจจะเป็นการใจร้ายซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้ไม่ต้องโต หรือที่เรียกกันว่า ผีซ้ำด้ำพลอย นั่นเอง

โดย กัลย์ทิชา นับทอง
Source: Posttoday

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"