ครั้งที่แล้วได้เขียนถึงเรื่อง ‘เงินเฟ้อ’ ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยของความล้มเหลวของการกระจายรายได้ในระบบทุนนิยมไปแล้ว วันนี้เราจะมาคุยกันต่อถึงอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้การกระจายรายได้ในระบบทุนนิยมนั้นเป็นไปได้ยากมากถึงมากที่สุด และสาเหตุนั้นก็คือ
‘หนี้’ หรือถ้าจะให้พูดอย่างเฉพาะเจาะจงลงไปอีกก็คือ ‘ความเข้าใจและความสามารถของการใช้ประโยชน์จากหนี้’ นั่นเอง
.
การเป็นหนี้นั้น อันที่จริงสามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ได้สองแบบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ หนี้ สามารถเป็นเครื่องมือ ‘ลด’ เงินในกระเป๋าของคุณในอัตราเร่งก็ได้ หรือจะเป็นเครื่องมือเพื่อ ‘เพิ่ม’ เงินในกระเป๋าของคุณในอัตราเร่งก็ได้เหมือนกัน
.
ในเคสของการก่อหนี้บนการบริโภคของคนทั่วไปนั้น สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายว่าเพราะเหตุใดหนี้จึงทำให้ความมั่งคั่งที่สะสมไว้หายไปได้ สาเหตุหลักมาจาก ‘ค่าใช้จ่ายทางการเงิน’ หรือ ‘ดอกเบี้ยเงินกู้’ ที่มาพร้อมกับการขอสินเชื่อต่างๆ เพราะมันแปลว่านอกจากค่าสินค้าที่คุณต้องจ่ายแล้ว คุณยังต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มเติมให้กับสถาบันทางการเงินอีกด้วย ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว ดอกเบี้ยเงินกู้นั้นจะแพงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากเสมอ กล่าวคือ ในขณะที่คุณฝากเงินในธนาคารและได้ดอกเบี้ยเงินฝากกลับมานั้น ดอกเบี้ยเงินฝากของคุณจะไม่มีวันเพียงพอสำหรับการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้อย่างเด็ดขาด
.
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับความหมายที่ซ่อนอยู่ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากที่มีผลต่อความมั่งคั่งของบุคคลทั่วไป สมมติว่าคุณกู้ยืมเงินมา 100 บาท บนอัตราดอกเบี้ยธนาคารทั่วไปที่ประมาณ 7% ต่อปี หมายถึงพอสิ้นปี คุณจะมีค่าใช้จ่ายจากการกู้ยืม 7 บาท หากคุณนำเงิน 100 บาทนี้ไปฝากธนาคาร อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ 1% ต่อปี (อัตราสมมติ) พอสิ้นปี คุณจะได้รับดอกเบี้ย 1 บาท ดังนั้น เพื่อที่จะมีรายได้จากการฝากเงินที่เพียงพอต่อการชำระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ คุณจะต้องมีเงินต้นอย่างต่ำเป็น 7 เท่าของจำนวนเงินต้นที่กู้มา คุณถึงจะสามารถปกป้องความมั่งคั่งในกระเป๋าเงินของคุณได้ (เงินต้น 700 บาท ได้รับดอกเบี้ย 7 บาท เท่ากับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้พอดี)
.
อย่างไรก็ดี หากคุณไม่มีเงินต้นที่เพียงพอ และคุณกู้เงิน 100 บาทมาเพื่อใช้จ่ายโดยไม่ก่อเกิด productivity ใดๆ ขึ้นมา คุณจะสูญเงิน 100 บาทนั้นไป แถมยังต้องหาเงินใหม่มาชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย หากไม่สามารถหาเงินใหม่มาชำระได้ ความมั่งคั่งเดิมที่คุณเคยมีอยู่ ก็จะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลาผูกพันการชดใช้หนี้ เป็นสาเหตุว่าทำไมคนที่กู้เงินมาใช้จ่าย แต่ไม่สามารถหาเงินใหม่มาทดแทนได้เพียงพอ จึงค่อยๆ จนลงเรื่อยๆ จากการเป็นหนี้ ในขณะเดียวกัน แม้จะหาเงินใหม่มาทดแทนได้เพียงพอ แต่ผลที่ตามมาคือการไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งใหม่เพิ่มขึ้นมาได้ ทำให้ฐานะทางการเงินนั้นหยุดอยู่กับที่ไปโดยปริยาย
.
ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงคำว่า ‘การสร้าง productivity ใหม่’ และคำว่า ‘การหาเงินใหม่’
.
อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่าการเป็นหนี้ไม่ได้เพียงแต่จะลดความมั่งคั่งด้วยอัตราเร่ง แต่ยังสามารถเพิ่มความมั่งคั่งด้วยอัตราเร่งได้ด้วย ซึ่งการจะสร้างความมั่งคั่งจากหนี้ได้นั้น ทริกของมันอยู่ที่ 1. ความสามารถในการสร้างผลิตผล (Productivity) ใหม่ และ 2. ความสามารถในการสร้างเงินใหม่ให้มากกว่าค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เกิดจากการก่อหนี้ ซึ่งการที่จะทำ 2 ข้อนี้ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความรู้อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ด้านการบริหารเงิน ดังนั้น เรามาลองทำความเข้าใจให้มากขึ้นเกี่ยวกับ 2 ข้อที่เพิ่งเอ่ยถึงทางด้านบนกันดีกว่า
.
1. การกู้เงินกับการเพิ่มความสามารถในการสร้างผลิตผลใหม่
.
การกู้เงิน ความหมายก็คือการที่ตัวบุคคล หรือบริษัท ได้รับเงินจำนวนหนึ่งมาโดยมีข้อสัญญาว่าจะต้องชำระเงินคืนเจ้าหนี้พร้อมดอกเบี้ยที่สัญญาไว้ ซึ่งหากดูตามระยะเวลา นั่นแปลว่า บุคคลหรือบริษัท จะได้รับเงินมาใช้ก่อน หลังจากนั้นค่อยชำระเงินคืนตามเงื่อนไขที่ตกลงกันเอาไว้ทีหลัง
.
คำถามคือ แล้วเงื่อนเวลาตรงนี้มันสำคัญอย่างไร และส่งผลกระทบต่อการสร้างผลิตผลใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มได้อย่างไรบ้าง ซึ่งคำตอบของตรงนี้ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเงิน ว่าเมื่อได้เงินมาแล้ว บุคคลหรือบริษัท ได้นำเงินไปใช้ทำอะไรบ้าง หากเงินที่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตใหม่ เช่น สร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร หรือนำไปจ้างแรงงาน และการลงทุนนั้นทำให้เกิดผลิตผลใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม เมื่อนั้น ผลจากการกู้เงินจะเป็นผลบวกต่อสภาพเศรษฐกิจในระยะต้น คือในช่วงระยะเวลาที่ยังไม่ต้องนำเงินกลับไปชำระหนี้คืน ส่งผลถึง GDP โดยรวมของประเทศที่จะเจริญเติบโต และส่งผลถึงราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่จะเจริญเติบโตตามความสามารถในการสร้างผลิตผลที่มีมูลค่าใหม่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
.
2. การเพิ่มความสามารถในการสร้างผลิตผลใหม่ กับความสามารถในการสร้างเงินใหม่
.
เมื่อบุคคลหรือบริษัท สามารถสร้างมูลค่าใหม่ๆ จากเงินกู้ได้แล้ว คำถามสำคัญต่อไปก็คือ สิ่งที่สร้างขึ้นมานั้น สามารถนำมาสร้าง ‘เงิน’ หรือ ‘ผลตอบแทน’ หรือ ‘ผลกำไร’ ได้เท่าไหร่ ??
.
บางครั้ง ผลิตผลที่สร้างขึ้นมา สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินกลับมาในมูลค่าที่สมเหตุสมผล บางครั้ง ก็สามารถแลกเป็นเงินกลับมาได้มากกว่ามูลค่าที่สมเหตุสมผล แต่บางครั้ง ก็สามารถแลกเป็นเงินกลับมาได้น้อยกว่ามูลค่าที่สมเหตุสมผลเช่นกัน นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายในการผลิต หากค่าใช้จ่ายสูง แน่นอนว่ามันสามารถส่งผลกระทบต่อผลกำไรได้ คำถามที่สำคัญคือ แล้วเราต้องการผลกำไรเท่าไหร่จึงจะสามารถสร้างความมั่งคั่งจากการเป็นหนี้ได้
.
คำตอบนั้นค่อนข้างชัดเจนว่า อย่างน้อยที่สุด ผลกำไรที่ได้รับ จะต้องไม่ต่ำกว่า ‘ค่าใช้จ่ายทางการเงิน’ หรือ ‘ดอกเบี้ยจ่าย’ เพราะการที่สามารถมีกำไรที่มากพอในการจ่ายค่าใช้จ่ายทางการเงินได้ มันหมายถึงการที่บุคคล หรือบริษัท ไม่ต้องใช้เงินตัวเองในการสร้างผลผลิตใหม่ๆ ส่วนการใช้ประโยชน์จาก ‘หนี้’ เพื่อสร้างความมั่งคั่ง จะทำได้กี่มากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างเงินใหม่จากผลกำไรในการลงทุน ว่าบุคคลหรือบริษัทนั้นๆ สามารถสร้างเงินใหม่ให้มากกว่าค่าใช้จ่ายทางการเงินที่จะต้องชำระคืนได้มากเท่าไหร่
.
เพราะเหตุนี้ เราจึงเห็นได้ว่าบริษัทที่มีความสามารถในการกู้ยืมเงินในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อจากธนาคาร หรือการออกหุ้นกู้ประเภทต่างๆ ได้ จะสามารถสร้างความมั่งคั่งให้เจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ ผิดกับบริษัทที่ใช้เงินของตัวเอง 100% ที่จะไม่สามารถสร้างความเจริญเติบโตได้รวดเร็วเหมือนกับบริษัทที่ใช้หนี้เข้ามาช่วย อย่างไรก็ดี การใช้หนี้เข้ามาสร้างความเจริณเติบโตและความมั่งคั่งในอัตราเร่ง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ในเชิงบริหารภาพรวมและการบริหารเงิน เพื่อที่จะสามารถคาดการณ์ผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุน รวมทั้งมีความสามารถที่จะสร้างผลิตผลที่สร้างผลกำไรได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น การสร้างความมั่งคั่งจากการใช้หนี้ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทุกคนมีความสามารถที่จะทำได้ เพราะหากกู้หนี้มา แต่ไม่อาจสร้างผลกำไรที่มากกว่าค่าใช้จ่ายทางการเงินได้ เมื่อนั้น แทนที่จะสามารถใช้หนี้เพื่อเพิ่มอัตราเร่งให้ความมั่งคั่ง ก็จะกลายเป็นการลดความมั่งคั่งด้วยอัตราเร่งไปแทน
.
แล้วทำไมการเกิดขึ้นของ ‘หนี้’ จึงกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้การกระจายรายได้ล้มเหลว ??
.
คำตอบของเรื่องนี้นั้นง่ายมาก เพราะการเกิดขึ้นของหนี้ มีคนเพียงแค่หยิบมือเดียวที่เข้าใจกลไกการทำงานของมัน และสามารถฉกฉวยโอกาสเพื่อสร้างความมั่งคั่งด้วยอัตราเร่งได้ เพราะอย่างที่อธิบายไว้ด้านบนว่า เพื่อที่จะทำให้การก่อหนี้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น เราจำเป็นต้องมีความรู้ด้านการบริหาร โดยเฉพาะการบริหารเงิน คำถามสำคัญคือ แล้วคนในประเทศเรามีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ ??
.
ในทางกลับกัน บนความไม่รู้ของทักษะด้านการบริหาร หนี้จำนวนมากถูกก่อขึ้นเพื่อใช้ในการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อเพื่อซื้อสินค้าต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งอำนวยความสะดวก และสินค้าแบรนด์เนมอีกมากมาย ซึ่งการเป็นหนี้เพื่อซื้อสินค้าต่างๆ โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงผลิตผล แถมยังต้องมีค่าใช้จ่ายทางการเงินอีก สิ่งเหล่านี้ทำให้คนจำนวนมากมีความมั่งคั่งส่วนบุคคลที่ลดลง ที่สำคัญไปมากกว่านั้น ในระบบทุนนิยมที่สนับสนุนการก่อหนี้เพื่อสร้างการบริโภคล่วงหน้า แล้วค่อยจ่ายเงินทีหลัง มันเป็นการสร้างพฤติกรรมให้คนในสังคมมีการออมเงินที่น้อยลง เมื่อออมน้อยลง แต่มีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นบนอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ก็ทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมรักษาความมั่งคั่งได้อย่างยากลำบาก
.
ผิดกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ผลิตสินค้าออกมาให้คนบริโภค แถมยังมีการสนับสนุนการบริโภคล่วงหน้าด้วยหนี้บัตรเครดิต และบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้เอง ก็เข้าใจกลไกการทำงานของการก่อหนี้ จึงเท่ากับว่าบริษัทใหญ่เหล่านี้ สามารถดูดเงินจากผู้บริโภคได้ล่วงหน้าโดยไม่ต้องรอให้ผู้บริโภคต้องรับเงินเดือนก่อน อีกทั้งในด้านการลงทุนและการผลิต บริษัทเหล่านี้ยังสามารถใช้ประโยชน์จากการก่อหนี้ ขยายบริษัท เพิ่มผลผลิตด้วยเงินที่ทำการกู้ยืมมา เพราะเหตุนี้ ความมั่งคั่งของบริษัทจะขยายและเติบโตด้วยอัตราความเร่ง ในขณะที่ฟากที่ก่อหนี้มาเพื่อซื้อสินค้า กลับเป็นฝ่ายที่ความมั่งคั่งค่อยๆ ลดลงและหดหาย
.
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมคนรวยจึงยิ่งรวยขึ้น และคนจนยิ่งจนลง ในระบบทุนนิยมที่ใช้ ‘หนี้’ ในการผลักดันเศรษฐกิจ การพูดถึง ‘การกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม’ จึงเป็นอะไรที่ขัดกับระบบเศรษฐกิจและนโยบายรัฐที่ใช้ระบบทุนนิยมบริหารประเทศอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะบนกุศโลบายการผลักดัน GDP โดยการใช้หนี้ แบบที่ประเทศต้นแบบอย่างสหรัฐอเมริกาทำ ยิ่งเป็นการสร้างความล้มเหลวให้กับการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้นอย่างยากที่จะหันหลังกลับ
.
Mei
Cr.DinoTech5.0
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/