คำเตือนอันตรายจากศึกการค้าระหว่างพญาอินทรีกับพญามังกรกำลังดังขึ้นและน่ากังวลขึ้นทุกที เมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประกาศหั่นคาดการณ์จีดีพีโลกลงทั้งสำหรับปีนี้และปีหน้า
ล่าสุดนั้น ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เข้ามาขู่สำทับอีกรอบในรายการ "60 Minutes" ของช่องข่าว ซีบีเอสว่า อาจจะเก็บภาษีจีนเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งแม้ไม่ได้บอกวงเงินภาษีสินค้า แต่คาดว่าจะน่าหมายถึงกลุ่มสินค้า 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.7 ล้านล้านบาท) ที่ทรัมป์เคยขู่ไว้ก่อนหน้านี้ โดยในขณะนี้สหรัฐเก็บภาษีกับสินค้าจีนรวมแล้ว 2.5 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 8.1 ล้านล้านบาท)
แม้ถ้อยคำล่าสุดของทรัมป์ยังเป็นเพียงแค่คำขู่ในขณะนี้ แต่นั่นก็มากพอแล้วในการทำให้ทั่วโลกตื่นตระหนก เมื่อประกอบกับการลุยเก็บภาษีไปแล้วก่อนหน้านี้ ภารกิจการตั้งรับพายุศึก การค้าจึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยในช่วงที่ผ่านมา "จีน" คู่ปรับตัวฉกาจของสหรัฐ ยอมหย่อนเป้าหมายการลดภาระหนี้ในประเทศไปก่อน ด้วยการเลือกใช้มาตรการการเงิน เพิ่มการอัดฉีดสภาพคล่องสู่เศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นภาคเอกชน และพยายามรักษาระดับการขยายตัวให้ได้ 6.5% ในปีนี้
ขณะที่ชาติอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีสหรัฐและจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่นั้น ย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจเลี่ยงได้จากศึกของสองมหาอำนาจ โดย ไอเอ็มเอฟได้ปรับคาดการณ์จีดีพีของชาติเอเชียแปซิฟิกลง 0.2% ไปอยู่ที่ 5.4% ในปี 2019 พร้อมเตือนด้วยว่า ในกรณีที่มาตรการภาษีมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ (กรณีรัฐบาลทรัมป์เก็บภาษีกับสินค้าจีนทั้งหมด และจีนใช้มาตรการตอบโต้กลับ) จีดีพีของชาติเอเชียทั้งหมดจะหดตัวลง 0.9% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้
ด้วยเหตุนี้สำหรับบรรดาชาติเอเชียที่ส่วนใหญ่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น การเดินหน้าผนึกกำลังบังคับใช้ดีลข้อตกลงการค้าพหุภาคีให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ดูจะเป็นทางเลือกดีที่สุดในขณะนี้
การผลักดันให้ข้อตกลงการค้าพหุภาคีเกิดขึ้นนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะเปิดประตูสู่ตลาดขนาดใหญ่ของกลุ่มชาติสมาชิกข้อตกลง ด้วยการทลายกำแพงภาษี ขจัดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนอื่นๆ โดยการเปิดกว้างตลาดการค้าและการลงทุนจะช่วยหนุนจีดีพีของชาติเอเชียทั้งหมดเติบโตถึง 15% ในระยะยาว ตามข้อมูลล่าสุดของไอเอ็มเอฟ
เมื่อแยกประเทศแล้ว "อินเดีย" จะได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะการเปิดกว้างตลาดการค้าการลงทุนภายในเอเชีย คาดว่าจะกระตุ้นจีดีพีอินเดียได้ถึงเกือบ 15% ด้าน "มาเลเซีย" และ "อินโดนีเซีย" จีดีพีคาดว่าจะได้แรงหนุนอีกราว 10% ตามด้วย "ไทย" และ "เกาหลีใต้" ที่ได้อานิสงส์อีกประมาณ 7%
และดีลสำคัญที่ถือเป็นความหวังของเอเชียทั้งผอง และรวมถึงประเทศคู่ค้าอื่นๆ ด้วยนั้น คงหนีไม่พ้น "ความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี)" หรือข้อตกลงทีพีพีใหม่ ที่มีการเปลี่ยนชื่อหลังสหรัฐถอนตัวออกไป และ "ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป)"
สำหรับ "ซีพีทีพีพี" ที่มีสมาชิก 11 ชาตินั้น แม้หลายฝ่ายมองว่า ดีลนี้ ซึ่งปราศจากประเทศใหญ่อย่างสหรัฐและจีนดูไม่น่าดึงดูดใจนัก แต่สัดส่วนตลาดภายใต้ซีพีทีพีพีก็ไม่ได้ขี้เหร่ โดยคิดเป็น 13.5% ของจีดีพีโลก หรือ 10 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 326 ล้านล้านบาท)
ไม่เพียงเท่านั้น ในขณะนี้การผลักดันให้ซีพีทีพีพีมีผลบังคับใช้ดูจะใกล้ความจริงมากที่สุด เพราะมีชาติสมาชิกที่ให้สัตยาบันรับรองข้อตกลงไปแล้ว 3 ชาติ ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โดยล่าสุดนั้น เวียดนามเปิดเผยว่าจะให้สัตยาบันข้อตกลงดังกล่าวภายในสิ้นเดือน พ.ย.นี้ โดยซีพีทีพีพีจะมีผลบังคับในเวลา 60 วัน หลังมีชาติสมาชิกอย่างน้อย 6 ชาติให้สัตยาบันแล้ว หมายความว่าหากเวียดนามดำเนินการดังกล่าวแล้วจะเหลืออีกแค่เพียง 2 ชาติเท่านั้น
จากความคืบหน้าดังกล่าว ทำให้ โทชิมิตสึ โมเตงิ รัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ซีพีทีพีพีคาดว่าจะมีผลบังคับอย่างเร็วสุดต้นปี 2019 เนื่องจากชาติสมาชิก 6 ชาติ คาดว่าจะจัดการให้สัตยาบันเสร็จภายในเดือน พ.ย. โมเตงิ เสริมว่า ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์ จะดำเนินการดังกล่าวภายในสิ้นปีนี้
นอกจากจะใกล้มีผลบังคับจริงแล้ว ยังมีแนวโน้มที่ซีพีทีพีพีจะเปิดรับสมาชิกเข้าร่วมข้อตกลงเพิ่ม โดยญี่ปุ่นซึ่งเป็นแกนนำผลักดันข้อตกลงดังกล่าว ระบุว่า อีก 6 ชาติ ได้แก่ ไทย อังกฤษ โคลอมเบีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน สนใจเข้าร่วมซีพีทีพีพีด้วยเช่นกัน หมายความว่าหากเปิดรับสมาชิกเพิ่ม ตลาดการค้าภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวก็จะขยายตัวเพิ่มตามไปด้วย
อีกดีลสำคัญที่ต้องจับตาดูและลุ้นกันต่อไปคือ "อาร์เซ็ป" ซึ่งจะกรุยทางสู่การสร้างตลาดการค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมขนาดเศรษฐกิจ 16 ชาติ มูลค่า 49.5 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 1,615 ล้านล้านบาท) คิดเป็นเกือบ 40% ของจีดีพีโลก
แม้อาร์เซ็ปเจรจากันมาเกือบ 6 ปีกว่าแล้ว นับตั้งแต่ปี 2012 แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมเสียที
ทั้งนี้ อาร์เซ็ปครอบคลุม 18 ประเด็นหลัก ทั้งการขจัดกำแพงภาษีสินค้าและบริการ ลดอุปสรรคการลงทุน เพิ่มความร่วมมือเชิงกลยุทธ์และการแข่งขัน รวมถึงเพิ่มการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา โดยในการเจรจาเมื่อเดือน ส.ค. ชาติอาร์เซ็ปตั้งเป้าสรุปข้อตกลง 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ด้านสินค้า บริการ การลงทุน และทรัพย์สินทางปัญญา ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ดี จีนและญี่ปุ่นยังไม่เห็นพ้องเรื่องการลดภาษีและการลงทุน ขณะที่อินเดียมีปัญหาเรื่องการเปิดกว้างภาคบริการ
จากความชะงักงันนี้ จึงต้องรอจับตาดูว่า ในการประชุมอาร์เซ็ปรอบใหม่วันที่ 17-24 ต.ค.นี้ จะมีความก้าวหน้าจริงๆ จังๆ เสียทีหรือไม่ ท่ามกลางแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ จากความวิตกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ท่ามกลางการห้ำหั่นอันรุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐและจีน การหันผนึกกำลังใช้กลยุทธ์ "รวมกัน เราอยู่" จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ก่อนที่แรงปะทะจากการสู้รบของสองชาติมหาอำนาจจะเขย่าทั่วปฐพีในอีกไม่ช้านี้
โดย นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์
Source: Posttoday
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/