ผลวิจัยระบุหากไม่เกิดสงครามตั้งแต่ปี 1970 โลกจะรวยขึ้นกว่า 12% เอเชียจะร่ำรวยกว่านี้มาก .. ส่วนประเทศที่สนับสนุนแต่ไม่ใช่พื้นที่ต่อสู้กลับร่ำรวยขึ้นและได้ประโยชน์จากสงคราม หลายคนไม่เข้าใจว่าโตๆ กันป่านนี้ ประกาศกันปาวๆ ว่าโลกพัฒนาขึ้นเยอะแยะ ผนวกกับเอไอ
รณรงค์สิทธิความหลากหลายและเท่าเทียม แต่กลับยิงถล่มแถมทำสงครามกันได้ อย่างกับว่าโลกจะพลิกตาลปัตรกลับไปช่วงเวลาในอดีต จนบางคนเกรงกลัวถึงขั้นว่าจะถึงสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่!
ผลวิจัยชี้ชัด ประเทศพัฒนาแล้ว (บางประเทศ) รับทรัพย์ .. เอเชียสูญเสียมากที่สุด
International Security and Development center เคยได้ออกผลงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามกับเศรษฐกิจ และพบว่า สงครามส่วนใหญ่จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกลงลงไปเฉลี่ยอยู่ที่ 12% (ในปี 2014) แต่สำหรับบางประเทศพวกเขาได้ประโยชน์จากความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า
ประเทศกำลังพัฒนานั้นได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากความขัดแย้งที่รุนแรง ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์จากการมีส่วนร่วมภายนอก
ประเทศที่ต่อสู้กับสงครามที่อยู่ห่างไกลจากประเทศของพวกเขาจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายทางทหาร ในขณะเดียวกันกลับไปสร้างความเสียหายให้กับดินแดนในต่างประเทศ
โดยระบุว่า ในปี 1970 - 2014 นั้น หากไม่มีสงคราม ทวีปเอเชียจะได้รับประโยชน์สูงสุด จากการไม่มีความขัดแย้งที่รุนแรง ในขณะที่ทวีปอเมริกาเหนือจะต้องสูญเสียเงิน 0.9 ล้านล้านดอลลาห์สหรัฐหากไม่มีสงคราม ในขณะที่ประเทศอย่างอิรักหรืออัฟกานิสถานอาจจะสามารถมี GDP เติบโตได้เป็นสองเท่าหากไม่มีความขัดแย้งที่รุนแรง
สงครามสร้างชาติ สงครามสร้างธุรกิจ?
นับตั้งแต่ยุคของชาวอัสซีเรีย หรืออาณาจักรในแถบจีบก็มักจะสร้างตัวจากการปราบปรามครั้งใหญ่อย่างรุนแรง การขยายแผ่นดินของเจงกีสข่าน ก็ทำให้เขามีอำนาจ และอำนาจนั้นก็มาพร้อมเงินทอง บริเตนสามารถสร้างอาณาจักรที่ใหญ่และรุ่งเรืองจากการไปล่าอาณานิคมต่างๆ ทั่วโลก ส่วนสหรัฐเองหากก็เคยใช้วิธีการเข้าไปรุกรานเม็กซิโกและมีชัยเหนือรัฐต่างๆ ที่ก่อให้เกิดสนธิสัญญาสันติภาพที่เพิ่มเนื้อที่ให้สหรัฐได้กว่า 2.3 ล้านตารางกิโลเมตร
แม้จะไม่ต้องพูดถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน แต่การขยายดินแดนดังกล่าวย่อมนำมาซึ่งความมั่งคั่งมหาศาล
อย่างไรก็ตาม ในยุคต่อมา การแข่งขันกันไม่ใช่แต่เฉพาะในเชิงการขยายดินแดนออกไป ความร่ำรวยไม่ได้มาในรูปแบบของสิ่งที่จับต้องได้ อย่างเช่น ดินแดน น้ำมัน เหมือนทอง เท่านั้น พวกเขาไม่เข้าไปใช้กำลังในการพัฒนาดินแดนเหล่านั้นโดยตรง เพราะใช้ทรัพยากรมหาศาล แต่เป็นการเข้าไปมีอำนาจในเชิงการเมือง และดึงประโยชน์ออกมา โดยไม่ต้องรับรู้ถึงผลที่เกิดจากสงครามของประเทศที่ตนเข้าไปก่อสงครามด้วย
เฉกเช่นในอดีต จักรวรรดิญี่ปุ่นที่เมื่อสามารถเอาชนะเหนือจีนและรัสเซียได้ก็เรืองอำนาจอยูช่วงหนึ่ง เยอรมนีกลายเป็นผู้นำในยุคโรปหลังจากชนะจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามในช่วงศตวรรษให้หลัง สงครามมุ่งผลทางเศรษฐกิจมากขึ้น ถึงขั้นมีการพูดว่า 'สงครามคือการทำธุรกิจอย่างหนึ่ง'
ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือสงครามที่เกิดขึ้นแถบตะวันออกกลาง
เริ่มจากสงครามอิรัก ซึ่งแน่นอนว่ามีการกล่าวถึงการได้รับผลประโยชน์ของบริษัทบริการน้ำมันรายหนึ่งของสหรัฐ ที่มีมูลค่ากว่า 39.5 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่ช่วงสงครามอัฟกานิสถาน หุ้นภาคกลาโหมของสหรัฐทำได้ดีกว่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นถึงร้อยละ 58%
ล่าสุดหลังโลกต้องพบกับโควิด 19 ที่เอาเศรษฐกิจโลกผันผวนปั่นป่วน จนคนคงไม่คาดคิดว่าใครจะกล้าทำสงครามในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ แต่ไม่ใช่ในสงครามยูเครน เพราะมีการรายงานในสื่อต่างประเทศพบว่ามีบริษัทน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ได้รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อรัสเซียลดราคาน้ำมัน อินเดีย หรือซาอุที่นำเข้าน้ำมันราคาถูกก็คงได้กำไรมหาศาล รวมไปถึงรัสเซียก็ได้มีการจัดหาก๊าซส่งสหภาพยุโรปซึ่งทำรายได้ 900 ล้านดอลลาร์ต่อวันในช่วงสองเดือนแรก ได้ให้รัสเซียมีรายได้กว่า 66.5 พันล้านดอลลาร์จากการส่งออกเชื้อเพลิงเหล่านี้!
ล่าสุดได้มีการเปิดเผยจากเว็ปไซต์สื่ออิสระอย่าง Proekt เมื่อวันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พบว่าอย่างน้อย 81 รายชื่อของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุด 200 คนของรัสเซีย (ตามการจัดอันดับของ Forbes ในปี 2021 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรุกรานยูเครนของรัสเซียเพื่อที่จะได้รับผลประโยชน์ โดยเฉพาะบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวของกับผู้นำของชาติ
สอดคล้องกับผลวิจัยด้านบนที่ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะได้ประโยชน์จากสงคราม
สงครามอิสราเอล สาเหตุจากอะไร ใครได้ประโยชน์?
ในหนังสือ 21 Lesson for the 21st Century เขียนไว้ว่าประเทศต่างๆ นั้นหลีกเลี่ยงการทำสงครามในช่วงศตวรรษที่ 21 และมุ่งเน้นความรุ่งเรืองก้าวหน้าไปกับภาคเศรษฐกิจมากกว่า เพราะสงครามไม่ทำกำไรในคริสต์ศตวรรษที่ 21 อีกต่อไป
สงครามยูเครน-รัสเซีย อาจไม่เห็นด้วยกับประโยชน์ดังกล่าวเท่าไหร่นัก แต่ไม่ใช่กับอิสราเอล
ช่วงศตวรรษที่ 21 ประเทศในตะวันออกกลางมีการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางทหารโดยตรงในทุกทาง ส่วนอิสราเอลนั้นต่อให้ผ่านสงคราม ได้ครอบครองดินแดนอย่างใจฝัน แต่ว่าพวกเขากลับต้องแบกรับภาระทางเศรษฐกิจอยู่ค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ในปี 2018 มีการคาดการณ์ว่าหากกองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอลอยากที่จะเข้ายึดกาซาและคว่ำระบอบฮามาสก็คงจะทำได้ง่าย แต่อิสราเอลกลับหลีกเลี่ยงและปฏิเสธ เราไม่เห็นการเข้าไปทำสงครามเอาดินแดนฉนวนกาซาแบบเบ็ดเสร็จ ส่วนหนึ่งเพราะรู้ว่าจะได้ประโยชน์น้อยเหลือเกินจากการชนะสงคราม
แล้วทำไมครั้งนี้อิสราเอลถึงไม่ถอย?
ก่อนจะไปถึงคำถามนั้น ควรถามว่าทำไมฮามาสถึงสู้?
ตั้งแต่การเกิดสงครามเป็นต้นมา มีการเสนอถึงชนวนความขัดแย้งของกลุ่มฮามาสและอิสราเอล ซึ่งลากยาวไปหลายสิบปี ระหว่างทางนั้น หากเราดูก็จะพบว่า มีการโจมตีกันประปรายแต่ไม่ถึงขั้นรุนแรงถล่มทลายเช่นวันที่ 7 ตุลาคมนี้ การทำสงครามของฮามาสหวังจะชนะอิสราเอลจริงหรือ? ในเมื่อก็รู้ว่าอิสราเอลนั้นมีพลังทางการทหารเพียงใด
และเมื่อพิจารณาชาติอาหรับอื่นๆ ที่อาจจะเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มฮามาส เราจะพบว่าแต่ละประเทศก็ต้องเผชิญกับภาวะท้าทายทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในของประเทศตัวเองอยู่ อย่างเช่นจอร์แดนก็มีกองกำลังทหารที่จำกัด ซีเรียยังคงติดอยู่กับสงครามกลางเมืองของตนเอง และอิรักก็ยังไม่มั่นคง ส่วนอิหร่านที่มีอำนาจมากที่สุด และมีความเป็นไปได้หากอยากจะสนับสนุนกลุ่มฮามาสแต่ก็ทำได้เพียงการโจมตีด้วยขีปนาวุธพิสัยไกล และอาจถูกตอบโต้กลับจากอิสราเอลที่มีเทคโนโลยีทางการทหารสูงกว่ามาก ซึ่งหากอิหร่านเคลื่อนไหว ก็จะเท่ากับว่ากลุ่มรัฐอาหรับจะพุ่งเป้าไปยังอิหร่านเสียมากกว่า
นี่จึงเป็นคำถามสำคัญ ที่ติดอยู่ในใจตลอดการเกิดสงครามว่า ทำไมฮามาสถึงเลือกที่จะสู้? ในเมื่อรูปการณ์ก็รู้ว่าอาจจะแพ้
ในฉนวนกาซาเปรียบเหมือนคุกโล่งแจ้ง มีประชากรหนาแน่นกว่า 2.3 ล้านคน แต่มีพื้นที่เล็กกว่าจังหวัดสมุทรสงครามบ้านเราเล็กน้อย ซึ่งประชากรในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครมีเพียงประมาณ 190,000 คน ต่างกัน 10 เท่า การสาธารณสุขจำกัด เด็กโตมากับความรุนแรง พวกเขามีที่พึ่งจิตใจเพียงสิ่งเดียวคือศาสนา หลายคนจึงคาดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มัสยิดอัล-อักซอในกรุงเยรูซาเลมเป็นชนวนเหตุหนึ่งที่สำคัญ รวมไปถึงการขยายตัวด้านการตั้งถิ่นฐานของอิสราเอลที่เขยิบเข้ามาทุกที และการปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ที่สั่งสมเป็นเวลานาน
สิ่งหนึ่งที่ฮามาสทำได้ดีในสงครามนี้คือ 'บอกให้ชาวโลกได้รู้ถึงสิ่งที่พวกเขาเจอมาตลอดหลายสิบปี' เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพของชาวปาเลสไตน์ในความรู้สึกของชาวโลกก่อนหน้านี้ถูกบิดเบือนจากสิ่งที่พวกเขาต้องการนำเสนอ ส่วนใหญ่จะมีก็แต่ภาพของการเป็นผู้ก่อการร้าย แต่สงครามครั้งนี้ทำให้โลกโซเชียลขุดคุ้ยประเด็นขึ้นมาและถกกัน จนเกิดการเดินขบวนสนับสนุนกลุ่มฮามาสในบางประเทศด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ยังทำให้ระบบการเมืองของรัฐบาลอิสราเอล ซึ่งตอนนี้ประชาชนอิสราเอลก็เกิดการตั้งคำถามกับรัฐบาลถึงความล้มเหลวของหน่วยข่าวกรองที่ได้ขึ้นชื่อว่าเก่งและยอดเยี่ยมที่สุดในโลก กลับผิดพลาดกับการโจมตีครั้งใหญ่แบบนี้ได้อย่างไร และพลาดโอกาสที่จะป้องกันการโจมตีที่ควรจะทำได้จนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝั่งเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงความปลอดภัยภายใต้การปกครองของรัฐบาลชุดนี้จะยังคงเป็นไปได้อีกหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การโจมตีของฮามาส มาจากผลประโยชน์เพียงเท่านี้จริง?
จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีใครตอบได้ว่าทำไมอิสราเอลกับฮามาสต้องรบกันตอนนี้ และใครกันคือผู้ที่จะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง?
ชนวนของสงครามและความเป็นจริงจะปรากฎแจ่มชัด เมื่อสงครามจบแล้วและใครร่ำรวยขึ้นผิดวิสัยหรือได้ประโยชน์หลังจากนั้นนั่นแล.
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you