นักเศรษฐศาสตร์ คาดเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังโตต่อเนื่องจาก ด้าน ธปท. ชี้แรงส่งเศรษฐกิจไทยมีต่อเนื่อง ท่องเที่ยว-ลงทุนรัฐจะเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 “อีไอซี” คาดเศรษฐกิจครึ่งปีหลังโต 3.5% แต่ยัง “เปราะบาง” คนระดับล่างรายได้ไม่พอ หนี้ครัวเรือนฉุดบริโภค
การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทย และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วงที่ผ่านมา หลายเครื่องชี้สะท้อนให้เห็นว่า ธปท.ยังมองภาพเศรษฐกิจไทยมุมบวก โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องสู่ระดับ 2.60% และ 3.0% ในปีนี้ และปีหน้า
แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยปีนี้ กนง.มองว่า ยังมีแรงส่งจาก ท่องเที่ยว ส่งออก และเบิกจ่ายภาครัฐ ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ไตรมาส 2 เติบโตในอัตราเร่งตัวขึ้น
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า หากดูภาพเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ประเมินว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 1 จะขยายตัวราว 1% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ระดับดังกล่าวจะเหมือนเป็น “ระดับต่ำ” แต่หากดูอัตราเร่งของเศรษฐกิจไทยไตรมาสต่อไตรมาส ถือว่าขยายตัวในอัตราที่สูง
ยิ่งหากมองระยะข้างหน้า จะเห็นอัตราเร่งเศรษฐกิจไทยที่จะบวกเพิ่มขึ้นทุก 1% ในแต่ละไตรมาส ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยแรงฉุดจากเชิงวัฏจักรระยะสั้นจะค่อยๆ ทยอยหมดไปในปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงกว่าปีก่อนได้ และระดับที่ 2.6% ถือเป็นระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ใกล้เคียงกับระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย
แรงหนุนสำคัญของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ เป็นแรงสนับสนุนต่อเศรษฐกิจไทยช่วง 3ไตรมาสที่เหลือของปีนี้
“ตัวเลขเศรษฐกิจไทย ที่ระดับ 2.6% และ 3% ปีหน้า ถือเป็นตัวเลขที่สมดุล และยังมีอัปไซด์ โดยเฉพาะด้านอุปสงค์ ที่อาจขยายตัวกว่าคาด ทั้งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่อาจดีกว่าคาด และมีดิจิทัลวอลเล็ตเข้ามาเสริมช่วงปลายปีส่วนท่องเที่ยวมีอัปไซด์ ด้านการใช้จ่ายต่อหัวที่อาจดีกว่าคาด"
ส่วนปัจจัยลบต้องติดตามการเบิกจ่ายงบภาครัฐลงสู่ระบบเศรษฐกิจที่อาจทำไม่ได้เต็มที่ และส่งออกว่าเป็นไปตามที่ประเมินหรือไม่ ส่วนปัจจัยด้านลบเป็นไปได้ว่า ความสามารถในการเอาเม็ดเงินไปสู่ระบบเศรษฐกิจจากการเบิกจ่ายภาครัฐ อาจทำไม่ได้เต็มที่ ดังนั้นเป็นความเสี่ยงด้านลบ และภาคส่วนออก มีหลายปัจจัยที่ต้องดูว่าจะฟื้นตัวตามที่คาดหรือไม่
EIC ชี้ศก.ไทยโตบนความเปราะบาง
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า คาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวต่อเนื่อง หลักๆ มาจากท่องเที่ยว การเบิกจ่ายภาครัฐ และส่งออกที่จะฟื้นตัวเป็นลำดับ
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทย จะเติบโตได้ดี แต่ด้านคุณภาพการเติบโต ถือว่า เปราะบาง เพราะคนระดับล่างยังเติบโตด้านรายได้ช้า ทั้งเผชิญปัญหาหนี้เพิ่มสูงขึ้น จากรายได้ไม่เพียงพอ
โดยคาดเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 เติบโตขึ้นมาอยู่ที่ 2.3% เศรษฐกิจไตรมาส 3 เติบโต 2.7% และ 4.2% ในไตรมาส 4 ปีนี้ ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังขยายตัวอยู่ที่ 3.5% จากครึ่งปีแรกที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2% ส่งผลให้ทั้งปี เศรษฐกิจไทยเติบโตภายใต้ประมาณการที่ 2.7%
อย่างไรก็ตาม แม้ดิจิทัลวอลเล็ตมีความชัดเจนขึ้น แต่ไม่ได้ใส่อยู่ในประมาณการเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่า หากกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มาก อาจมีผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยที่ระดับ 1-2% เนื่องจากผลบวกส่วนใหญ่อยู่ในปีหน้าเป็นหลัก
“แม้ยังมองว่าเศรษฐกิจไทย ครึ่งปีหลังยังเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่การเติบโตยังมีปัญหาด้านคุณภาพ โตแบบเปราะบาง เพราะคนระดับล่างมีปัญหารายได้มากขึ้น และมองว่าหลังจากนี้ เศรษฐกิจไทยจะเสี่ยงมากขึ้นต่อเนื่องไปถึงปีหน้า จากการเลือกตั้งหลายประเทศ กว่า 60 ประเทศ ที่จะมีขึ้น หรือคิดเป็นราว 60% ของจีดีพีโลกในปีนี้ จะมีผลค่อนข้างมากกับเศรษฐกิจไทยและประเทศต่างๆได้”
เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังต้องโตเกิน 2.6%
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ประเมินว่า น่าจะเติบโตดีขึ้น หากเทียบครึ่งปีแรก จากภาคท่องเที่ยว ที่จะเป็นแรงหนุนสำคัญกว่าช่วงครึ่งปีแรก ดังนั้น ตามประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่คาดขยายตัว 2.6% ครึ่งปีหลังต้องเห็นเศรษฐกิจไทยขยายตัวในครึ่งปีหลังเกินระดับ 2.6% หากครึ่งปีแรกขยายตัวไม่ถึง 2% ตัวเลขเศรษฐกิจไทยถึงจะเติบโตตามประมาณการได้
อย่างไรก็ตามมองว่า การเติบโตระดับ 2% กลางๆ ถือว่า เป็นระดับการเติบโตที่ “ดีกลางๆ” ไม่ได้ถือว่าเป็นระดับที่ดีมาก หากเทียบกับอดีตที่ผ่านมา และเศรษฐกิจไทยวันนี้ แม้จะมีการเบิกจ่ายภาครัฐ การลงทุนภาครัฐเข้ามาในช่วงไตรมาส 2 ที่จะเป็นแรงหนุนต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่ม แต่เครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจไทย ยังอยู่ที่การท่องเที่ยว และการส่งออกเป็นหลัก
“การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ครึ่งปีหลังที่เรามองว่าควรโตได้เกิน 2.6% ถึงได้ตามประมาณการทั้งปีที่เรามองไว้ ระดับนี้มองว่าเป็นระดับดีมากยาก เพราะแม้มีปัจจัยบวกจากลงทุนภาครัฐ แต่เราไม่ได้มองเป็นตัวหลักสำหรับเศรษฐกิจไทย ดังนั้นเศรษฐกิจไทยวันนี้เรามองดีกลางๆ ยังมองว่าเป็นระดับที่ดีมากได้ยาก”
อย่างไรก็ตาม หากดูความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง มองว่าน้ำหนักอยู่ท่องเที่ยวเป็นหลัก ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเดียวของเศรษฐกิจไทย เพราะแรงหนุนจากส่งออก ยังคงมีความเสี่ยง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีปัญหา ขณะที่ การบริโภคในประเทศถือว่ามีความเสี่ยงที่ชะลอลง เพราะหากดูการใช้จ่าย โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ถือว่าติดลบค่อนข้างมาก อีกหลายตัวยังไม่สามารถกลับมาได้จากปัญหาหนี้ระดับสูง
ดังนั้นภายใต้เศรษฐกิจปัจจุบัน ประเมินว่า หากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้มีการเปลี่ยนมุมมอง หรือเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ และกนง.ไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ในช่วงมิ.ย. อาจไม่เห็นกนง.ลดดอกเบี้ยเลยทั้งปีนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้
เพราะระดับเศรษฐกิจไทยที่เติบโตระดับ 2%กลางๆ ก็ถือว่าไม่ได้เป็นระดับที่แย่ อีกทั้งกนง.อาจมองว่าระดับดังกล่าวมีความเหมาะสม หรือเทียบกับระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง
จีนส่งออกรถชะงักกระทบส่งออกทั่วโลก
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทย ปัจจุบันยังคลุมเครือ แต่สิ่งที่ดี คือ งบภาครัฐ ที่น่าเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากหลังจากนี้ แม้การเบิกจ่ายภาครัฐจะน้อยลงกว่าปีก่อน
ทั้งนี้ ในด้านแรงส่ง จากภาคท่องเที่ยว และส่งออก อาจทำได้ดีกว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะท่องเที่ยวที่ประเมินไว้ 36 ล้านคนปีนี้ อาจเข้ามาท่องเที่ยวได้มากกว่าคาด
โดยรวมการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง น่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก แต่ยังมีความเสี่ยง จากการเลือกตั้งสหรัฐ และหลายประเทศ ที่จะทำให้ทั่วโลกเผชิญความผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการกีดกันทางการค้า ที่จะรุนแรงขึ้น หากยุโรปมีการกีดกันการค้า ห้ามจีนส่งออกรถยนต์ ส่งออกอาจชะงักทั่วโลก ประเทศไทยก็อาจถูกผลกระทบเช่นเดียวกัน
“ภาพรวมเศรษฐกิจไทย วันนี้ดูดีขึ้นแม้หลายประเด็นยังคลุมเครือ โดยเฉพาะการส่งออกที่มองว่าปีนี้น่าจะเติบโตได้ระดับ 2% จากดีมานด์โลกเริ่มฟื้น สต๊อกของน่าจะเข้ามามากขึ้น แต่ส่งออกไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากการส่งออกไปจีน ที่อาจถูกกระทบได้ เพราะจีนอาจถูกกีดกันทางการค้ารุนแรงขึ้น แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยวันนี้ ภาพในประเทศแย่กว่าข้างนอก จากแรงฉุดรั้งด้านการบริโภคในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่ได้เต็มที่จากปัญหาหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น”
'อิหร่าน-อิสราเอล'กระทบตลาดเงิน
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และอิหร่านที่เริ่มขัดแย้งมากขึ้น แต่ระยะสั้นมองว่าสถานการณ์ไม่น่าจะพัฒนาไปในทิศทางที่รุนแรง หรือเป็นสงครามที่ยืดเยื้อ เนื่องจากภายใต้เศรษฐกิจปัจจุบันที่หลายประเทศยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ทำให้เลือกประคองสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจถูกกระทบจากปัจจัยเสี่ยงมากนัก
แต่หากสถานการณ์มีความรุนแรง มีโอกาสยืดเยื้อไม่ได้อยู่ในระยะเวลาสั้นๆ ประเมินว่า ผลกระทบที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจ และการลงทุนจะมีมากกว่าคาด เนื่องจากอิหร่านถือเป็นผลิตน้ำมันอันดับ 2 หรือ 3 ของโอเปก ดังนั้นหากผลกระทบเหล่านี้รุนแรง อิหร่านอาจลดกำลังการผลิต หรือปิดการส่งออกน้ำมัน สถานการณ์เหล่านี้อาจหนุนให้ ราคาน้ำมันในระยะข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นได้
เช่นเดียวกัน หากความเสี่ยงรุนแรงมากขึ้น นักลงทุนอาจชะลอการลงทุน เทขายสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อกลับไปถือดอลลาร์ ที่ถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น เหล่านี้อาจกดดันให้ประเทศไทย และประเทศอื่นถูกเทขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมาได้ โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่อาจถูกแรงเทขายต่อเนื่อง ซึ่งอาจกดดันเงินบาทให้อยู่ในสถานการณ์อ่อนค่ามากขึ้น
โดยคาดว่า หากความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรง อาจกระทบต่อเงินบาทให้มีโอกาสอ่อนค่าไปสู่ระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ หรือเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 1 ปี ได้ เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก รวมถึงไทยนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you