ภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นผ่านความไม่ลงรอยกันทางความคิดระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล ที่ต่างออกมากดดันให้ธนาคารกลางดำเนินนโยบายสอดคล้องกับฝั่งการคลัง
กรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทยเท่านั้น ผู้บริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ ไอเอ็มเอฟ ก็เคยออกมาส่งสัญญาณเตือนไปยังทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางให้รักษาความเป็นอิสระ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา คริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการผู้จัดการ ไอเอ็มเอฟ เขียนบทความ บนเว็บไซต์ของไอเอ็มเอฟ ว่า “ทุกวันนี้ ผู้บริหารธนาคารกลางในหลายประเทศต่างก็เผชิญหน้ากับความท้าทายต่อความเป็นอิสระของพวกเขา… ทั้งเรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ย[นโยบาย] แม้จะว่ายังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสมก็ตาม”
เธอย้ำในบทความดังกล่าวว่า ทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางต้องยืนหยัดอยู่บนความเป็นอิสระ มาร่วมดูกรณีตัวอย่างเมื่อธนาคารกลางถูกอิทธิพลของการเมืองเข้าควบคุม
บีบีซีไทยประมวลข้อมูลที่ปรากฏในที่สาธารณะที่ระบุถึง "ตุรกี" ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนถึงการแทรกแซงทางการเมืองต่อการดำเนินการของธนาคารกลาง
เงินเฟ้อรุนแรง-กดดันลดดอกเบี้ย-ปลดผู้ว่าฯ
นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2021 จนถึง มี.ค. 2023 และอีกช่วงคือ ส.ค. 2023 มาจนถึงปัจจุบัน ตุรกีตกอยู่ในภาวะเงินเฟ้อรุนแรง (hyperinflation) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อต่อเดือนสูงเกิน 50% เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นอย่างสาหัสเช่นนี้ยังส่งผลให้ค่าเงินลีราของตุรกีอ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
ซานดรา อาร์มาดี นักศึกษาปริญญาเอก และ อาซีม พรากาช ศาสตรจารย์ด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวอร์ชิงตัน สหรัฐอเมริกา วิเคราะห์ไว้บนเว็บไซต์ Foreign Policy เมื่อ ม.ค. 2022 โดยชี้ว่า ตั้งแต่ช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างฝั่งนโยบายการเงินและการคลังครั้งสำคัญทั่วโลก ทำให้รัฐบาลตุรกี นำโดยประธานาธิบดี เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ชายผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศมาแล้วกว่า 20 ปี ใช้ประโยชน์ตรงนี้ในการกดดันให้ธนาคารกลางของประเทศให้ดำเนินนโยบายการเงินตามที่เขาต้องการ
ทั้งสองคนชี้ว่า ในช่วงปี 2021 นั้น อัตราเงินเฟ้อทั้งปีของตุรกีอยู่ที่ 36% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 19 ปี ณ เวลานั้น ตามปกติแล้ว จะต้องใช้กลไกของธนาคารกลางในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อมาหยุดความร้อนแรงนี้ของเศรษฐกิจ แต่ประธานาธิบดีแอร์โดอันกลับกดดันให้ธนาคารลดดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 4 ครั้งติดต่อกัน ในช่วงระหว่างเดือน ก.ย. ถึง ธ.ค. ของปี 2021 (ครั้งที่ 1, 2, 3 และ 4)
ทั้งสองคนมองว่า สาเหตุที่เขาทำเช่นนี้ก็เพราะต้องการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะสั้นเอาไว้ แม้ว่าจะต้องแลกมากับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
สำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ ระบุว่า ประธานาธิบดีแอร์โดอัน “ผู้ใช้อิทธิพลเหนือธนาคารกลาง มักชอบที่จะเสี่ยงเอาหายนะทางการเงินมาแลกกับการคงสภาวะสินเชื่อที่ขอได้ง่าย” เมื่อ ก.ย. 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ มายา เซนุสสิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จาก Oxford Economics ชี้ว่าที่เขาต้องการทำเช่นนี้ เป็นเพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อการเลือกตั้งในปี 2023
นอกจากนี้ แม้จะมีกฎหมายของธนาคารกลางตุรกีที่ระบุว่าผู้ว่าการธนาคารกลางสามารถถูกถอดถอนได้ หากทำผิดกฎ หรือขาดความสามารถในการบริหารงาน ทว่าตั้งแต่ช่วงหลาง 2019 เป็นต้นมา ประธานาธิบดีแอร์โดอัน ปลดผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งตุรกีไปแล้ว 4 คน
ในครั้งที่ 3 ของการปลดผู้ว่าการธนาคารกลาง รอยเตอร์รายงานว่า การปลดออกจากตำแหน่งเกิดขึ้นเพียง 2 วัน หลังจากที่ธนาคารกลางของตุรกีตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งขัดกับสิ่งที่ประธานาธิบดีแอร์โดอันต้องการ
ธนาคารกลางเป็นอิสระ คุมเงินเฟ้อได้อย่างไร?
งานวิจัยจำนวนมากไล่มาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 จนถึงงานวิจัยชิ้นล่าสุดของไอเอ็มเอฟที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ย. 2023 สะท้อนว่า ยิ่งธนาคารกลางมีคะแนนความเป็นอิสระมาก ธนาคารกลางแห่งนั้นยิ่งมีความสามารถในการรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อตามกรอบเป้าหมาย หรือทำให้อยู่ในระดับต่ำไม่สูงเกินไป
ประเทศฝั่งตะวันตกจำนวนมากกำหนดกรอบเงินเฟ้อไว้ที่ 2% โดยพวกเขามองตรงกันว่า นี่เป็นตัวเลขที่ส่งเสริมให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังรักษาเสถียรภาพของราคาเอาไว้ได้ สำหรับกรอบเงินเฟ้อของประเทศไทยสำหรับระยะปานกลาง และสำหรับปี 2567 อยู่ที่ 1%-3%
อัตราเงินเฟ้อเป็นตัวเลขที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน แต่ระดับความรุนแรงแตกต่างกันออกไป บีบีซีไทยเคยเขียนรายงานอธิบายก่อนหน้านี้ว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อยมากที่สุด เนื่องจากรายจ่ายมากกว่าครึ่งหนึ่งของพวกเขามักตกไปอยู่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อราคาสินค้าแพงขึ้น กลุ่มสินค้าเหล่านี้ก็จะสร้างผลกระทบโดยตรงให้กับประชาชน
มาฮามา ซาเมียร์ บันเดาโก นักเศรษศาสตร์อาวุโส แห่งธนาคารโลก เขียนเพิ่มไว้ในเอกสารเสนอแนะด้านนโยบาย เมื่อ 30 พ.ย. 2021 ว่าในประเทศที่ความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางเสื่อมถอยลง อาทิ อาร์เจนตินา ตุรกี เวเนซุเอลา และซิมบับเว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น
เคนเนธ โรกอฟฟ์ ศาสตราจารย์จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และอดีตประธานนักเศรษฐศาสตร์แห่งไอเอ็มเอฟ เผยแพร่บทความของเขาเอาไว้ผ่าน “Group of Thirty” กลุ่มอิสระที่รวบรวมผู้นำด้านการเงินและเศรษฐกิจของโลก เมื่อปี 2019 โดยระบุว่า “หากความเป็นอิสระของธนาคารกลางถูกลบล้างและนโยบายการเงินตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็รอแค่เวลาเท่านั้นที่อัตราเงินเฟ้อสูงจะมาเยือน”
สำหรับตุรกี ประธานาธิบดีแอร์โดอัน เพิ่งชนะการเลือกตั้งไปเมื่อกลางปีที่แล้ว และจะดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดต่ออีก 5 ปี ขณะที่ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางของตุรกีอยู่ในมือของ ดร.ฟาทิห์ คาราฮาน ซึ่งเพิ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา
ตัวเลขอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดของตุรกีพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 50% แล้ว เพื่อพยายามต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงเกิน 60% ต่อเดือน มากว่า 8 เดือนแล้ว
Source:
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you